วัตถุท้องฟ้านั้นอยู่ไกลจากเรามาก การศึกษาให้ครบทุกแง่ทุกมุมในคราวเดียวนั้นเป็นไปได้ยาก นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องคิดค้นเครื่องมือและเทคนิคการเก็บข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความหลากหลาย จนกว่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติในทางดาราศาสตร์ ที่จะมีการศึกษาวัตถุท้องฟ้าวัตถุเดียวแต่ใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์ที่แตกต่างกัน ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอภาพจุดร้อน (Hot spot) บนบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี โดยเปรียบเทียบภาพที่บันทึกได้จากกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ท (Gemini North Telescope) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.1 เมตร และกล้องถ่ายภาพ JunoCam ของยานอวกาศจูโน ดังภาพ

as20210312 2 01

ภาพแสดงจุดร้อนบนบรรยากาศดาวพฤหัสบดี บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์เจมินินอร์ท (ภาพซ้าย) และภาพจากกล้อง JunoCam ของยานอวกาศจูโน (ภาพขวา) เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2563 ประมวลผลภาพโดย Tom Momary และ  Brian Swift

 

จุดร้อนบนดาวพฤหัสบดีค้นพบโดยยานอวกาศกาลิเลโอ (Galileo) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นบริเวณที่มีสีเข้มกว่าพื้นที่โดยรอบ แต่จะสว่างขึ้นเมื่อศึกษาโดยกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ทในช่วงคลื่นอินฟาเรด ทำให้เห็นรายละเอียดของจุดร้อนที่ชัดเจนขึ้น และเมื่อใช้กล้อง JunoCam ของยานอวกาศจูโน ถ่ายภาพในบริเวณเดียวกันขณะที่ยานโคจรโฉบเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดี ครั้งที่ 29 (Perijove 29) แสดงให้เห็นแนวพายุสีดำแบบความละเอียดสูง ช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจกลไกการเกิดพายุและคลื่นบนดาวพฤหัสบดี รวมไปถึงการไขปริศนาเรื่องน้ำที่อยู่ในชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสบดีด้วย

 

เรียบเรียง : นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา


อ้างอิง :

[1] https://www.nasa.gov/image-feature/jpl/a-hot-spot-on-jupiter

[2] https://www.missionjuno.swri.edu/junocam/processing

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2080