ข่าวดาราศาสตร์
นักดาราศาสตร์ไทย ใช้กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ จับภาพซูเปอร์โนวาใหม่
ภายในเวลาเพียง 2.5 ชั่วโมงหลังการค้นพบแรก
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ดร. สมาพร ติญญนนท์ นักวิจัยด้านจักรวาลวิทยาและฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง ใช้กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ ขนาด 0.7 เมตร ของ NARIT ณ หอดูดาวเซียรา รีโมท สหรัฐอเมริกา บันทึกภาพของซูเปอร์โนวาใหม่ SN 2025rbs ภายในระยะเวลาเพียง 2.5 ชั่วโมงหลังการค้นพบครั้งแรกโดยโครงการ GOTO ซูเปอร์โนวาดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกประมาณ 45.6 ล้านปีแสง ภายในกาแล็กซี NGC 7331
![]() |
|
![]() |
![]() |
ภาพซูเปอร์โนวา SN 2025rbs ที่บันทึกได้นั้น บันทึกด้วยฟิลเตอร์ V และ R ใช้วิธีนำภาพถ่ายใหม่ (ภาพที่ 1) มาลบข้อมูลด้วยภาพถ่ายเก่า (ภาพที่ 2) เพื่อให้ได้ภาพซูเปอร์โนวา ซึ่งปรากฏขึ้นให้เห็นเป็นจุดแสงใหม่ (ภาพที่ 3) ทั้งนี้ การบันทึกภาพทั้งสองฟิลเตอร์จะช่วยให้ได้สีของภาพที่สามารถนำไปศึกษาคุณสมบัติของวัตถุในทางดาราศาสตร์ได้
SN 2025rbs เป็นซูเปอร์โนวาที่เพิ่งได้รับการจำแนกว่าเป็นประเภท Ia (อ่านว่า วัน-เอ) ซูเปอร์โนวาประเภทนี้เกิดจากการระเบิดของดาวแคระขาวในระบบดาวคู่ และมีความสำคัญอย่างมากในทางดาราศาสตร์ เพราะสามารถใช้เป็น "เทียนมาตรฐาน" (Standard Candle) ในการวัดระยะทางไปยังกาแล็กซีต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือหลักในการศึกษาการขยายตัวของเอกภพ
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังคงไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรคือกลไกที่ทำให้ดาวแคระขาวระเบิด ดังนั้น การสังเกตการณ์ซูเปอร์โนวาประเภทนี้ ตั้งแต่ระยะต้นของการระเบิด จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับมวลสารที่พอกพูนบนผิวดาวแคระขาว ลักษณะของดาวคู่ที่เป็นต้นเหตุให้ดาวระเบิด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาวิวัฒนาการของระบบดาวคู่ และที่มาของซูเปอร์โนวาประเภท Ia อย่างแท้จริง
สำหรับกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ (Thai Robotic Telescope) หรือ TRT เป็นเครือข่ายกล้องของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของ NARIT ติดตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ชิลี และจีน นักดาราศาสตร์สามารถใช้งานผ่านระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติจากที่ใดก็ได้บนโลก โดยระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นเองโดยวิศวกรคนไทยใน NARIT การที่มีกล้องประจำการอยู่ตามที่ต่าง ๆ บนโลกพร้อมระบบควบคุมดังกล่าว ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าตอนกลางคืนได้ตลอด
และด้วยข้อดีนี้ ปัจจุบัน NARIT มีโครงการค้นหาซูเปอร์โนวาใหม่ให้ได้เร็วที่สุดโดยใช้กล้อง TRT ที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และชิลี โดยสังเกตการณ์กาแล็กซีใกล้โลกในรัศมีไม่เกิน 40 ล้านพาร์เซก (ประมาณ 130 ล้านปีแสง) ในทุกคืนที่ท้องฟ้าเปิด ซึ่งเป็นความร่วมมือกับเครือข่าย DLT40 (Distance Less Than 40 Mpc) จาก University of Arizona และ University of California - Davis
การตรวจพบซูเปอร์โนวาให้ได้เร็วที่สุด หลังจากเกิดการระเบิด พร้อมเก็บข้อมูลอื่น ๆ ประกอบโดยทันที เช่น สเปกตรัม (Spectroscopy) ภาพถ่ายในช่วงคลื่นต่าง ๆ (Multiband Imaging) เป็นไปเพื่อสังเกตการณ์ซูเปอร์โนวาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระเบิด ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์นี้ เช่น คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของผิวดาวที่ระเบิด คุณสมบัติของสสารรอบ ๆ ดาว และค้นหาว่าดาวที่ระเบิดมีดาวคู่อยู่ข้าง ๆ หรือไม่
ข้อมูล : ดร. สมาพร ติญญนนท์ - นักวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ