ข่าวดาราศาสตร์
เปิดภาพถ่ายซูเปอร์โนวา SN 2025rbs แบบชัดเจนยิ่งขึ้น
จากกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของ NARIT
ปรากฏเป็นจุดแสงสว่างใหม่ในกาแล็กซี NGC 7331 อยู่ห่างจากโลก 45.6 ล้านปีแสง
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ดร. สมาพร ติญญนนท์ นักวิจัยด้านจักรวาลวิทยาและฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง ใช้กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ ขนาด 0.7 เมตรของ NARIT ณ หอดูดาวเซียรา รีโมท สหรัฐอเมริกา บันทึกภาพของซูเปอร์โนวาใหม่ SN 2025rbs หลังการค้นพบครั้งแรกโดยกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ Gravitational-wave Optical Transient Observer (GOTO) ณ เกาะลาพาลมา ประเทศสเปน ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ ขนาด 0.4 เมตรของ NARIT ที่ติดตั้งในโครงการดังกล่าว และมี ดร. กันต์ธนากร น้อยเสนา นักดาราศาสตร์จาก NARIT อยู่ในทีมค้นพบนี้ [1] เป็นการยืนยันการค้นพบของซูเปอร์โนวาถึงสองครั้งในวันเดียวกัน ห่างกันเพียง 5 ชั่วโมง ตามเวลามาตรฐานสากล

กล้องTRT
กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ ขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเซียรา รีโมท สหรัฐอเมริกา ที่ ดร. สมาพร ติญญนนท์ ใช้บันทึกภาพและเก็บข้อมูลซูเปอร์โนวาดังกล่าวนั้น เป็นหนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ (Thai Robotic Telescope: TRT) ของ NARIT ทั้ง 4 กล้องที่ติดตั้งในต่างประเทศ ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าตอนกลางคืนได้ตลอด เหมือนในครั้งนี้ที่กำลังใช้ศึกษาวิจัยในโครงการสังเกตการณ์กาแล็กซีใกล้โลกในรัศมีไม่เกิน 40 ล้านพาร์เซก (ประมาณ 130 ล้านปีแสง) เพื่อติดตามค้นหาซูเปอร์โนวาใหม่ ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่าย DLT40 (Distance Less Than 40 Mpc) จาก University of Arizona และ University of California - Davis

กล้องGOTO
ส่วนกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ ขนาด 0.4 เมตร ตั้งอยู่บนเกาะลาพาลมา ในมหาสมุทรแอตแลนติก ประเทศสเปน เป็นหนึ่งในกล้องของโครงการ GOTO มีจุดประสงค์หลักเพื่อศึกษาคลื่นความโน้มถ่วง ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานพร้อมกัน 8 ตัว จำนวนสองชุด สามารถสำรวจท้องฟ้าไปพร้อม ๆ กัน เพื่อหาวัตถุที่อาจจะเป็นต้นกำเนิดของคลื่นความโน้มถ่วง หากหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง LIGO ประกาศค้นพบแหล่งคลื่นความโน้มถ่วงใหม่ เหล่ากล้อง GOTO จะสามารถบันทึกภาพท้องฟ้าเพื่อเปรียบเทียบหาแหล่งกำเนิดแสงใหม่ได้ทันทีภายในเวลาไม่กี่นาที อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังไม่มีการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงใด ๆ กล้อง GOTO ก็สามารถทำหน้าที่สำรวจหาวัตถุใหม่อื่น ๆ บนท้องฟ้าได้
ที่ผ่านมา NARIT มีส่วนร่วมในโครงการ GOTO อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มติดตั้งอุปกรณ์บันทึกภาพ จัดเก็บข้อมูลและประมวลผลข้อมูลอันมหาศาลด้วย “ชาละวันคลัสเตอร์” ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ของศูนย์ข้อมูลดาราศาสตร์แห่งชาติที่ NARIT ใช้ในงานวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา และสภาพอวกาศ การเข้าร่วมประมวลผลข้อมูลของนักวิจัย โดยมี ดร. กันต์ธนากร น้อยเสนา นักวิจัย NARIT ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริหารปฏิบัติงานของกล้อง GOTO และเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมค้นพบซูเปอร์โนวานี้ด้วย
การค้นพบซูเปอร์โนวาใหม่นี้เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง ซึ่งในขณะที่ ดร. สมาพร กำลังเตรียมการยืนยันการค้นพบซูเปอร์โนวาใหม่จากกล้อง TRT ของไทยนี้ ข้อมูลจากกล้อง GOTO ก็ได้รับการยืนยัน ก่อนหน้าไปเพียงแค่ 2.5 ชั่วโมงเพียงเท่านั้น

ซูเปอร์โนวาใหม่
SN 2025rbs เป็นซูเปอร์โนวาประเภท Ia (อ่านว่า วัน-เอ) เกิดจากการระเบิดของดาวแคระขาวในระบบดาวคู่ และมีความสำคัญอย่างมากในทางดาราศาสตร์ เพราะใช้เป็น "เทียนมาตรฐาน" (Standard Candle) ในการวัดระยะทางไปยังกาแล็กซีต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือหลักในการศึกษาการขยายตัวของเอกภพ จากการศึกษาระยะทางไปยังกาแล็กซีห่างไกลผ่านทางซูเปอร์โนวานี้เอง ที่ทำให้เราได้ค้นพบว่าเอกภพมีการขยายตัวแบบมีความเร่ง นำไปสู่การค้นพบสำคัญทางดาราศาสตร์ที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า “พลังงานมืด” (Dark Energy) ซึ่งทำให้ Saul Perlmutter, Brian P. Schmidt และ Adam G. Riess ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ไปในปี ค.ศ. 2011
เทคโนโลยีเพื่อเข้าใจจักรวาล
การค้นพบซูเปอร์โนวาโดยกล้องโทรทรรศน์เครือข่ายของ NARIT ทั้งสองนี้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเครือข่ายทางดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เมื่อการค้นพบใหม่ ๆ เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเป็นอย่างมาก ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเครือข่ายที่สำคัญ ทั้งในเชิงการสำรวจ (Survey) ที่สามารถค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ก่อนใคร และระบบเครือข่ายกล้องอัตโนมัติที่นักดาราศาสตร์สามารถเข้าถึงได้ จากทุกเวลา และทั่วทุกมุมบนโลก
อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาจากการศึกษาทางดาราศาสตร์นี้ คือการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิง Big Data Science ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากความต้องการทางดาราศาสตร์ที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้น ปัจจุบัน NARIT ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศปฏิบัติงานด้านระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing : HPC) และศูนย์ข้อมูลดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Astronomical Data Center) สำหรับการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาครัฐ และความสำคัญของทักษะในการจัดการกับข้อมูลจำนวนมากที่นักดาราศาสตร์ได้พบเจอเป็นประจำ เริ่มเป็นประจักษ์มากขึ้นในแวดวงของบริษัทเอกชนที่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับ Big Data Science ขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
ใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน
ดาราศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่มีข้อจำกัดในการศึกษาสิ่งที่อยู่ไกลมาก และมนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึง ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถสังเกตและทำความเข้าใจกับแสงริบหรี่บนท้องฟ้าได้ก่อนผู้อื่น ถือเป็นความได้เปรียบ ซึ่งการค้นพบใหม่ทางดาราศาสตร์ มักจะนำมาซึ่งแรงผลักดันการพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือเพื่อตอบโจทย์งานวิจัยขั้นสูงตามมา ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ NARIT จึงยึดมั่นในแนวคิดที่จะใช้โจทย์ยากทางดาราศาสตร์ ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ให้แก่สังคมไทยเสมอมา จากเพียงจุดสว่างเล็ก ๆ ของดาวฤกษ์ที่ระเบิดขึ้นบนท้องฟ้า ทุกวันนี้ ประเทศไทยของเราได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ระดับโลกอย่าง GOTO และมีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ที่พัฒนาและดำเนินการโดยบุคลากรคนไทยในระดับโลก
อ้างอิง [1] https://www.wis-tns.org/object/2025rbs