ภาพพื้นผิวของดาวพลูโต ดาวเคราะห์แคระดวงหนึ่งที่อยู่ห่างจากโลกของเรากว่า 5,000 ล้านกิโลเมตร ที่ถูกส่งกลับมายังโลกจากยานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซอนส์ ภายหลังยานสำรวจอวกาศลำนี้ได้เข้าทำภารกิจสำรวจดาวเคราะห์แคระพลูโตในระยะใกล้สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Pluto Mountains Plains9 17 15 (Small)

ภาพที่ 1 แสดงภาพถ่ายระยะใกล้บริเวณที่ราบ Sputnik Planum และภูเขา Norgay Montes ของดาวพลูโตบันทึกไว้ได้โดยยานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซอนส์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2558 

ซึ่งเป็นมุมมองภาพในช่วงหลังจากที่ยานเข้าใกล้ดาวพลูโตที่สุด 15 นาที ด้วยระยะห่างจากพื้นผิวดาวประมาณ 18,000 กิโลเมตร และเป็นช่วงที่นักวิทยาศาสตร์ได้สั่งการให้ยานสำรวจอวกาศลำนี้หันกลับมายังโลกเพื่อให้กล้องถ่ายภาพบนยานได้บันทึกภาพในช่วงเวลาที่สำคัญเมื่อแสงอาทิตย์ได้สาดส่องลงมายังพื้นผิวของดาวพลูโตคล้ายกับช่วงเวลาที่เกิดแสงสนธยาบนโลก (twilight) นั่นเอง จนเผยให้เห็นชั้นบรรยากาศของดาวพลูโตและลักษณะทางธรณีวิทยาอื่น ๆ เช่น ภูเขาและบริเวณที่ราบเรียบปกคลุมด้วยน้ําแข็งได้เด่นชัด

บริเวณทุ่งราบน้ำแข็งที่เห็นเด่นชัดนี้ถูกเรียกว่าที่ราบ Sputnik Planum ซึ่งดูคล้ายกับธารน้ําแข็งบริเวณกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาที่ปรากฏอยู่บนพื้นโลกของเรา นอกจากนี้ยังพบภูเขาน้ำแข็งที่สูงต่ำสลับซับซ้อนกันอยู่ทางด้านซ้ายของภาพดังกล่าวนี้โดยมีความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อว่าภูเขา Norgay Montes ซึ่งดูคล้ายกับภูเขาที่ปรากฏบนโลกของเราเช่นกัน นอกจากนี้ เหนือพื้นผิวขึ้นไปในภาพนี้ ยังสามารถสังเกตเห็นชั้นบรรยากาศของดาวพลูโตที่การศึกษาในภายหลังพบว่าชั้นบรรยากาศนี้เต็มไปด้วยแก๊สไนโตรเจนและแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์อีกด้วย 

Pluto Map Annotated (Small)

ภาพที่ 2 แสดงข้อมูลชื่อบริเวณต่าง ๆ ที่ปรากฏบนพื้นผิวดาวพลูโต

นอกจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เราได้รับกลับมาจากภาพนี้แล้ว ความสวยงามที่ยานสำรวจอวกาศลำนี้ส่งกลับมายังทำให้เรารู้สึกเสมือนว่าได้ไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้นด้วยเลยทีเดียว ถึงอย่างไรเราต้องคอยติดตามต่อไปว่ายานสำรวจอวกาศลำนี้จะมีข้อมูลที่ช่วยให้เราได้เห็นถึงรายละเอียดพื้นผิวของดาวพลูโตเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นกุญแจสําคัญที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถไขปริศนาเกี่ยวกับการกําเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะของเรา

 

 

 

เรียบเรียง : บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร .

แหล่งที่มา : https://apod.nasa.gov/apod/ap210115.html?fbclid=IwAR1mg5ZhpDpRm7cGDeOcGdN4i6t3R21AzqA1TEIjO65VuhHdVuyVzNlHebY

อนุเคราะห์ภาพที่ 2 : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/b9/Pluto-Map-Annotated.jpg

อนุเคราะห์ภาพที่ 1 :  NASA, Johns Hopkins Univ./APL, Southwest Research Institute

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2526