ข่าวดาราศาสตร์


ถอนหมั้น(ชั่วคราว)ในรอบ 15 ปี

ปกติแล้วเราจะคุ้นชินกับการเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ที่มีความสวยงาม แล้วถ้าวันหนึ่งวงแหวนมันหายไปล่ะเราจะคุ้นชินกับมันหรือไม่ ? ในปี ค.ศ.1610 กาลิเลโอใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองและส่องไปที่ดาวเสาร์ครั้งแรก และเห็นสิ่งที่ดูคล้าย "หู" ยื่นออกมาจากด้านข้างของดาว แต่เขาไม่รู้ว่าคืออะไร ต่อมาในปี ค.ศ.1612 “หู” ที่ว่านั้นก็หายไปอย่างลึกลับ กลายเป็นปริศนาใหญ่ในยุคนั้น

St Sc I 01 J T64 Rv B0 B J3 E4 Gy X83124 a P5 4 K

ปัจจุบันเราได้คำตอบแล้วว่า “หู” ที่กาลิเลโอเห็น จริง ๆ แล้วคือวงแหวนของดาวเสาร์นั่นเอง และเหตุผลที่วงแหวนนั้นหายไป เป็นเพราะมุมมองจากโลกในขณะนั้น ทำให้เห็นวงแหวนที่บางมากแทบจะไม่ปรากฏให้เห็น คล้ายกับดาวเสาร์ไม่มีวงแหวน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตามมุมเอียงของวงแหวนดาวเสาร์ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งใช้เวลารอบละประมาณ 29.4 ปี ดังนั้น ทุก ๆ ประมาณ 15 ปี เมื่อมองจากโลกเราจึงจะเห็นดาวเสาร์ปรากฏเสมือน "ไร้วงแหวน" อีกครั้ง

ในช่วงวันที่ 23 - 24 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่วงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงน้อยที่สุด หรือหากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องไปที่ดาวเสาร์ เราจะแทบไม่เห็นวงแหวนของดาวเสาร์เลย แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวดาวเสาร์มีตำแหน่งปรากฏใกล้กับดวงอาทิตย์มาก ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าในช่วงเวลากลางวัน จึงยากต่อการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก แต่ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงมุมเอียงและโครงสร้างของวงแหวนดาวเสาร์ในระนาบต่าง ๆ

ภาพนี้ถ่ายจากกรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเริ่มจากภาพดาวเสาร์ในปี 2020 ที่เห็นวงแหวนได้อย่างชัดเจน จนถึงภาพสุดท้ายเป็นช่วงต้นปี 2025 แทบมองไม่เห็นวงแหวนของดาวเสาร์ ราวกับว่าดาวเสาร์ไร้วงแหวน 


เรียบเรียง : ศุภกร  เขียวหวาน - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์
อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap250429.html