กล้องดาราศาสตร์ (Astronomical Telescope) โดย ระวี ภาวิไล
วิทยาศาสตร์
วารสารรายเดือน ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปีที่ 11 เล่มที่ 4 พ.ศ. 2500 หน้า 1 – หน้า 11
| |กล้องดาราศาสตร์ (Astronomical Telescope) โดย ระวี ภาวิไล
วิทยาศาสตร์
วารสารรายเดือน ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปีที่ 11 เล่มที่ 4 พ.ศ. 2500 หน้า 1 – หน้า 11
| |ปรากฏการณ์บนฟากฟ้า :
ลูกไฟอุกกาบาตเชียงคาน
ระวี ภาวิไล
ราชบัณฑิตทางดาราศาสตร์
สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
ข้อมูลอ้างอิง
ความรู้คือประทีป วารสารราย 3 เดือน
ฉบับเดือนกรกฎาคม – กันยายน ๓/๔๕ ISSN 0125-8583
จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นอภินันทนาการโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
| |สุริยุปราคาเต็มดวงกับวิทยาศาสตร์ไทย
คุณวิโรจน์ ประกอบพิบูล
อดีต ผู้อำนวยการฝ่าย ขึ้นตรงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.
ในปี 2538 มีปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ ครั้งสำคัญของประเทศ ที่สื่อมวลชน ถือว่าจะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่อไปในอนาคต คือการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในตอนสายของวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งจากการคำนวณของนักดาราศาสตร์อย่างแม่นยำ ล่วงหน้านับปี ทำให้สื่อมวลชนมีเวลาที่จะเตรียมตัว และสื่อเดียวในขณะนั้นที่จะถ่ายทอดปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ได้ใกล้ชิดและทันท่วงทีคือสื่อโทรทัศน์ พร้อมทั้งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงของไทย ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ พร้อมทั้งเป็นครั้งแรกเช่นกันที่คนไทย ได้รับชมการเกิดคราสครั้งแรก นับจากพื้นที่แรกของประเทศคือภาคตะวันออก จนกระทั่งออกจากประเทศไทย ทางภาคตะวันตก ช่อง 9 อสมท.ได้ทำหน้าที่นี้ ในหน้าที่สื่อ ทั้งยังได้รายงานการเกิดคราสจากภูมิภาคประเทศต่างๆ ที่เกิดคราส ด้วยเป้าหมายการทำหน้าที่สื่อที่รายงานเหตุการณ์สำคัญของโลกให้ผู้ชมไทยได้รับทราบ และสืบทอดปลูกฝังให้เยาวชนและสังคมไทย เป็นสังคมวิทยาศาสตร์และสนใจดาราศาสตร์ เฉกเช่นที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงคำนวณได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปีว่า จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ทำให้นานาชาติยอมรับ ความเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ จนทุกวันนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
update 28 กันยายน 2563
| |
ภูมิปัญญาและความเชื่อจากปรากฎการณ์บนท้องฟ้า
บุญพีร์ พันธ์วร Think Earth: Think Sky
พฤษภาคม 2537 โครงการ THINK EARTH ร่วมกับ ดร. ระวี ภาวิไล แถลงข่าวเปิดโครงการ THINK EARTH THINK SKY
นำคณะมวลชนร่วมแกะรอยความเป็นมาดาราศาสตร์ไทย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ จังหวัดลพบุรี
ตรึกดิน ตรองฟ้า : ตรึกฟ้า ตรองดิน ปรากฎการณ์สุริยุปราคาบนฟากฟ้าที่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มดวงในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สรรพคราสครั้งนี่นเคลื่อนผ่าน 11 จังหวัด ตั้งแต่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถึงอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ทั่วไปถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าชื่นชม คนสมัยใหม่โดยเฉพาะในต่างประเทศแทบจะไม่มีความเชื่อถือในเรื่องโชคลางที่จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับเหตุการณ์นี้ แต่สำหรับชาวไทยเองแล้วดูเหมือนจะมีความเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องโชคลางและจักรวาลอยู่มากเพราะจักรวาลดูจะเป็นเรื่องที่ลี้ลับและซับซ้อน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุร้ายก็จะตีความว่าเป็นอิทธพลที่เกิดจากดวงดาว ต้นกำเนิดความเชื่อ ในสมัยก่อนปรากฎการณ์บนท้องฟ้าไม่ว่าจะเป็นดาวหาง ดาวตก ผีพุ่งใต้ สุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา เป็นปรากฎการณ์ที่มนุษย์ในขณะนั้นยังไม่มีความรู้และวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ดีพอที่จะสามารถอธิบายถึงปรากฎการณ์เหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นนักคิด นักปราชญ์หรือผู้ปกครองตลอดจนผู้นำชุมชนพยายามค้นหาคำตอบ หรือสร้างนิยาย ตำนาน หรือจินตนาการ แล้วแต่ที่จะคิดขึ้นมา เพื่อจะอธิบายปรากฎการณ์นั้นในฐานะที่ตนเองเป็นผู้นำชุมชนที่ต้องรอบรู้ทั้งหมด ดังนั้นคำตอบในแต่ละพื้นที่ของแต่ละชนเผ่าหรือต่างศาสนา ย่อมมีความเชื่อที่มีความแตกต่างกันไป ถือเป็นภูมิปัญญาของคนในสมัยโบราณที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในการพยายามคิดหาคำตอบซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีวิชาดาราศาสตร์ แต่ก็สามารถทำให้คนในขณะนั้นมีทางออกในเรื่องนี้ได้ ล้วนมีความเชื่อที่ต่างเผ่าพันธุ์ต่างความคิดแล้วแต่สภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชน ในประเทศไทย มีเอกสารหลายชิ้นที่ค้นคว้ากันอยู่ หนึ่งในนั้นคือ “กำเนิดเทวะ” ของพระยาสัจจาภิรมณ์ หรือ โฉม ศรีเพ็ญ พบเรื่องตำนานเรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์และตำนานเรื่องราหูอมพระอาทิตย์ อมพระจันทร์ โดยในตำนานได้กล่าวถึงการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาว่าด้วยความเชื่อของชาวอินเดีย ตอนที่เหล่าเทวดา และยักษ์ช่วยกันกวนมหาสมุทรทำพิธีเสกน้ำอมฤตสำหรับดื่มให้เป็นอมตะ พิธีกวนเริ่มด้วยเทวดานำเอาบรรดาสมุนไพรมาโยนลงในมหาสมุทร แล้วยกเอา “ภูเขามันทระ” เป็นไม้กวนโดยใช้วิธีว่าไปจับเอาพญานาคมาทำเป็นเชือกพันรอบเขาแล้วเทวดา และยักษ์ก็เข้าแถวเรียงกันเป็น 2 แถว ผลัดกันชักเย่อไปมา ภูเขาก็หมุนตัว บรรดายาสมุนไพรในมหาสมุทรก็เกิดการหมุนเวียน และถูกบดละเอียดเข้าทุกทีจนข้นเป็นปลัก แต่มี “น้ำใสวิเศษ” ขึ้นตรงกลาง มีเทวแทตย์ทูนถ้วยน้ำโผล่ขึ้นมา แสดงว่าการกวนน้ำอมฤตประสบผลสำเร็จแล้ว แต่เทวดาคิดไม่ซื่อ เลือกจับพญานาคส่วนหาง ให้หัวพญานาคอยู่ด้านยักษ์ เวลาพญานาคบิดตัวจะคลายพิษ ทำให้ยักษ์อ่อนแรง ส่งผลทำให้เทวดาเป็นฝ่ายชนะ พญานาคได้ดื่มน้ำอมฤตเป็นรางวัล แต่ก็มียักษ์ราหู ชื่อ “อสุรินทราหู” แอบปลอมตัวเข้าไปปะปนกับเทวดาเพื่อดื่มน้ำอมฤตด้วย แต่อสุรินทราหูเป็นแทตย์ที่มีหางเหมือนมังกร เพราะเป็นบุตรท้าวเวปจิตติ กับนางสังหิกา จัดอยู่ในพวกอสูร เมื่อปลอมตัวเข้าไป จึงถูกพระอาทิตย์กับพระจันทร์จับได้ พระอาทิตย์กับพระจันทร์จึงได้นำความไปฟ้องพระนารายณ์ พระองค์จึงใช้จักรที่เป็นอาวุธประจำตัวของพระองค์ตัดคอยักษ์ราหู ซึ่งปกติแล้วยักษ์เมื่อต้องอาวุธของพระนารายณ์ก็จะตาย แต่เนื่องจากยักษ์ราหูไปดื่นน้ำอมฤตทำให้เป็นอมตะไม่ตายทำให้ร่างกายขาดเป็นสองท่อนส่วนล่างก็เป็น ดาวหาง ดาวเกตุ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นราหูไป ด้วยความแค้นผูกพยาบาท ที่พระอาทิตย์และพระจันทร์นำความไปฟ้องพระนารายณ์ ยักษ์ราหูจึงคอยแก้แค้น หากเมื่อใดที่พบยักษ์ราหาก็จะจับมาหนีบรักแร้ให้ฉุนเล่น หรือไม่ก็อมแสงพระอาทิตย์กับแสงพระจันทร์ การอมมีอยู่สองอย่างคืออมแบบคลี่คือการอมแบบเต็มดวง และอมแบบคลายคือการอมแบบไม่เต็มดวง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกคนจะต้องช่วยพระอาทิตย์กับพระจันทร์ชาวบ้านจึงตีเกราะ เคาะไม้จุดประทัด ทำเสียงดังเพื่อไล่ยักษ์ราหูตนนี้ออกไป นี่คือความเชื่อของคนไทยมาแต่โบราณแต่สมัยนี้คงไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินหรือ ทราบเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ทราบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ต้องไปตีเกราะ เคาะไม้ จุดประทัดไล่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีนิยายอยู่ในหนังสือเฉลิมไตรภพ แต่งเป็นกาพย์เกี่ยวกับเรื่องสุริยุปราคาอีกเรื่องหนึ่งมีเนื้อความคร่าวๆ ว่า มีพี่น้องซึ่งเป็นลูกเศรษฐีชื่อ “หัสวิโสย” อยู่ 3 คน คนโตชื่ออาทิตย์ คนรองชื่อจันทร์ คนสุดท้องชื่อราหู ต่อมาเศรษฐีตายไป ทั้งสามจึงได้ทำบุญตักบาตร อาทิตย์ใช้ขันทอง จันทร์ใช้ขันเงินและอธิษฐานขอให้เกิดเป็นพระอาทิตย์มีผิวพรรณเรืองรองเป็นทองอำไพ จากอานิสงส์ที่ตักบาตรด้วยขันทองและพระจันทร์มีผิวพรรณผุดผ่องเป็นสีเงินยวง ฝ่ายน้องราหูโกรธมากที่พี่ๆ เอาภาชนะดีๆ ไปใช้และอธิษฐานขอแต่สิ่งดีๆ ทั้งนั้น เลยคว้ากระบวยมาเป็นภาชนะตักบาตร และอธิษฐานว่าให้เกิดเป็นราหู มีร่างกายใหญ่โตสามารถบดบังรัศมีของพี่ๆ ทั้งสองคืออาทิตย์และจันทร์ได้ เมื่อตายไปพี่น้องทั้งสามได้เป็นดังอธิษฐาน ราหูนั้นยังมีใจเจ็บแค้นอยู่ เมื่อเห็นพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นต้องทำให้เกิดคราส ในความเชื่อของชาวกระเหรี่ยงในอำเภอแม่แจ่มเรียกว่า “ตาชื่อมื่อ” มีความเชื่อว่าแผ่นดินกินพระอาทิตย์ เพราะฉะนั้นจะต้องช่วยพระอาทิตย์ โดยการตีเกราะ ตีกลอง การเป่าเขาควายเขาโค เพื่อจะไล่ตรงนี้ออกไป
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าความเชื่อถือเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ของคนแต่ละเผ่าพันธุ์ จะแตกต่างกันไป บางเผ่าในทวีปอเมริกาใต้ที่รบราฆ่าฟันกันมาเป็นเวลานานก็เลิกรบกัน เพราะคิดว่าพระเจ้าพิโรธ ชนเผ่าเล็กๆ บางเผ่าจะมีพิธีบูชายันต์เมื่อเกิดปรากฎการณ์นี้ ส่วนในประเทศจีน มีคติความเชื่อเรื่องการเกิดสุริยุปราคาอยู่ในเรื่อง “ไคเภ็ค” อันเป็นพงศาวดารการสร้างโลกของจีนในพงศาวดารนั้นกล่าวว่า พระอาทิตย์ (เพศชาย) นั้นเป็นเทวดามีชื่อคัย แซ่ซึง ส่วนพระจันทร์ (เพศหญิง) เป็นเทพธิดาชื่อบี้ แซ่ถัง เป็นสามีภรรยาที่รักกันมากไม่ค่อยยอมจากกัน เมื่อไม่ยอมจากกันจึงทำให้ไม่ค่อยยอมทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่มนุษย์ แต่เกรงบารมีของคุณต่อเป็งชาน้าติอ่องสีฮ่องเต้ จึงต้องจำใจจากกันไปทำหน้าที่คนละเวลากัน เมื่อเวลาพระอาทิตย์โคจรเร็วพบกับพระจันทร์เข้าด้วยความรักก็ต้องมีการออดอ้อนกันตามประสาก็จะเกิดจันทรคราส แต่ถ้าพระจันทร์โคจรเร็วทันพระอาทิตย์ก็ทำให้เกิดสุริยคราส คนจีน จึงต้องจุดประทัด ตีม้า ตีฬ่อ ให้เกิดอาการตกใจจากกันไปทำหน้าที่ของตนหรืออีกความชื่อหนึ่งของจีนคือ การเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคานั้นอาจหมายถึงการที่มังกรกำลังกลืนกินดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็มี จึงต้องทำให้เกิดเสียงดังเพื่อให้มังกรคลายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ออกมา สร้างเป็นวัตถุมงคล สำหรับตำนานทางโหราศาสตร์ “ราหู” นับเป็นดาวที่มีคุณทางให้กำลังเมื่อเกิดราหูอมจันทร์คือ เงาของโลกไปบดบังทับดวงจันทร์ดำมืดนั้นเองจะมีคุณทางให้กำลังเพิ่มอานุภาพภายใน ผลักดันให้เกิดความเพียรพยายาม ขัดแข็ง ในขณะเดียวกันก็บาปที่จะทำให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมา เช่น ผู้ใดมีราหูกุมลัคนาจะเป็นคนขยันมาก หมายถึงเป็นคนเอาจริงเอาจัง ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระราหูมีเพียงครึ่งตัว เนื่องจากถูกจักรของพระนารายณ์ตัดขาดเพราะปลอมเป็นเทวดาไปแอบดื่มน้ำอมฤต ขณะนั้นพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้ไปพบเห็นเข้าจึงได้ไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้วเป็นเหตุให้ขว้างจักรไปต้องกายพระราหูขาดเป็นสองท่อน แต่ก็ไม่สามารถทำให้พระราหูตายได้ เนื่องจากความเป็นนิรันดร์ที่ได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไป ดังนั้นพระราหูจึงมีความแค้นเคืองพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก จึงคอยเฝ้าจับกินพระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่เสมอ อันเป็นที่มาของราหูอมพระอาทิตย์หรือราหูอมจันทร์ “จันทรคราส / สุริยคราส” นั้นเอง
กำเนิดกะลาตาเดียว การสร้างสรรค์งานศิลปะพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นในทุกยุคทุกสมัยมักจะเกิดขึ้นจากความประทับใจ ความเชื่อในด้านต่างๆ และความต้องการเพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นแรงดลใจ ไม่ว่า ณ แห่งหนตำบลใดในโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีการพัฒนารูปแบบของศิลปะนั้นๆ ให้สวยและงดงามขึ้นตามลำดับด้วยภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นตามสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีของแต่ละยุคสมัย เช่นเดียวกันกับศิลปะพื้นบ้าน “การแกะกะลาพระราหู” ศิลปินพื้นถิ่นผู้สร้างสรรค์งานก็ได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตรูปแบบและองค์ประกอบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของงานศิลปะพื้นบ้าน โดยมีการฝึกฝนขึ้นภายในหมู่บ้าน มีการพัฒนารูปแบบให้สวยงามทั้งทางด้านองค์ประกอบและลวดลาย สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคลหรือช่างที่ทำการแกะ แรกๆ ก็ไม่ได้มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน แต่มาสมัยหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง อำเภอนครไชยศรี จังหวัด
นครปฐม ผู้มีความสนใจทางตำราคาถาอาคมต่างๆ และมีความสนใจเรื่องกะลาตาเดียวนี้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากโยมบิดา เมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสครองวัดก็ได้วางรากฐานและรูปแบบ ตลอดจนลวดลายการแกะสลักกะลาพระราหูให้เป็นมาตรฐาน โดยมีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ยุคนี้อาจถือได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปะการแกาะกะลาตาเดียวก็คงไม่ผิดนัก กะลาพระราหูกับความเชื่อพื้นบ้าน ตำนานการสร้าง “พระราหูอมจันทร์” นั้นมิได้เนื่องมาจากทางโหราศาสตร์ แต่เนื่องมาจากสิ่งเดียวเท่านั้นคือ “ความเป็นอมตะและเป็นนิรันดร์ของพระราหูที่ไม่รู้จักตาย” อันเป็นแนวทางความเชื่อของบรรพชนโบราณที่อาศัยโฉลกนี้เป็นตัวกำหนด เป็นสูตรพิธีสร้างสรรค์สิ่งซึ่งใช้คุ้มครองตนให้มีชีวิตเป็นอมตะ รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ อีกทั้งยังมีคุณวิเศษอื่นๆ อีกมากมาย อานุภาพแห่งพระราหูนี้มีกล่าวไว้ในหลายๆ ตำราหลากหลายความเชื่อ แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ทั้งพุทธ ฮินดู ไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า อานุภาพแห่งพระราหูนั้นมีอิทธิพลต่อความเชื่อของจิตใจคนไทยมาเป็น
เวลาช้านาน อาจจะสรุปถึงอานุภาพแห่งพระราหูตามที่อาจาร์ยบุญส่ง สุขสำราญ ได้ประมวลมาคือ 1. ใช้ป้องกันอาวุธ หอก ดาบ หน้าไม้ ปืน ตลอดจนภัยพิบัติต่างๆ 2. เพื่อให้เกิดลาภผลและแก้วแหวนเงินทอง 3. ป้องกันคุณไสยกระทำย่ำยี เสน่ห์ เสนียดจันไร ผีปอบ ผีป่า 4. เพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความเมตตา ปราณี รักใคร่ เป็นเมตตามหานิยม 5. เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าเรื่องการงาน นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าถ้านำกะลาพระราหูมาแช่น้ำ จะทำให้น้ำนั้นศักดิ์สิทธิ์เหมือนน้ำมนต์ใช้ประพรมกันโจร กันอัคคีภัย หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้หญิงคลอดลูกง่าย ทั้งยังให้ฤทธิ์กำบังตนพ้นจากการไล่ล่าได้อีกด้วย ทั้งนี้ตามตำราใบลานต้นฉบับการแกะกะลาพระราหูระบุว่า ผู้ที่แกะนั้นจะต้องเลือกใช้แต่กะลาตาเดียวเท่านั้น เนื่องจากมีความพิเศษแปลกพิสดารกว่ากะลาธรรมดา อีกทั้งหาได้ยากและตามคติความเชื่อโบราณก็ถือว่า กะลาตาเดียวเป็นของที่ดีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เช่นเดียวกับของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้วมีความผิดแปลกออกไป นอกจากนี้ คติไทยโบราณท่านยังนิยมใช้กะลาตาเดียวทำประโยชน์ต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น ในวิชาการแพทย์โบราณระบุไว้ว่า กะลาตาเดียวใช้สำหรับตัดต้อที่ตาผู้ป่วยให้หายได้ หรือใช้สำหรับตักข้าวสารใส่หม้อโบราณ โดยเชื่อว่าจะให้ผลทางความเจริญงอกงามทั้งทางด้านฐานะและความเป็นอยู่ หรือใช้สำหรับกันและแก้เสนียดจัญไร ผีสางต่างๆ ฯลฯ กะลาตาเดียวในความเชื่อที่บูชาและเชื่อมั่นศรัทธาในพระราหูนั้น จะทำพิธีลงคาถาอาคมในขณะที่เกิดสุริยคราสและจันทรคราส เรียกว่า “โมกขบริสุทธิ์” เชื่อว่าจะทำให้ความวิเศษของกะลาตาเดียวมีคุณค่ามากขึ้น โดยลงยันต์ “สุริยประภา” หรือ “สุริยบัพพา” ขณะที่เกิดสุริยคราสและลงยันต์ “จันทรประภา” หรือ “จันทรบัพพา” ตอนเกิดจันทรคราสทั้งสองคาถานี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสุดยอดของยันต์ทั้งปวง คาถา “สุริยบัพพา” และ “จันทรบัพพา” นี้ ความเชื่อของคนโบราณจะภาวนาขณะที่จะเดินทางออกจากบ้านเพื่อจะได้ให้ “พระราหู” คุ้มครองป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ตนขณะเดินทาง อย่างไรก็ตามความเชื่อของคนโบราณในอดีต และพัฒนามาจนกระทั่งปัจจุบันเปรียบเสมือนภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นศิลปะของชาวบ้านที่พยายามจะหาคำตอบ แสวงหาทางเลือกต่างๆ ในการแก้เคล็ดในการปกป้องคุ้มครองให้ตนปลอดภัยจากภยันตราย
ทั้งหลายทั้งปวง อาจจะมีคำถามหลายๆ คำถามที่ว่าสิ่งเหล่านี้งมงายหรือไม่ทุกอย่างมีคำตอบในตัวของมันเองอยู่แล้วแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้เลื่อมในศรัทธาสิ่งเหล่านั้นมีคุณงามความดีมากน้อยเพียงไรเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในทางมิชอบหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นคำตอบได้ดีที่สุดก็คือทุกสิ่งอยู่ที่ใจ ถ้าจิตใจของเราบริสุทธิ์ยึดมั่นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้วเราไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น
update 28 กันยายน 2563
| |เล่าเรื่อง
“ศาสตาจารยกิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล”
โดย คุณภาสุรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
บุตรสาว
อาจารย์ระวีทำงานอะไร
อาจพูดได้ว่าชีวิตส่วนตัวกับการงานของอาจารย์ระวีนั้นแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะงานทั้งหลายของอาจารย์ระวีเริ่มต้นจากสิ่งที่อาจารย์ระวีรักที่จะให้ความสนใจ แล้วลงมือทำงานตามที่เห็นสมควรเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วหาหนทางถ่ายทอดความรู้ให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น สิ่งที่อาจารย์ระวีให้ความสนใจมักจะมีหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจารย์เชื่อว่าเรื่องทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมด ไม่มีเส้นแบ่งแยกระหว่างงานที่ได้เงินกับงานที่ไม่ได้เงิน
| |ห้องแสดงงานจดหมายเหตุดาราศาสตร์ ขอเชิดชูเกียรติและถ่ายทอดเรื่องราวของ “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล” บุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจ ผู้บุกเบิกการศึกษา รวมถึงให้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย โดยจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ “โต๊ะทำงาน” ของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล ซึ่งเป็นโต๊ะทำงานที่ท่านใช้ในการทำงานต่อเนื่องตลอดมาจนเกษียณราชการในปี พ.ศ. 2529 มีการเล่าเรื่อง โดยคุณภาสุรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ถ่ายทอดข้อมูลประวัติ ผลงานทางด้านดาราศาสตร์ ผ่านรูปแบบนิทรรศการออนไลน์
สำหรับงานแสดงจดหมายเหตุดาราศาสตร์ “เล่าเรื่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล” ในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2563 - 30 มิถุนายน 2564 ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ณ อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่
บทความ
| |
C1961R1 Humason by Rawi Bhavilai
ดาวหาง ฮูมาซอน ชื่อเดิม C/1961 R1 (หรือที่เรียกว่า 1962 VIII and 1961e) เป็นดาวหางที่โคจรแบบไม่มีคาบที่แน่นอน ถูกค้นพบโดย Milton L. Humason เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1961. ระยะทางที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวหางนี้อยู่ไกลกว่าวงโคจรของดาวอังคารรอบดวงอาทิตย์ หรือ ที่ 2.133 AU. ระยะเวลาในการโคจรของมันออกไปจากดวงอาทิตย์ประมาณ 2516 ปี ดาวหางนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของนิวเครียสประมาณ 30-41 กม [2] มันเป็นดาวหางยักษ์ ที่มีปฏิกิริยามากกว่าดาวหางปกติที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์เท่าๆ กัน ด้วยความสว่าง 1.5 -3.5 แมกนิจูด ซึ่งสว่างกว่าของดาวหางทั่วไปถึง 100 เท่า ทำให้สามารถมองเห็นดาวหางนี้อย่างเด่นชัดบนท้องฟ้า และสเปกตรัมจากหางของดาวหางบ่งบอกถึงองค์ประกอบที่หนาแน่นไปด้วยไอออน CO+ ซึ่งมีลักษณะเข่นเดียวกันกับที่พบในหางของดาวหาง Morehouse (C/1908 R1). [4]
อ.ระวี ภาวิไล ในขณะนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ประเทศออสเตรเลีย ได้เฝ้าสังเกตการณ์ดาวหาง Humason ที่ปรากฏอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2504
กล่องบรรจุฟิลม์กระจกบันทึกภาพดาวหาง Humason
ฟิลม์กระจกบันทึกภาพดาวหาง Humason
ภาพดาวหาง Humason
ภาพแสกนจากฟิล์มกระจก
update 25 มิถุนายน 2563
| |
ดาวหางฮัลเลย์
“ดาวหางฮัลเล่ย์” ชื่อดาวหางที่คนไทยมีความคุ้นเคยและรู้จักมากที่สุด เหตุเพราะดาวหางมีความสว่างที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ชัด
เอ็ดมันด์ ฮัลเล่ย์ เป็นผู้คำนวณและทำนายการปรากฏตัวของดาวหางได้สำเร็จเป็นคนแรกด้วยฮัลเล่ย์พบว่าดาวหางดวงนี้จะโคจรกลับมาให้เห็นบนท้องฟ้าทุกๆ 75 - 76 ปี ฮัลเล่ย์ได้ใช้ข้อมูลจากที่มีผู้บันทึกการพบเห็นดาวหางที่ปรากฏในปี ค.ศ. 1531, 1607 และ 1682 โดยฮัลเล่ย์สันนิฐานว่าดาวหางที่ปรากฏนี้น่าจะเป็นดาวหางดวงเดียวกัน และฮัลเล่ย์ได้ทำนายว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 1759 แต่ฮัลเล่ย์ไม่สามารถพิสูจน์ผลการคำนวณและทำนายของเขาได้เนื่องจากเขาได้เสียชีวิตไปก่อนที่ดาวหางจะมาปรากฏตัว ถึงแม้ว่าฮัลเล่ย์จะเสยชีวิตไปแล้วแต่คำทำนายของเขายังคงอยู่ และในปี ค.ศ. 1758 ตามคำทำนายของฮัลเล่ย์ก็มีผู้พบเห็นดาวหางดวงนี้ปรากฏตัวขึ้นจริง ๆ ในวันคริสต์มาสของปีนั้นเอง สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้คนในโลกตะวันตกเป็นอย่างมาก ในเวลาต่อมาดวงนี้จึงได้ชื่อตามชื่อของเขาว่า “ดาวหางฮัลเล่ย์”
ข้อมูลภาพ จากหนังสือ ฮัลเล่ย์ Halley
ศุภดารา พลสมุทร ค้นคว้า เรียบเรียง
ดรุณี แปล เรียบเรียง
ในช่วงต้นๆ ปี 2529 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2529 ดาวหางฮัลเล่ย์ เริ่มปรากฏบนฟากฟ้าทางภาคใต้ของประเทศไทย สามารถมองเห็นชัดได้ด้วยตาเปล่า การโคจรกลับมาในครั้งนี้สร้างความตื่นตัวให้ประชาชนคนไทยสนใจเรื่องของดาราศาสตร์มากขึ้น ในยุคนั้น ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์รุ่นแรกๆ ของไทย ได้ร่วมสังเกตการณ์การกลับอีกครั้งของดาวหางฮัลเล่ย์ ซึ่งได้สร้างความตื่นตัวให้เยาวชนไทยหันมาให้ความสนใจการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์มากขึ้นกับการกลับของดาวหางฮัลเล่ย์ในครั้งนี้
กล้องโทรทรรศน์แบบนิวโทรเนียน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว
ศ. กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล ใช้สังเกตการมาเยือนของดาวหางฮัลเลย์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2529
มรดกที่ฮัลเล่ย์ทิ้งไว้คือเทคนิคการคำนวณหาคาบวงโคจรของดาวหาง และนักดาราศาสตร์ยุคต่อมาก็ใช้เทคนิคการคำนวณของฮัลเล่ย์ทำนายการมาเยือนของดาวหางดวงนี้ในอนาคต ซึ่งดาวหางฮัลเล่ย์จะกลับมาให้เราได้ชมอีกครั้งในราวช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 จากมรดกที่ฮัลเล่ย์ฝากไว้ให้คนรุ่นหลังให้พิสูจน์ผลการคำนวณของเขาว่าถูกต้องหรือไม่ตามที่คำนวณไว้...
update 18 มิถุนายน 2563
| |
หวนรำลึกปรากฏการณ์สุริยุปราคา 24 ตุลาคม 2538
วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต
นักดูดาวติดดินแห่งแปลงยาว
ในช่วงเกิดการปรากฎการณ์สุริยุปราคา 24 ตุลาคม 2538 ข้าพเจ้ามีความตื่นเต้นมากเนื่องจากในช่วงนั้นข้าพเจ้ากำลังอยู่ในช่วงที่ศึกษาและฝึกถ่ายภาพดาราศาสตร์ ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เดินทางไปสีคิ้วร่วมกับทีมงานของสมาคมดาราศาสตร์ไทย โดยตั้งกล้องถ่ายภาพอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห่างกันประมาณ 10 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณใกล้กับพื้นที่สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย จปร.
ข้าพเจ้าจำได้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นมีประชาชนจำนวนมากมายมหาศาล รวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณรอบๆ พื้นในส่วนของพื้นที่สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนเริ่มปรากฎการณ์ท้องฟ้าดูเหมือนจะไม่เอื้ออำนวยนัก แต่พอเริ่มจะเข้าคราสท้องฟ้ากับเปลี่ยน เมฆหายไปหมด ช่วงใกล้ปรากฎการณ์ประชาชนก็มีความตื่นเต้น พากันจ้องมองฟ้า ช่วงปรากฏการณ์คราสเต็มดวงอุณหภูมิก็มีความเย็นวูบขึ้นชั่วขณะ ภาพบนท้องฟ้าสวยงามมากเนื่องจากปรากฎการณ์ diamond ring มีแสงเหมือนแก้วแวววับ แต่มีความเร็วมาก ตัวข้าพเจ้าและลูกชายของข้าพเจ้าคุณเอกชัยซึ่งช่วยถ่ายภาพอยู่ ณ ขณะนั้น ก็กำลังถ่ายภาพและสามารถถ่ายภาพตามที่ตั้งใจไว้มากมาย ส่วนข้าพเจ้าก็ได้สัมผัสบรรยากาศที่ประชาชนเดินเข้ามาในสนามด้วยความตื่นเต้น ซึ่งบริเวณนั้นเป็นบริเวณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับอยู่ แต่ท่านก็ไม่ได้ถือพระองค์แต่อย่างใด และทรงอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาร่วมสัมผัสบรรยากาศ ประชาชนทุกๆ คนต่างมีความตื่นเต้นกับปรากฏการนี้มาก มีเสียงตะโกนร้องกันอย่างกึกก้อง ปรากฏการณ์ในครั้งนี้นี้สวยงามมากสมกับที่ทุกๆ คนรอคอย การถ่ายภาพสามารถถ่ายภาพได้ ทุกๆ 5 นาที ได้ภาพครบทุกปรากฏการณ์พอคราสเริ่มจะออกอุณหภูมิก็เริ่มสูงขึ้นแต่ไม่ร้อนมีความเย็นๆ อยู่บ้าง
ข้าพเจ้ามีความตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ในวันนั้นมาก เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้เห็นปรากฏการณ์สวยงามบนท้องฟ้าประเทศไทย มีโอกาสได้ถ่ายภาพ มีโอกาสได้ร่วมชมปรากฏการณ์กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ขอบันทึกไว้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สุดยอดมากจริงๆ
update 11 มิถุนายน 2563
| |เหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
รองศาสตราจารย์ ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์
สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่ผมได้มีโอกาสมองเห็นด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิต เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงที่สามารถมองเห็นได้ในประเทศไทยก่อนหน้านั้น เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด
ก่อนเที่ยงวันนั้นคนไทยต่างเฝ้ารอคอยด้วยใจจดใจจ่อ เพราะข่าวปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญที่ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในรอบ ๔๐ ปี เป็นข่าวดังทั่วประเทศ เมื่อใกล้ถึงเวลาท้องฟ้าเริ่มค่อยๆมืดลง ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนที่เข้าบังดวงอาทิตย์ทำให้เกิดเงามืดบนพื้นโลก จนในที่สุดเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาทุกคู่ที่เฝ้าดู คือ ปรากฏการณ์หัวแหวนที่เปล่งประกายสว่างจ้าดั่งประกายสะท้อนแสงของหัวแหวนเพชร ที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลลี่ (Baily’s beads) ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ ๒-๓ นาที ท่ามกลางเสียงร้องฮือฮาของทุกคนที่เฝ้าดูปรากฏการณ์ดังกล่าว จากนั้นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังสนิทเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ท้องฟ้ามืดมิดคล้ายตอนกลางคืน เหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ในเช้าวันนั้น สำหรับผมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นประทับใจมากด้วยตระหนักว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสพบเห็นได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต และทุกวันนี้ยังจำได้ดีถึงความรู้สึกตื้นเต้นกับเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างไม่ลืมเลือน
update 4 มิถุนายน 2563
บันทีกความทรงจำถึงสุริยุปราคา พ.ศ. 2538
โดย ผศ. ดร. เรืองศักดิ์ ทรงสถาพร
เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ผู้เขียนขณะนั้นรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ได้ออกเดินทางจาก มธ. ท่าพระจันทร์ พร้อมกับคณาจารย์ บุคลากร และครอบครัวของ มธ. จำนวนประมาณ 60 คน มุ่งหน้าสู่จังหวัดลพบุรี ทัศนศึกษาพระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์โดยมีวิทยากรจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ให้คำบรรยายถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีและทรงพัฒนาจนมีความรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางค้าการปกครองและยังได้ทรงส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระองค์ยังทรงสนพระทัยในการศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ รวมทั้งดาราศาสตร์และมีหลักฐานว่าพระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำหนักเย็นทะเลชุบศรลพบุรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231
จากลพบุรีคณะก็เดินทางเรียนรู้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดพิษณุโลกและกำแพงเพชรจนสิ้นสุดวันก็เดินทางเข้าที่พักในจังหวัดกำแพงเพชรโดยมีแผนการทัศนศึกษาว่าจะไปสังเกตุปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันถัดไปที่โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม
ในตอนเย็นของวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2538 นั้น ผู้เขียนและทีมงานได้จัดการบรรยายให้กลุ่มร่วมทัศนศึกษาได้เข้าใจว่าสุริยุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมหากพลาดโอกาสครั้งนี้จะต้องรออีก 75 ปี จึงจะเกิดขึ้นอีกครั้งเหนือท้องฟ้าประเทศไทย และที่สำคัญที่สุดคือวิธีการสังเกตที่ถูกต้องและปลอดภัย ผู้เขียนยังได้เน้นให้ทุกคนเตรียมสังเกตปรากฏการณ์สำคัญ 3 อย่าง ที่จะเกิดขี้นเมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง คือ
ผู้เขียนจำได้ว่าแม้ทุกคนจะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางแต่เห็นชัดถึงความสนใจความกระตือรือร้นใคร่รู้โดยเฉพาะจากเหล่าเด็กๆ ที่ร่วมเดินทางไปด้วย ต่างแย่งกันยกมือถามด้วยประกายตาแห่งความอยากรู้อยากเข้าใจอย่างยิ่ง
วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2538 กลุ่มก็รีบออกเดินทางแต่เช้าเพื่อไปที่โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมที่ทางทีมงานได้ประสานงานขอใช้สถานที่ไว้แล้ว พบว่าที่โรงเรียนมี ครู-อาจารย์ นักเรียน และผู้ปกครองจำนวนมากก็มาเฝ้ารอสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้จนเต็มพื้นที่โรงเรียน ผู้เขียนได้ใช้ช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อบรรยายวิธีการเฝ้าดูสุริยุปราคาที่ปลอดภัยแก่ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้น และพบว่าส่วนใหญ่ได้เตรียมแว่นกรองแสงและอุปกรณ์อื่นๆ มาพร้อม แต่ยังมีนักเรียนบางคนที่ไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมซึ่งทางกลุ่มทัศนศีกษาได้เตรียมแว่นกรองแสงเพื่อแจกจ่ายจำนวนหนี่ง ผู้เขียนยังได้แนะนำว่าหากไม่มีอุปกรณ์การดูจริงๆ แล้ว ก็ยังสามารถเฝ้าดูอย่างปลอดภัยก็คือให้ไปยืนดูใต้ต้นไม้ พอช่วงเกิดสุริยุปราคาแสงอาทิตย์จะส่องผ่านรูใบไม้หรือช่องว่างระหว่างใบซึ่งก็คล้ายๆกับเป็นกล้องรูเข็มจะทำให้สามารถเห็นภาพเงาของสุริยุปราคาบนพื้นหรือหากเอากระดาษขาวแผ่นใหญ่วางไว้บนพื้นก็สามารถเห็นการเกิดสุริยุปราคาได้เช่นกัน
เมื่อถึงเวลาประมาณ 9 นาฬิกา 25 นาที สามารถสังเกตุเห็นเงาดวงจันทร์เริ่มสัมผัสภาพผิวดวงอาทิตย์ที่นักดาราศาสตร์ เรียกว่า การสัมผัสครั้งแรก (First contact) โดยการสัมผัสเริ่มด้านบนค่อนทางขวาเล็กน้อยของภาพดวงอาทิตย์ ผู้เขียนมีข้อเสียใจอย่างยิ่งที่ไม่สามารถเสนอรายละเอียดของปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์เพราะมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 ได้ทำลายห้องปฏิบัติการอุปกรณ์เครื่องมือและเอกสารต่างๆจำนวนมากซึ่งรวมทั้งข้อมูลการศึกษาสุริยุปราคาเต็มดวงปี พ.ศ. 2538 ไปจนหมด ผู้เขียนยังจำภาพความเสียหายในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดีจำได้ว่าห้องทำงานของผู้เขียนต้องจมอยู่ใต้น้ำด้วยระดับควาสูงของน้ำถึง 2 เมตรเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ทำให้ภาพถ่ายฟิล์มภาพสุริยุปราคาเต็มดวงถูกทำลายสิ้น เป็นการย้ำเตือนว่ามนุษย์ต้องเรียนรู้เข้าใจธรรมชาติและปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติไม่พยายามฝืนธรรมชาติ
แต่ถึงอย่างไรผู้เขียนยังจำปรากฏการณ์ที่สุดประทับใจครั้งนั้นได้ว่าหลังจากเกิดการสัมผัสครั้งแรกแล้วเงาดวงจันทร์ก็ค่อยๆ เคลื่อนเข้าบดบังดวงอาทิตย์จากด้านบนลงล่าง ดวงอาทิตย์ก็ค่อยๆ มืดลงทีละน้อยอุณหภูมิรอบตัวก็เริ่มเย็นลงประมาณ 3 องศาเซลเซียส สังเกตุเห็นฝูงนกบินกลับรัง ผู้คนรอบตัวก็เริ่มตื่นเต้นอย่างยิ่งจนเวลาประมาณ 10 นาฬิกา 44 นาที ก็ได้เห็นปรากฏการณ์แหวนเพชรขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหัวเพชรปรากฏอยู่ตอนเหนือค่อนไปทางขวาของภาพดวงอาทิตย์ซึ่งในตอนนั้นรอบๆ ตัวผู้เขียนได้ยินแต่เสียงอุทานขึ้นพร้อมๆ กันด้วยความประทับใจที่ได้เห็นภาพแหวนเพชร หลังจากนั้นอีกประมาณสิบถึงยีสิบวินาที เสียงอุทานยิ่งดังขึ้นเพราะขณะนั้นสามารถเห็นลูกปัดของเบลีย์รอบภาพดวงอาทิตย์ที่มืดเกือบสนิท แล้วผ่านไปอีกไม่กี่สิบวินาทีทุกคนก็ต้องอุทานเสียงดังอีกครั้งเพราะได้เห็นโคโรน่าของดวงอาทิตย์สว่างชัดเจนมากรอบภาพดวงอาทิตย์ที่มืดเพราะเงาดวงจันทร์บังสนิทแล้ว ทุกคนได้ดื่มด่ำกับความงดงามของโคโรน่าอยู่ประมาณ 1 นาที 52 วินาที เงาดวงจันทร์เคลื่อนลงทางใต้ของดวงอาทิตย์จนสามารถเห็นลูกปัดของเบลีย์อีกครั้ง ตามมาด้วยปรากฏการณ์แหวนเพชรครั้งที่สองโดยหัวเพชรเห็นได้ทางใต้ค่อนไปทางซ้ายของภาพดวงอาทิตย์ จนกระทั่งเวลาประมาณ 12 นาฬิกา 32 นาทีดวงอาทิตย์ก็กลับมาสว่างดังเดิมนับเป็นการสิ้นสุดของสุริยุปราคา พ.ศ. 2538 ผู้เขียนตระหนักดีว่านี่จะเป็นการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือท้องฟ้าไทยเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตเพราะจะเกิดอีกครั้งในอีก 75 ปีข้างหน้า
ผู้เขียนได้เห็นอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งกำลังยืนซับน้ำตาอยู่ ผู้เขียนจึงรีบเข้าไปถามหาสาเหตุ ท่านอาจารย์ตอบกลับว่า “(ดิฉัน) ไม่สามารถกลั้นน้ำตาแห่งความตื้นตันเมื่อได้เห็นความงดงามน่ามหัศจรรย์ของสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้มากและต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ที่ทำให้ (ดิฉัน) ได้เห็นความงามสุดประทับใจครั้งนี้ที่นับได้ว่าเป็นครั้งหนึ่งและครั้งเดียวในชีวิต” คำตอบสั้นๆ นี้ ทำให้หัวใจของผู้เขียนพองโตด้วยความปลื้มปิติและจะอยู่ในความทรงจำตลอดไป
update 2 มิถุนายน 2563
| |
สุริยุปราคาเต็มดวง 24 ตุลาคม 2538 ในความทรงจำ
ศรัณย์ โปษยะจินดา
24 ตุลาคม 2538 - ความรู้สึกในวัยเด็กของผู้เขียนช่วงประมาณปี 2518-2519 ช่างรู้สึกว่ามันเป็นวันที่ช่างแสนห่างไกลไปในอนาคต ผู้เขียนเพิ่งเริ่มหัดดูดาว และได้อาศัยข้อมูลซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคนั้น จากการไปท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ หนึ่งในไม่กี่แหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย เด็กทุกคนเคยเรียนเรื่องราวการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา-สุริยุปราคา แต่เราก็รู้เพียงแค่ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ เกิดจากการที่โลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันเท่านั้น อย่างไรก็ดี ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ มีการแสดงภาพถ่ายของวัตถุท้องฟ้าที่น่าตื่นตาตื่นใจในขณะนั้น ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายสุริยุปราคาเต็มดวงจากต่างประเทศ และเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และบนบอร์ดหนึ่งซึ่งผู้เขียนจำได้ มีข้อความว่า สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในวันที่ 24 ตุลาคม 2538
วันเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงอันสุดแสนมหัศจรรย์ครั้งนั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็น ผ่านไปเกือบ 25 ปีเต็มแล้ว ในระยะเวลาเกือบ 25 ปีนั้น สุริยุปราคาเต็มดวงได้พาผู้เขียนไปยังดินแดนที่ห่างไกลใน 6 ทวีปบนโลกใบนี้อีกรวม 12 ครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ยืนอยู่ใต้เงามืดของดวงจันทร์ที่ทอดลงมาสัมผัสพื้นโลก รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้นมากกว่าครึ่งชั่วโมง ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในแต่ละครั้ง มีความแตกต่างกัน ทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้คนรอบตัวเราที่เฝ้ารอ รวมถึงรูปร่างของโคโรนาซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ ไม่เหมือนกันแม้แต่ครั้งเดียว
การเตรียมตัวและเตรียมใจ
ผู้เขียนเตรียมการสังเกตการณ์เป็นเวลามากกว่า 1 ปี อย่างรอบคอบ สั่งซื้อหนังสือตำราต่าง ๆ เกี่ยวกับสุริยุปราคาจากต่างประเทศมาอ่านให้เกิดความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการถ่ายภาพซึ่งมีความซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากคราสเต็มดวงจะเกิดนานแค่ 1 นาที 52 วินาที จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการเลือกอุปกรณ์ ทางยาวโฟกัสของกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ ชนิดของฟิล์ม รวมถึงจะต้องทราบความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมในการบันทึกภาพปรากฏการณ์ย่อยต่าง ๆ เช่น ลูกปัดของเบลีย์ (Bailey’s Beads) ปรากฏการณ์แหวนเพชร (Diamond Ring) โคโรนาด้านในและด้านนอกของดวงอาทิตย์ การจะบันทึกสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเสี้ยววินาที จำเป็นต้องมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี และจากประสบการณ์ที่ได้รับรู้จากหนังสือต่าง ๆ ผู้เขียนทราบดีว่า ความรู้สึก ความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นขณะที่คราสกำลังค่อยๆดำเนินไป อาจทำให้เราหลงลืมเทคนิคต่าง ๆ ที่ต้องใช้ หากเตรียมการมาไม่ดีพอ
กล้องโทรทรรศน์ใหญ่ที่สุดที่ผู้เขียนมีในขณะนั้นได้แก่กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว ทางยาวโฟกัส 2000 มม. ซึ่งผู้เขียนใช้มาตั้งแต่ปี 2535 เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ลดความยาวโฟกัส จะทำให้ทางยาวโฟกัสลดลงเหลือ 1280 มม. ที่อัตราส่วนทางยาวโฟกัส 6.3 ผู้เขียนเลือกใช้กล้องถ่ายภาพนิคอน F3 ที่ใช้มานานกว่า 10 ปีและติดตั้งมอเตอร์ไดรฟ์ขึ้นฟิล์มอัตโนมัติ ในยุคของฟิล์ม 135 เรามีโอกาสถ่ายภาพโดยไม่เปลี่ยนฟิล์มม้วนใหม่เพียงแค่ 36-38 ภาพเท่านั้น การถ่ายภาพสุริยุปราคาเต็มดวง ไม่จำเป็นต้องใช้ฟิล์มที่ไวแสงมาก เนื่องจากมีความสว่างพอสมควร จึงเลือกใช้ฟิล์มโกดัก ISO100 ผู้เขียนฝึกซ้อมการถ่ายภาพ เริ่มตั้งแต่ใส่ฟิลม์ม้วนใหม่ก่อนคราสเต็มดวง 2 นาที จากนั้นถอดฟิลเตอร์กลองแสงออกจากหน้ากล้องก่อนเกิดคราสเต็มดวงครึ่งนาที การกดสายลั่นชัตเตอร์ในยุคนั้น ต้องทำไปพร้อมๆกับการหมุนปุ่มเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์เหมาะสมในการจับภาพลูกปัดของเบลีย์ และปรากฏการณ์แหวนเพชร ที่เกิดในช่วงเสี้ยววินาทีก่อนคราสเต็มดวง จากนั้นต้องเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ เพื่อบันทึกภาพโคโรนา ผู้เขียนซ้อมขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้แทบทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือนก่อนถึงวันสำคัญ
แนวคราสเต็มดวงซึ่งก็คือเงามืดของดวงจันทร์นั้น เดินทางบนพื้นโลกจากทิศตะวันตกไปทางตะวันออกเสมอด้วยความเร็วหลายเท่าของความเร็วเสียง ในวันที่ 24 ตุลาคม 2538 เงามืดสัมผัสแผ่นดินไทยจุดแรกที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นพาดผ่านกำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ก่อนที่จะเข้าสู่ประเทศกัมพูชา หลายเดือนก่อนหน้านั้น ผู้เขียนคิดว่า อ.เมือง นครสวรรค์ น่าจะมีความเหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้แนวกึ่งกลางคราส และเนื่องจากขณะเกิดปรากฏการณ์ สัมผัสแรก (First Contact) จะเกิดขึ้นในเวลา 9 นาฬิกาเศษ และก่อน 11 นาฬิกา (ขึ้นอยู่กับสถานที่) จะเกิดคราสเต็มดวง จนถึงสัมผัสที่สี่ (Fourth Contact) สิ้นสุดปรากฏการณ์ ในเวลาประมาณ 12 นาฬิกา 30 นาที ซึ่งมุมเงยของดวงอาทิตย์ จะอยู่ที่ 40-60 องศา
อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูฝนในปีนั้น เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด ซึ่งรวมถึงจังหวัดนครสวรรค์ด้วย ผู้เขียนจึงคิดว่า สถานที่สังเกตการณ์ที่เหมาะสม น่าจะเป็นที่ใดที่หนึ่งในเขตจังหวัดนครราชสีมามากกว่า เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านเกือบจะเป็นแนวตั้งฉากกับแนวคราสเต็มดวง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 80 กิโลเมตร ตั้งแต่ อ.ปากช่อง จนถึงส่วนใต้ของตัว อ.เมือง โดยเส้นกึ่งกลางคราส (Central Line) ที่ตัดกับถนนมิตรภาพ อยู่ใกล้เคียงกับแยกต่างระดับสีคิ้ว
ผู้เขียนเริ่มออกสำรวจสถานที่สังเกตการณ์ประมาณ 2 เดือนก่อนหน้าวันสำคัญในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หลายครั้งด้วยกัน จนในที่สุดได้ลองขับรถขึ้นไปบนภูเขาเตี้ยๆ ไม่ไกลจากแยกต่างระดับสีคิ้วในบริเวณวัดมอจะบก (วัดเขาเหิบ) มีความสูงจากที่ราบรายรอบประมาณ 50-60 เมตร ที่วัดเขาเหิบมีลานหินทรายไม่ลาดชันมากนักเต็มไปด้วยหลุม (Pothole) นับร้อยหลุม ขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโคราชจีโอพาร์ค) หลุมเหล่านี้ก็คือกุมภลักษณ์ที่เกิดจากการกัดกร่อนโดยก้อนหินขนาดเล็กเมื่อครั้งที่บริเวณนี้ยังอยู่ใต้แม่น้ำหรือลำธาร ลักษณะคล้ายหลุมที่สามพันโบก ด้านหน้าของลานนี้ มองเห็นอ่างเก็บน้ำซับประดู่ มองเห็นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างชัดเจน สามารถสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์เริ่มขึ้นจากขอบฟ้า และยังอยู่ห่างจากแนวกึ่งกลางคราสไม่ถึง 800 เมตร ผู้เขียนจึงขออนุญาตเจ้าอาวาส ว่าจะมาตั้งอุปกรณ์สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 24 ตุลาคม
ภาพลานกุมภลักษณ์วัดเขาเหิบ มาจาก
Khoratfossil.org/museum/download/khoratgeopark.pdf
วันสำคัญ
ก่อนเกิดปรากฏการณ์ สื่อมวลชนทำการประชาสัมพันธ์มากมาย คนไทยมีความตื่นตัวและเฝ้ารอปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ผู้เขียนคาดว่ามีคนไทยนับล้านคนได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ด้วยตัวเอง ที่พักในบริเวณใกล้เคียงกับแนวคราสเต็มดวงถูกจองล่วงหน้าแม้ว่าสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ จะเกิดขึ้นในวันอังคาร และไม่มีการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการแต่อย่างใด ทั้งที่ในวันจันทร์นั้นเป็นวันปิยะมหาราช ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้จาก NASA Solar Eclipse Bulletin (NASA RP 1344) ซึ่งจัดทำโดย Fred Espenak และ Jay Anderson มีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ รวมถึงสภาพอากาศเฉลี่ยจากข้อมูลย้อนหลังหลายสิบปี ซึ่งแสดงให้ทราบว่าตามแนวคราสเต็มดวงที่ผ่านประเทศไทย มีโอกาสที่จะมีเมฆปกคลุมประมาณร้อยละ 60 ทำให้นักดาราศาสตร์จำนวนมาก เลือกที่จะไปสังเกตการณ์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของเมฆที่ปกคลุมต่ำกว่าไทยมาก แม้ว่าเวลาที่เกิดคราสเต็มดวงจะสั้นกว่าไทยพอสมควรก็ตาม (ในอินเดียคราสเต็มดวงนานสุดประมาณ 1 นาที เทียบกับในไทย 1 นาที 53 วินาที)
ประมาณ 4-5 วันก่อนหน้าวันสำคัญ หลังจากเฝ้ารอติดตามการรายงานอากาศจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตและจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้เราทราบดีว่าประเทศไทยจะมีโอกาสดีมากเนื่องจากมีความกดอากาศสูงกำลังแรงแผ่ลงมา ทำให้อากาศเย็นและแห้ง แทบจะปราศจากเมฆรบกวนตลอดแนวคราสเต็มดวง
ในคืนก่อนหน้าปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ผู้เขียนและครอบครัวได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร โดยได้นัดหมายกับเพื่อนร่วมงานจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติประมาณ 20 คน โดยมีจุดนัดพบที่ปั๊มน้ำมันบางจาก เลยอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปไม่ไกลนักในเวลาประมาณ 3 นาฬิกา จากนั้นก็เดินทางไปยังวัดเขาเหิบเพื่อติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ 2 กล้อง ได้แก่กล้อง Meade 8” SCT ที่ใช้ถ่ายภาพนิ่ง มีกล้องวิดีโอ Panasonic VHS-C ติดอยู่บนกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ด้วย กล้องโทรทรรศน์อีกกล้องได้แก่กล้องโทรทรรศน์ Pentax ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 มม. ที่ใช้ติดตามปรากฏการณ์คราสบางส่วนด้วยการฉายภาพผ่านเลนส์ตาลงบนฉากรับสีขาว การติดตั้งกล้องเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ซึ่งผู้เขียนได้ทดลองใช้กล้องติดตามดาวสว่างต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ในยุคของวินโดวส์ 3.1 มีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการช่วยสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ไม่มากนัก ผู้เขียนใช้ The Sky (Software Bisque) ในการจำลองการเกิดคราสครั้งนี้บนคอมพิวเตอร์ที่ตั้งไว้ข้างกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงตั้งนาฬิกาเตือน (Timer) การเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ของปรากฏการณ์ไว้ด้วย ซึ่งในยุคก่อนที่จะมี GPS ใช้อย่างแพร่หลาย ผู้เขียนต้องนำค่าขอบเขตของแนวคราสเต็มดวงที่ได้จาก NASA Bulletin มาพล็อตลงในแผนที่ของกรมทางหลวง ซึ่งทำให้ทราบค่าพิกัดของจุดสังเกตการณ์ได้ละเอียดในระดับหนึ่ง
ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น อากาศในเช้าวันนั้นถือว่าเย็นทีเดียว อุณหภูมิประมาณ 18 องศาเซลเซียส จากนั้นค่อยๆอุ่นขึ้นทีละน้อยเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ก่อนถึงสัมผัสแรก (เริ่มต้นสุริยุปราคาบางส่วน) ผู้เขียนทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้แน่ใจว่าทุกอย่างทำงานได้ดี ระหว่างนั้นเริ่มมีผู้คนนับร้อยเข้ามาร่วมชมปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ในบริเวณลานกุมภลักษณ์ เมื่อเริ่มเกิดปรากฏการณ์ ยังสังเกตขอบดวงจันทร์ที่สัมผัสขอบดวงอาทิตย์ได้ยากเสมอ เมื่อคราสบางส่วนดำเนินไปเรื่อยๆ เริ่มเกิดปรากฏการณ์เงาเสี้ยวทะลุใบไม้ในบริเวณใกล้เคียงทั่วไปหมด ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ไปมากกว่าครึ่ง ท้องฟ้าจะเริ่มมีสีฟ้าเข้มขึ้นจาการเกิดโพลาไรเซชั่นของแสงอาทิตย์ แม้ว่าความสว่างของแสงจะลดลงไป แต่ความรู้สึกแตกต่างจากวันที่มีเมฆบดบัง ความรู้สึกขณะนั้นบรรยายได้ยาก ผู้เขียนเคยอ่านวารสาร Sky and Telescope และ Astronomy บางบทความกล่าวไว้ว่าในช่วงเกิดคราสบางส่วน เราจะเกิดรู้สึกว่าภาพที่เรารอบๆ ตัวเรามันแปลกแบบชวนขนลุก (Eerie) เมื่อเรากำลังเข้าไปอยู่ในเงามัว (Penumbra) ของดวงจันทร์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากแหล่งกำเนิดแสง (ดวงอาทิตย์) เปลี่ยนรูปร่างจากวงกลมกลายเป็นเสี้ยว นอกจากนี้หากสังเกตดีๆ เงาของตัวเราบนพื้น ซึ่งเดิมมีขอบเงาที่เบลอๆ ก็เริ่มคมชัดขึ้นด้วย
ก่อนคราสเต็มดวงประมาณ 2 นาที ผู้เขียนได้ใส่ฟิล์มม้วนใหม่เตรียมพร้อมไว้ และตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อรอถ่ายแหวนเพชรในท้องฟ้า ในช่วงนั้นอากาศเริ่มเย็นลงอย่างรู้สึกได้ชัดเจน ลมสุริยุปราคา (Eclipse Breeze) ซึ่งเกิดจากการที่เราอยู่ในเงาของดวงจันทร์ ทำให้มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณที่ไกลออกไป เริ่มพัดแรงขึ้น จนเกือบจะเป็นลมกระโชก (Gust) ก่อนถึงเวลาเต็มดวงประมาณครึ่งนาที ผู้เขียนก็ได้ถอดฟิลเตอร์กรองแสงออกจาหน้ากล้องทั้งหมดตามที่ได้ซ้อมไว้ แต่ความตื่นเต้นและเสียงผู้คนที่โห่ร้อง ทำให้สายตาจับจ้องอยู่ที่ดวงอาทิตย์ ลืมสังเกตปรากฏการณ์ทางแสงที่สำคัญที่เกิดขึ้นบนพื้นในช่วงนั้น ได้แก่แถบเงา (Shadow Bands) ทั้งช่วงก่อนและหลังคราสเต็มดวง
ปรากฏการณ์แหวนเพชร คือสิ่งที่ผู้คนที่เคยชมสุริยุปราคาเต็มดวงจะจดจำได้นานแสนนาน ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะเมื่อเราสามารถมองดวงอาทิตย์ได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้ฟิลเตอร์ ในช่วง 1-2 วินาทีก่อนคราสเต็มดวง เรายังเห็นแสงจ้าจากผิวดวงอาทิตย์ส่วนสุดท้ายที่ยังไม่ถูกบดบัง สว่างเหมือนเพชรเม็ดงาม โดยมีวงกลมสีดำ ซึ่งก็คือด้านมืดของดวงจันทร์ เป็นเรือนแหวนของเพชรเม็ดนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงคราสเต็มดวง ผู้คนโห่ร้องด้วยความตื่นเต้น ภาพวงสีดำของดวงจันทร์ที่บดบังดวงอาทิตย์ที่อยู่ตรงหน้า เผยให้เห็นโคโรนาซึ่งพุ่งออกมาเป็นสองแฉกจากขอบดวงอาทิตย์ตามแนวเส้นศูนย์สูตรอย่างชัดเจน มีเส้นสายภายในโคโรนาที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่ฟิล์มไม่สามารถบันทึกได้ ที่ขอบของดวงจันทร์มีจุดสว่างสีแดงหลายแห่ง ซึ่งก็คือ Solar Prominences ที่พุ่งออกมาจากบางบริเวณที่มีความผันผวนของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ เห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนขณะที่เกิดคราสเต็มดวงเท่านั้น ผู้เขียนได้แต่ตะโกนร้องด้วยความตื่นเต้น (ฟังจากวิดีโอที่บันทึกไว้) ท้องฟ้าที่มืดในขณะนั้นไม่ได้มืดสนิทเสียทีเดียว แต่ก็เพียงพอที่จะเห็นดาวสว่างได้หลายดวง โดยเฉพาะดาวศุกร์และดาวพุธ ซึ่งปรากฏอยู่ไม่ไกลจากดวงอาทิตย์มากนัก อีกปรากฏการณ์ทางแสงอีกอันหนึ่งที่เห็นได้เฉพาะขณะเกิดคราสเต็มดวงเท่านั้น ได้แก่แสงสนธยา 360 องศา เกิดที่ขอบฟ้าโดยรอบ เนื่องจากขณะนั้นเรายืนอยู่ในเงามืดของดวงจันทร์ซึ่งมีรูปร่างเป็นวงรีบนพื้นโลก นอกบริเวณเงามืดนั้นยังได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์อยู่บางส่วน จำได้ว่าความรู้สึกขณะนั้น ตื่นเต้นมากที่สุดแม้ว่าจะได้อ่านหนังสือต่างๆมามากมาย แต่ปรากฏการณ์นี้ทั้งเห็นได้ด้วยตาและรู้สึกได้ด้วยตัวจากลมที่เย็นยะเยือกพัดแรงมากจนฟิลเตอร์กระดาษที่เปิดออกจากหน้ากล้องวิดีโอ โดนพัดกลับมาบังหน้ากล้องโดยไม่รู้ตัว กล้องวิดีโอที่ขี่หลังกล้องโทรทรรศน์อยู่จึงบันทึกภาพได้แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งในช่วงคราสเต็มดวง แม้ว่าจะบันทึกเสียงร้องของผู้คนได้ตลอดเหตุการณ์ก็ตาม
คราสเต็มดวงสิ้นสุดลงหลังจากผ่านคราสเต็มดวงไปในเวลา 1 นาที 52 วินาที ด้วยการเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชรอีกครั้งหนึ่งทันทีหลังสัมผัสที่ 3 ผู้คนตะโกนร้องที่ได้เห็นเพชรเม็ดงามครั้งสุดท้าย ก่อนที่แสงสว่างของดวงอาทิตย์จะสว่างขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องใส่ฟิลเตอร์กรองแสงดู เหตุการณ์หลังจากนั้นเสมือนการฉายหนังย้อนกลับ และในช่วงคราสบางส่วนช่วงสุดท้าย ผู้เขียนยังทำการถ่ายภาพคราสบางส่วนต่อจนจบ ขณะที่ผู้คนเริ่มทะยอยกลับออกจากลานกุมภลักษณ์นี้ นำกลับไปแต่ความทรงจำที่ไม่มีวันลืม ทุกคนที่ได้เห็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ในวันนั้นต่างรู้สึกประทับใจ
ภาพปรากฏการณ์เงาเสี้ยว
ภาพการฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์
ตารางแสดงรายละเอียดเหตุการณ์หลักของปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่จุดสังเกตการณ์วัดเขาเหิบ (ละติจูด 14 องศา 51.12 ลิปดา เหนือ ลองจิจูด 101 องศา 40.75 ลิปดา ตะวันออก สูง 281 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คราสเต็มดวงนาน 1 นาที 52 วินาที
เหตุการณ์ |
เวลา |
มุมอัลติจูด (องศา) |
มุมอะซิมุธ (องศา) |
เริ่มต้นคราสบางส่วน |
09:22:37 |
43 |
122 |
เริ่มต้นคราสเต็มดวง |
10:51:43 |
59 |
147 |
สิ้นสุดคราสเต็มดวง |
10:53:35 |
59 |
148 |
สิ้นสุดคราสบางส่วน |
12:31:39 |
62 |
198 |
ปัจฉิมลิขิต
ทันทีที่กลับมาถึงกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนรีบเอาฟิล์มไปล้างและอัดขยายภาพต่าง ๆ ออกมา ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง จำได้ว่านอกจากการนำฟิล์มไปล้าง ผู้เขียนรีบศึกษารายละเอียดของการเกิดคราสเต็มดวงในอนาคต และเฝ้ารอที่จะได้เห็นปรากฏการณ์อันสุดมหัศจรรย์นี้อีก นับถึงปัจจุบัน สุริยุปราคาเต็มดวงได้พาผู้เขียนไปยังดินแดนห่างไกล ได้แก่ โรมาเนีย (2542) แซมเบีย (2544) อัฟริกาใต้ (2545) ตุรกี (2549) รัสเซีย (2551) จีน (2552) ออสเตรเลีย (2555) นอร์เวย์ (2558) อินโดนีเซีย (2559) สหรัฐอเมริกา (2560) และชิลี (2562) จนรู้สึกว่า การติดตามสุริยุปราคา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ผู้เขียนจะพยายามทำให้ได้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ รวมทั้งจะเฝ้ารอชมปรากฏการณ์นี้อีกครั้งในผืนแผ่นดินไทยที่จะเกิดที่ ต.หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 11 เมษายน 2613
update 21 พฤษภาคม 2563
| |