ข่าวกิจกรรม
ไทย-จีน ร่วมพิธีเปิดกล้องโทรทรรศน์แบบวีกอส (VGOS) แห่งแรกในไทยที่เชียงใหม่
สำหรับใช้ศึกษาการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก คาดการณ์แผ่นดินไหว
16 พฤษภาคม 2568 - เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีเปิดกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส (VGOS: VLBI Geodetic Observing System Radio Telescope) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ภายใต้ความร่วมมือไทย-จีนอย่างเป็นทางการ ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่

กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร เป็นความร่วมมือระหว่าง สดร. และหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติรับผิดชอบจัดหาพื้นที่ เพื่อสร้างอาคารรองรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ส่วนหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ รับผิดชอบการผลิต และประกอบกล้องโทรทรรศน์วิทยุ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณ มูลค่ารวมกว่า 120 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2560 สร้างและติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อปี 2567 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปีนี้
ปัจจุบัน กำลังดำเนินการก่อสร้างแห่งที่สองภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ. นครศรีธรรมราช หากแล้วเสร็จทั้งสองแห่ง จะสามารถศึกษาการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลพยากรณ์การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกได้
กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส เป็นกล้องสำหรับศึกษาด้านยีออเดซี (Geodesy) หรือ ภูมิมาตรศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการวัดและทำความเข้าใจรูปทรงเรขาคณิตและสัณฐานของโลก ตำแหน่งในอวกาศ และสนามโน้มถ่วง พร้อมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของโลกเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไป หรืออาจวัดเพื่อเทียบเคียงกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ โดยจะเก็บข้อมูลผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณย่านความถี่เอสและเอกซ์ (S-/X-band) ช่วงคลื่นความถี่ 2-14 GHz ควบคู่กับการสังเกตการณ์ด้วยเทคนิคแทรกสอดระยะไกล หรือ VLBI (Very Long Baseline Interferometry) โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุสองตัวขึ้นไปเก็บข้อมูลในเวลาเดียวกัน ทำให้ได้พิกัดที่แม่นยำถึงระดับมิลลิเมตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ตรวจสอบการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกได้ (Tectonic Plate Motion) ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์แผ่นดินไหว อีกทั้งยังสามารถประมวลผลลัพธ์ต่อจนได้ตัวแปรต่าง ๆ ที่บ่งบอกการวางตัวของโลกในอวกาศ (Earth Orientation Parameters) ไปจนถึงความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลก

พิธีเปิดดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานฝ่ายไทย และ Prof. DING Chibiao รองผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เป็นประธานฝ่ายจีน โดยมี ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Prof. SHEN Zhiqiang ผู้อำนวยการหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง Mr. Ma Minggeng ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย Mr. Chen Haiping กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายดุษฎี พรพระแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รองศาสตราจารย์นิติ มั่นเข็มทอง ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงผู้บริหาร นักวิจัย วิศวกร ของหน่วยงานร่วมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าว


โอกาสนี้ สดร. ได้นำผู้มีเกียรติเข้าเยี่ยมชมงานพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขึ้นสูง เช่น ห้องปฏิบัติการประกอบและทดสอบดาวเทียม ห้องปฏิบัติการพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นวิทยุ ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ระยะไกล และห้องปฏิบัติการเครื่องเคลือบกระจก และร่วมประชุมหารือความร่วมมือ China – Thailand Geodesy Capacity Development Workshop แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านยีออเดซีและการสังเกตการณ์ด้วยเทคนิคแทรกสอดระยะไกล
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |