กิจกรรมที่ผ่านมา
ผู้บกพร่องทางการเห็น
แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว ปีที่ 2
6-8 มีนาคม 2568
NARIT ร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส และกลุ่มธุรกิจ TCP ขยายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ผู้บกพร่องทางการเห็น จัดโครงการ “แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว” ปีที่ 2 นำคณะนักเรียน และครูจากโรงเรียนธรรมิกวิทยา อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี เดินทางมาเรียนรู้ดาราศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ และสัมผัสประสบการณ์จริงในการสังเกตวัตถุท้องฟ้า บนยอดดอยอินทนนท์ พื้นที่ที่มีฟ้าดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2568

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า กิจกรรม “แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว” นี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากการสนับสนุนของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ส และกลุ่มธุรกิจ TCP ที่เล็งเห็นความสำคัญของการขยายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับบุคคลผู้มีความบกพร่องทางกาย สุขภาพ หรือบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอื่น ๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมบุคคลทั่วไป สอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินงานของ NARIT ที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ สำหรับดาราศาสตร์นั้น เป็นศาสตร์ที่ใช้จินตนาการเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติ นักดาราศาสตร์เองก็ศึกษาเอกภพโดยที่ไม่ได้ออกไปจากโลก ดังนั้นความบกพร่องทางการเห็นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ซึ่ง NARIT ได้ออกแบบและพัฒนากิจกรรมสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษอย่างต่อเนื่อง

นางกรกนก ศิริวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนธรรมิกวิทยา อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี กล่าวว่า ขอขอบคุณสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บางกอกแอร์เวย์ และกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มอบโอกาสให้กับเด็ก ๆ ตาบอด ได้มาเรียนรู้ดาราศาสตร์ เรียนรู้การใช้ชีวิตนอกห้องเรียน รู้สึกประทับใจตั้งแต่ชื่อโครงการที่ว่า แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว ซึ่งเป็นจริงตามนั้น เนื่องจากคนตาบอดมองไม่เห็น จึงต้องเรียนกับของจริง ผ่านการสัมผัส หรือสิ่งที่จำลองขึ้น ซึ่งในที่นี้คือสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์และกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการนี้ โอกาสเช่นนี้เป็นโอกาสพิเศษที่ทางโรงเรียน และคณะครูไม่สามารถมอบให้เด็ก ๆ ได้ นับเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่เด็ก ๆ จะประทับใจไปอีกนานแสนนาน

การมาเยือนเชียงใหม่ในครั้งนี้ เราพาน้อง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 2 วันเต็ม วันแรกพาน้อง ๆ เดินทางสู่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เพื่อร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ “ท้องฟ้าในมือฉัน” ภายในท้องฟ้าจำลอง ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้การดูดาวเบื้องต้น รู้จักกลุ่มดาวในหกเหลี่ยมฤดูหนาว ด้วยมือสัมผัสผ่านอุปกรณ์ทรงกลมท้องฟ้า ที่ NARIT ได้พัฒนาขึ้น กิจกรรม “ย่อส่วนระบบสุริยะ” เปรียบเทียบขนาดของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะผ่านการสัมผัส และกิจกรรม “สร้างแบบจำลองดาวหาง” เรียนรู้องค์ประกอบและปั้นดาวหางเสมือนจริง
![]() |
![]() |
กิจกรรม “ท้องฟ้าในมือฉัน” | กิจกรรม “สร้างแบบจำลองดาวหาง” |
![]() |
![]() |
กิจกรรม “ย่อส่วนระบบสุริยะ” |
วันที่สอง เยี่ยมชมนิทรรศการดาราศาสตร์ และกิจกรรม “กาแล็กซีในมือฉัน” ช่วงบ่ายเดินทางสู่ดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่ เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และความดันอากาศจากถุงขนม สัมผัสธรรมชาติ และละอองนำ้ตกบริเวณนำ้ตกวชิรธาร จากนั้นเข้าเยี่ยมชมหอดูดาวดาวแห่งชาติ เรียนรู้ และสัมผัสกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่าง ๆ สัมผัสและโอบฐานกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ช่วงค่ำเดินทางสู่ยอดดอย เรียนรู้ และสัมผัสแบบจำลองหลุมดวงจันทร์ ก่อนสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าจริง อาทิ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น หากแต่เต็มไปด้วยความอบอุ่น น้อง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้ตาบอด 100% ส่วนใหญ่สามารถเห็นได้ลาง ๆ สามารถแยกความสว่างของวัตถุได้ หากเป็นดวงจันทร์ ก็จะเห็นเป็นจุดสว่างใหญ่ ส่วนดาวฤกษ์ หรือดาวเคราะห์ดวงอื่นก็เห็นเป็นจุดสว่างเล็ก ๆ
![]() |
![]() |
เยี่ยมชมนิทรรศการดาราศาสตร์ | กิจกรรม “กาแล็กซีในมือฉัน” |
![]() |
![]() |
เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และความดันอากาศจากถุงขนม | สัมผัสธรรมชาติ และละอองน้ำตกบริเวณน้ำตกวชิรธาร |
![]() |
![]() |
เยี่ยมชมหอดูดาวดาวแห่งชาติ และสัมผัสกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่าง ๆ | สัมผัสแบบจำลองหลุมดวงจันทร์ |
![]() |
![]() |
สังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าจริง |
ท้ายสุดนี้ ขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ให้โอกาสและร่วมสนับสนุนกิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น “แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว” ในครั้งนี้ ได้แก่
- บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส Bangkok Airways
- กลุ่มธุรกิจ TCP
หมายเหตุ : ได้รับอนุญาตจากโรงเรียนให้เผยแพร่ภาพแบบเปิดเผยใบหน้า