ที่มาของเกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์” (Imkan al-Rukyah/expected visibility)  ความเป็นไปได้ที่สามารถมองเห็นจันทร์เสี้ยวในมาเลเซีย

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศมุสลิมที่นำการคำนวณมาใช้กําหนดวันแรกของเดือนตามปฏิทินอิสลามร่วมกับ “รุกยะห์” (Rukyah) หรือ การมองเห็นด้วยตาเปล่า โดยใช้หลักการคำนวณตามเกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์” (Imkan al-Rukyah/expected visibility) คือ ความเป็นไปได้ที่สามารถมองเห็นจันทร์เสี้ยว  จันทร์เสี้ยวจะถูกรับรองว่าเห็น เมื่อเป็นตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ต่อไปนี้

as20210720 1 01

ที่มา:https://www.astroawani.com/berita-malaysia

 

(ก) ขณะที่ดวงอาทิตย์ตก

- มุมเงยของจันทร์เสี้ยว (Altitude) จะต้องไม่น้อยกว่า 2 องศา

- ระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (Elongation) ไม่น้อยกว่า 3 องศา

(ข) ขณะที่ดวงจันทร์ตก

- อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง

 

as20210720 1 02 

ที่มา : https://www.researchgate.net/publication/319873512_The_Impact_of_Light_Pollution_on_Islamic_New_Moon_hilal_Observation/figures

 

ที่มาของเกณฑ์อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง

เกณฑ์อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง มาจากการเสนอของ  “มูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ” (Md. Khair Md. Taib)  ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย (Technology Malaysia University )  โดยมีหลักฐานที่สนับสนุนว่าเขาคือผู้เสนอเกณฑ์นี้   คือหนึ่ง มูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ คือ หนึ่งในตัวแทนของมาเลเซียที่เข้าร่วมประชุมวิชาการระหว่างประเทศเพื่อกำหนดวันเริ่มต้นของเดือนอิสลาม ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1978  พร้อมกับ “อับดุล ฮามิด มูฮัมหมัด ตอฮีร” (Abdul Hamid Mohd Tahir)   และ “โมเซ็น ซอและห์” (Mohsien Salleh)  โดยมีข้อตกลงร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ ที่เรียกว่า Istanbul Resolution  คือ เกณฑ์พิจารณาเพื่อรับรองว่าเห็นจันทร์เสี้ยว  จะเป็นตามเงื่อนไข 2 ประการดังต่อไปนี้  

  1.  ขณะที่ดวงอาทิตย์ตก ค่าระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่น้อยกว่า 8 องศา 
  2.  มุมเงยของจันทร์เสี้ยวจะต้องไม่น้อยกว่า 5 องศา ขณะดวงอาทิตย์ตก

ในการประชุมวิชาการครั้งนี้  มูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ เสนอว่า Istanbul Resolution ควรเพิ่มเกณฑ์ข้อที่ 3 คือ อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง หลังจากเกิด Conjunction (ดวงจันทร์ปรากฏใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงจันทร์ดับ)  

และมูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ เพิ่มเกณฑ์ข้อเดียวกันนี้ในงานเขียนของเขา ในปี 1987  พร้อมทั้งเสนอเกณฑ์ข้อนี้ในการประชุมวิชาการดาราศาสตร์อิสลาม ในการอภิปรายเรื่องจันทร์เสี้ยว       และส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการศูนย์กลางมุสลิมกัวลาลัมเปอร์ เพื่อใช้สามเกณฑ์นี้ (2 เงื่อนไข Istanbul Resolution และอายุดวงจันทร์ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง) ในการพิจารณาการเห็นจันทร์เสี้ยว

แต่ในทางกลับกัน  อ้างอิงจาก “อับดุลเลาะห์ อิบรอฮีม” (Abdullah Ibrahim)  ประธานสมาคมดาราศาสตร์อิสลามมาเลเซีย  กล่าวว่า ในงานเสวนาประเด็นเกณฑ์การพิจารณาจันทร์เสี้ยว “อับดุล ฮามิด มูฮัมหมัด ตอฮีร” หนึ่งในตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมวิชาการที่นครอิสตัลบูล พร้อมกับมูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ  กล่าวถึงเพียง 2 เงื่อนไขของ Istanbul Resolution เท่านั้น  และงานเขียนของ “อับดุล ฮามิด มูฮัมหมัด ตอฮีร” ในปี 1991 ก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกัน ว่า เกณฑ์อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง หลังจากเกิด Conjunction (ดวงจันทร์ปรากฏใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงจันทร์ดับ) เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของ มูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ

โดยจากหลักฐานที่กล่าวมา  เกณฑ์อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง  หลังจากเกิด Conjunction (ดวงจันทร์ปรากฏใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงจันทร์ดับ) มาจากการเสนอของ  “มูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ” (Md. Khair Md. Taib)

 

ที่มาของเกณฑ์ มุมเงยของจันทร์เสี้ยวจะต้องไม่น้อยกว่า 2 องศา และระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่น้อยกว่า 3 องศา

หลังจากการประชุมวิชาการที่นครอิสตัลบูล คณะกรรมการพิจารณาการเห็นจันทร์เสี้ยวของมาเลเซีย  ได้ใช้เกณฑ์การพิจารณาจันทร์เสี้ยวสำหรับวันแรกของเดือนรอมฎอนและเชาวาล  ซึ่งตรงกับวันที่ 5 และ 25 เดือนเมษายน ค.ศ. 1983  โดยปรับเปลี่ยนจากเกณฑ์ Istanbul Resolution ดังต่อไปนี้ 

  1. ระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่น้อยกว่า 7.5 องศา ขณะที่ดวงอาทิตย์ตก
  2. มุมเงยของจันทร์เสี้ยวจะต้องไม่น้อยกว่า 5.5 องศา ขณะดวงอาทิตย์ตก
  3. อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง หลังจากเกิด Conjunction (ดวงจันทร์ปรากฏใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงจันทร์ดับ)

ซึ่งพบว่าเกิดปัญหาขัดแย้งในการกำหนดวันแรกของเดือนอิสลามในบางพื้นที่ของมาเลเซีย ตัวอย่างเช่น รัฐเประ (Perak) และยะโฮร์ (Johor) กำหนดวันแรกของเดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1403 ตรงกับวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1983  ในขณะรัฐอื่น ๆ เริ่มถือศีลอดวันแรก ในวันที่ 13 มิถุนายน ด้วยเหตุดังกล่าว ในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1989   กรมกิจการมุสลิม (Department of Muslim Affair)  ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแต่งตั้งกรรมการปรับปรุง (Revision Committee) และจัดประชุมกรรมการ โดยมี “อับดุล มาญิด อับดุล ฮามิด ” (Abd Majid  Abd Hamid) เป็นประธานกรรมการ  ลงความเห็นตรงกันว่า    เกณฑ์การพิจารณาจันทร์เสี้ยว Istanbul Resolution ไม่เหมาะสมและส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมุสลิมในมาเลเซีย

ทางคณะกรรมการมีการตรวจสอบเกณฑ์ Istanbul Resolution พบว่า เกณฑ์นี้ไม่สามารถนำมาใช้ที่ประเทศมาเลเซียได้ เนื่องจากเกณฑ์ข้างต้นอ้างอิงจาก Danjon’s Limit  ที่เก็บข้อมูลจากหอดูดาวคันดิลลี (Kandilli Observatory) ประเทศตุรกี มีตำแหน่งละติจูดที่ต่างจากประเทศมาเลเซียค่อนข้างมาก เมื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์ที่ประเทศมาเลเซียจึงเกิดปัญหาขึ้น รวมถึงคณะกรรมการได้ตรวจสอบบันทึกการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวของ Haron Din  ในปี ค.ศ.1983 และ Rasli Ramin ในปี ค.ศ.1981 และข้อมูลจากการประชุมวิชาการดาราศาสตร์อิสลาม   ในปี      ค.ศ.1987  พบว่าบันทึกดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ คณะกรรมการพบว่า บันทึกการสังเกตการณ์โดยสมาชิกของกรมกิจการศาสนา กรมสำรวจและทำแผนที่ และสมาชิกคณะกรรมการดาราศาสตร์อิสลามในประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 นั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งใช้เวลาเพียง 7 เดือน  เริ่มสังเกตการณ์ตั้งแต่ช่วงท้ายเดือนญามาดิลอาคิร (เดือนที่ 6 ของปฏิทินอิสลาม) ฮ.ศ.​ 1411 (15 - 16 มกราคม ค.ศ. 1991) จนถึงช่วงท้ายของเดือนซุลกออดะห์ (เดือนที่ 11 ตามปฏิทินอิสลาม) ฮ.ศ.​ 1411     (สังเกตการณ์ประมาณ 6 เดือนและวิเคราะห์ข้อมูลอีก 1 เดือน) การสังเกตการณ์เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นที่ “ปันไต รอมบัง” (Pantai Rombang) ในรัฐมะละกาเพียงแห่งเดียว และผลการสังเกตการณ์พบว่ามุมเงยของจันทร์เสี้ยวขณะดวงอาทิตย์ตกคือ 4° 46’ ในขณะที่ ค่ามุมเงยของจันทร์เสี้ยวที่สังเกตการณ์ คือ 1° 43’ และดวงจันทร์มีอายุ 15 ชั่วโมง 39 นาที ขณะดวงอาทิตย์ตก ซึ่งขัดแย้งกับเกณฑ์ของ Istanbul Resolution  

คณะกรรมการปรับปรุงจึงเสนอเพิ่มเติมว่า ควรนำข้อมูลการสังเกตการณ์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาพิจารณาด้วย คณะกรรมการจึงเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียเพื่อศึกษาข้อมูลบันทึกการสังเกตการณ์และเข้าร่วมการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวที่บริเวณ “เปอลาบูฮัน ราตู” (Pelabuhan Ratu) และ “คลันเดอร์” (Klander) รัฐจาการ์ตา (Jakarta)  พบว่ามีข้อมูลการสังเกตการณ์ของอินโดนีเซีย 29 ชุด ที่บันทึกการสังเกตการณ์ระหว่าง ปี ค.ศ.​ 1964 - 1990  แต่มีเพียงข้อมูลที่สมบรูณ์เพียง 12 ชุด

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1991 คณะกรรมการปรับปรุงจึงได้เสนอเกณฑ์​จาก เกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์ 2 - 3 - 8”  เพื่อใช้พิจารณาการเห็นจันทร์เสี้ยวของประเทศมาเลเซีย  ดังต่อไปนี้

(ก) ขณะที่ดวงอาทิตย์ตก

- มุมเงยของจันทร์เสี้ยว (Altitude) จะต้องไม่น้อยกว่า 2 องศา

- ระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (Elongation) ไม่น้อยกว่า 3 องศา

(ข) ขณะที่ดวงจันทร์ตก

- อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง

 

สรุปได้ว่า เกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์” อ้างอิงมาจากการประชุมสัมนาวิชาการที่นครอินตัลบูล ในปี ค.ศ.​ 1978 (Istanbul Resolution) และบันทึกข้อมูลสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวที่มองเห็นได้ที่ประเทศอินโดนีเซีย  และเกณฑ์อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง มาจากการเสนอของ  “มูฮัมหมัดคัยร์ มูฮัมหมัดตออิบ” (Md. Khair Md. Taib)  โดยในปี ค.ศ. 1995 มาเลเซียประกาศใช้เกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์” อย่างเป็นทางการ เพื่อพิจารณาวันเริ่มต้นของแต่ละเดือนในปฏิทินอิสลามในมาเลเซียจนถึงปัจจุบัน

นอกจากประเทศมาเลเซียแล้ว ยังมี อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ที่นำเกณฑ์นี้ไปใช้พิจารณาการเห็นจันทร์เสี้ยว  หรือเรียกว่า   MABIMS  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนาบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์  (Minister of Religion of Brunei, Indonisia, Malaysia and Singapore) แต่จะมีรายละเอียดในการใช้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ 

แต่อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์” ก็ไม่ได้สอดคล้องกับการเห็นจันทร์เสี้ยวด้วยตาเปล่า  มาเลเซียพยายามตรวจสอบและพัฒนาเกณฑ์นี้ให้สอดคล้องกับรุกยะห์ (การเห็นด้วยตาเปล่า) โดยมีการทำวิจัยและบันทึกข้อมูลการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวที่สามารถเห็นได้ โดยใช้เวลาเกือบ 20 ปี และงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 2020 (ผู้เขียนจะนำแชร์ในบทความถัดไป) เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ มาเลเซียจะมีการปรับเปลี่ยนการใช้เกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์” อย่างแน่นอน

 

เรียบเรียง: สุกัญญา มัจฉา - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง:

http://eprints.um.edu.my/15587/1/0001.pdf

http://repository.uin-malang.ac.id/6366/1/Ahmad%20Wahidi.pdf