การสำรวจ ค้นคว้า รวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย

การสำรวจ ค้นคว้า รวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย

ระหว่างวันที่ 4 - 10 เมษายน 2562 

ณ หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุคณะมิสซังต่างประเทศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส

          ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 เกิดขึ้นในหลายแนวทาง ทั้งการเผยแผ่คริสต์ศาสนา การค้า การทูต โดยในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กับประเทศฝรั่งเศสมากที่สุด ผลของการเปิดโลกทัศน์ใหม่ของผู้นำสยามทำให้เกิดการรับและถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ อันนำไปสู่การสร้างสังคมอยุธยาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

          สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นทรงสนพระทัยในความรู้แบบตะวันตกอย่างลึกซึ้ง เพราะทรงคุ้นเคยกับคนฝรั่งเศสในการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดจากการทดลองเชิงประจักษ์ เช่นทรงให้วิศวกรต่างชาติออกแบบป้อมปราการ ผังเมือง หรืออาคารสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งทอดพระเนตรเหตุการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์หลายครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดการก่อสร้างหอดูดาวขึ้นทั้งที่พระนครศรีอยุธยาและเมืองลพบุรี

          บรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเพื่อการทดสอบ ทดลองและเก็บข้อมูลด้านดาราศาสตร์ในช่วงรัชกาลของพระองค์นั้นมีหลายรูป ต่างเรียบเรียบข้อมูล และผลการศึกษาทดลองการดาราศาสตร์ไทยไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเอกสารชั้นต้นที่สำคัญทั้งการดาราศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ไทยไปพร้อมกันด้วย หากมีการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ทางด้านดาราศาสตร์ที่เก็บรักษาไว้ ณ ประเทศฝรั่งเศส จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการดาราศาสตร์ในประเทศไทย

          ในปี พ.ศ. 2559 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนการค้นคว้าข้อมูลและสำรวจเอกสารดาราศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ณ หอสมุดดาราศาสตร์ กรุงปารีส ครั้งแรก โดยได้สำเนาเอกสารภาษาฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกลับมาศึกษาและจัดทำในรูปแบบฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บ ณ หอจดหมายเหตุดาราศาสตร์แล้ว  แต่ยังไม่ได้ค้นคว้าเอกสารหลักฐานที่จัดเก็บอื่น โดยเฉพาะหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส และหอสมุดคณะมิสซังต่างประเทศ ซึ่งมีเอกสารของสยามจัดเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการสำรวจ รวบรวมเอกสารดาราศาสตร์ไทยในประเทศฝรั่งเศส ณ หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส และหอจดหมายเหตุคณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส ในครั้งนี้จะทำให้ภารกิจด้านการสำรวจเอกสารของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อทำฐานข้อมูลของหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

          จากการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ฝรั่งเศส พบว่าเมื่อชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น กลุ่มบาทหลวงมิชชันนารีมีจำนวนมากที่ได้บันทึกและตรวจสอบข้อมูลด้านดาราศาสตร์ไว้มากที่สุด ข้อมูลเหล่านั้นมีประโยชน์ยิ่งสำหรับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพราะเป็นหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของประเทศไทย และเป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศไทยนั้นมีชื่อเสียงทัดเทียมกับประเทศตะวันตก  เพราะข้อมูลดาราศาสตร์ได้บันทึกพระอัจฉริยภาพของสมเด็จ       พระนารายณ์มหาราชที่ทรงสนพระทัยด้านการดาราศาสตร์ไว้มาก  มีข้อมูลเรื่องหอดูดาวทั้งที่กรุงศรีอยุธยา และเมืองลพบุรี 

          เอกสารที่นำกลับมาจัดเก็บไว้ส่วนหนึ่งที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งสำเนาลายมือและเอกสารฉบับพิมพ์ที่มีอายุหลายร้อยปี ต่อเนื่องกันมา เป็นลักษณะรายงานข้อมูลทางราชการ  รายงานการประชุมด้านดาราศาสตร์  สำเนาจดหมายส่วนบุคคล หากแต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มบุคคลที่เข้ามาในสยาม การสำรวจและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้จึงจะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

          นอกจากนี้ เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบ 333 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2229 – พ.ศ. 2562)
ที่เริ่มเมื่อออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) และคณะ เดินทางไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสเพื่อ พ.ศ. 2229  ในครั้งนั้นออกพระวิสุทธสุนทรและคณะทูต ได้เดินทางไปยัง “ปารีสออบเซวาตัวร์ (Paris Observatoire)” หรือหอดูดาวกรุงปารีส เพื่อพบกับแคสสินี (Cassini)  ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ของโลกด้วย  โกษาปานได้สำรวจหอดูดาว และเห็นอุปกรณ์การดูดาวต่าง ๆ ที่น่าสนใจ และซักถามถึงเรื่องทางวิทยาศาสตร์อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ การเดินทางไปสำรวจเอกสารและเก็บข้อมูลครั้งนี้ ผู้ร่วมเดินทางจะได้ศึกษาหอสมุดของหอดูดาว กรุงปารีส และสำรวจเอกสารต่าง ๆ เพิ่มเติมที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส และหอจดหมายเหตุคณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส

อนึ่ง ในการดำเนินการโครงการสำรวจ ค้นคว้า รวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย ในประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ในการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวก   ต่าง ๆ ด้วย  

 

01 

02 03

04

05

07

08

09 10

 

ผู้ร่วมโครงการ

คณะทำงานจัดตั้งหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญ

  • รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
  • รศ. ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
  • นายกุลชาติ ชัยมงคล
  • ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ หิรัญสุข        
  • นางสาวปรียา สุขยิ่ง    

แนวทางการสืบค้น

  • สำรวจและค้นคว้าเอกสารเพิ่มเติมที่ห้องสมุดหอดูดาว กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
  • สำรวจและค้นคว้าเอกสารที่หอสมุดแห่งชาติ (Richelieu)
  • สำรวจและค้นคว้าเอกสารที่ Mission Etrangères de Paris (MEP) ถนน du Bac