ข่าวกิจกรรม
NARIT ต้อนรับและหารือความร่วมมือ
กับภาคีความร่วมมือวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ไทย
วันที่ 18-19 เมษายน พ.ศ.2568 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิริธร และ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ จ.เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT นำโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ และ ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ ให้การต้อนรับและนำการเยี่ยมชมพร้อมหารือความร่วมมือกับคณะผู้แทนจากจากสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย นำโดย ดร.สันติ แม้นศิริ ในฐานะประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์ฯ และ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ โดยมีคณบดีและผู้แทนจากทั้งคณะวิทยาศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์จำนวนกว่า 50 ท่าน จาก 18 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เข้าร่วม พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


โดยในวันที่ 18 เมษายน มีการนำเสนอความก้าวหน้าด้านการวิจัย รวมทั้งวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลโลยีขั้นสูง พร้อมทั้งการนำคณะเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์และโพโตนิกส์ ห้องปฏิบัติการประกอบและทดสอบดาวเทียม ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีฟิล์มบาง ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ และตัวอย่างชิ้นงานการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมไปถึงการนำเสนอโจทย์ท้าทายที่สามารถดำเนินการร่วมกันระหว่างสภาคณบดีฯ ทั้งสองแห่งกับ NARIT และการหารือความร่วมมือที่เป็นไปได้ ซึ่งนับเป็นรูปธรรมของการบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันวิจัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวง อว. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย

สำหรับวันที่ 19 เมษายน เป็นการนำคณะเข้าเยี่ยมชมหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ภายในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเพื่อการศึกษาทั้งทางด้านดาราศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Geodesy และ ธรณีวิทยา เป็นต้น

การเยี่ยมชม NARIT และการหารือความร่วมมือระหว่างกันของสภาคณบดีฯ ทั้งสองแห่งกับ NARIT นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความมุ่งมั่นตั้งใจของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ที่จะร่วมกันทำงาน เพื่อตอบโจทย์สำคัญทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย ผ่านการพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมไทย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ NARIT ในการใช้โจทย์ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย เพื่อพัฒนากำลังคนและความสามารถด้านเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศไทยให้ทับเทียมนานาประเทศ
