ข่าวดาราศาสตร์


รู้หรือไม่? ดาวพฤหัสบดีก็มีวงเเหวนนะ

ดาวพฤหัสบดีก็มีวงเเหวนนะ ! หลายคนอาจเข้าใจว่า ดาวเคราะห์ที่มีวงเเหวนมีเพียงเเค่ดาวเสาร์เท่านั้น เเต่เเท้จริงเเล้ว ดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์ทั้ง 4 ดวงในระบบสุริยะชั้นนอก ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส เเละดาวเนปจูน ล้วนแต่มีวงเเหวนเป็นของตัวเองเช่นกัน

Jupiter Ring Webb Schmidt 1080 Ann

แม้ว่าวงแหวนของดาวพฤหัสบดีจะไม่เด่นชัดเท่าของดาวเสาร์ แต่ก็มีอยู่จริง โดยวงเเหวนของดาวพฤหัสบดีถูกพบครั้งเเรกเมื่อปี ค.ศ. 1979 โดยยาน Voyager 1 ต่อมาข้อมูลจากยาน Galileo ของ NASA ที่โคจรรอบดาวพฤหัสบดีตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1995 ถึงปี ค.ศ. 2003 สามารถไขข้อสงสัยได้ว่า วงเเหวนของดาวพฤหัสบดีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร 
    
วงแหวนของดาวพฤหัสบดีประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ วงแหวนหลัก (Main Ring) ซึ่งอยู่ใกล้ตัวดาวมากที่สุด และวงแหวนจาง ๆ อีกสองชั้นที่เรียกว่า “กอสซาเมอร์” (Gossamer Rings) ขอบในสุดของวงแหวนอยู่บริเวณวงโคจรของดวงจันทร์เมทิส (Metis) ส่วนขอบนอกสุดอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ธีบี (Thebe) ซึ่งวงแหวนเหล่านี้เกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนเข้ากับดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง เศษฝุ่นเเละหินที่เกิดจากการพุ่งชนจะลอยขึ้นไปในอวกาศ เเละถูกอิทธิพลเเรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีทำให้เศษซากเหล่านี้โคจรรอบดาวพฤหัสบดี จนกลายเป็นวงเเหวนในที่สุด
    
ภาพถ่ายนี้อาจเป็นภาพที่ไม่ได้คุ้นตามากนัก เนื่องจากเป็นภาพดาวพฤหัสบดีในช่วงคลื่นอินฟราเรด โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) เผยให้เห็นถึงรายละเอียดที่เเตกต่างจากช่วงคลื่นแสงที่ตามนุษย์มองเห็น ไม่ว่าจะเป็น เเถบเมฆที่คมชัด พายุจุดเเดงใหญ่ รวมถึงวงเเหวนฝุ่นทึบแสง ซึ่งในปัจจุบันการศึกษาดาราศาสตร์ในหลายช่วงคลื่น ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบถึงโครงสร้างและคุณสมบัติทางกายภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงคลื่น ช่วยให้เราเข้าใจวัตถุทางดาราศาสตร์ในทุก ๆ แง่มุม

เรียบเรียง : อดิเทพ ขันคำ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง https://apod.nasa.gov/apod/ap250402.html 
https://www.missionjuno.swri.edu/jupiter?show=hs_jupiter_story_jupiters-rings