สำเร็จไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับภารกิจ “บินโฉบ” ครั้งสุดท้ายของยานโอไซริส-เร็กซ์ เพื่อถ่ายภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เก็บตัวอย่าง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เตรียมพร้อมเดินทางกลับโลกเดือนพฤษภาคมนี้

 

as20210427 3 01

 

หลังจากที่โอไซริส-เร็กซ์สามารถร่อนลงเก็บตัวอย่าง TAG (Touch-and-Go) ได้สำเร็จ โดยส่วนหัวของอุปกรณ์เก็บตัวอย่างนั้นจมลึกลงไปในพื้นผิวถึง 48.8 เซนติเมตร อีกทั้งยังใช้เครื่องยนต์ขับดันที่ยิงแก๊สไนโตรเจนแรงดันสูง เพื่อเพิ่มระดับของยานกลับสู่วงโคจร ทีมควบคุมภารกิจจึงตัดสินใจให้โอไซริส-เร็กซ์บินโฉบครั้งสุดท้ายเพิ่มเติม เพื่อบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หลังร่อนลงเก็บตัวอย่าง ยานโอไซริส-เร็กซ์จึงบินโฉบเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยเบนนูอีกครั้งที่ระยะห่าง 3.7 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว และสามารถบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงก่อน-หลังร่อนลงเก็บตัวอย่างได้อย่างชัดเจน

 

as20210427 3 02

 

ภาพจากกล้อง PolyCam ของยานแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ก่อนและหลังเก็บตัวอย่าง ซึ่งภาพด้านบนถ่ายเมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ขณะที่ยานรวบรวมข้อมูลเพื่อกำหนดพื้นที่เก็บตัวอย่าง ส่วนภาพด้านล่าง ถ่ายเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564 ในภารกิจบินโฉบครั้งสุดท้าย เมื่อพิจารณาทั้งสองภาพ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน มีก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อนที่เปลี่ยนตำแหน่ง และมีก้อนกรวด (สะท้อนแสงเห็นเป็นสีขาว) จำนวนมากถูกพัดพากระจัดกระจายทั่วพื้นที่เก็บตัวอย่าง อีกทั้งทีมควบคุมยังสังเกตเห็นก้อนหินขนาดประมาณ 1.25 เมตร และคาดว่ามีน้ำหนักประมาณ 1 ตัน (บริเวณวงกลมสีแดง) ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เก็บตัวอย่าง (บริเวณเครื่องหมาย X สีแดง) ถูกพัดไปไกลประมาณ 12 เมตร และก้อนกรวดขนาดเล็กที่กระจัดกระจาย ซึ่งทีมควบคุมได้วางแผนถ่ายภาพในช่วงที่แสงจากดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นผิวพอดี เพื่อลดเงารบกวนและช่วยให้เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ยานโอไซริส-เร็กซ์ จะเริ่มเดินทางกลับมายังโลกในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากนั้นจะทิ้งแคปซูลบรรจุตัวอย่าง (SRC) มายังพื้นโลกในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2566 หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น นาซาจะกระจายตัวอย่างหินที่ได้นี้ไปยังห้องปฏิบัติการทั่วโลก เพื่อร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของหนึ่งในก้อนหินที่เก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะก้อนนี้

 

เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/feature/goddard/2021/nasas-osiris-rex-leaves-its-mark-on-asteroid-bennu

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2343