27 เมษา ชวนกันมาถ่ายภาพดวงจันทร์ใหญ่ที่สุดในรอบปี

ในวันที่ 27 เมษายน 2564 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร (Perigee) ในช่วงเวลา 22.25 น. ตามเวลาประเทศไทย ในคืนวันดังกล่าวดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าช่วงปกติ 7.6 เปอร์เซ็นต์ หรือที่มักเรียกกันว่า “Super Full Moon”

001

 

ความพิเศษของดวงจันทร์ในวันเต็มดวงใกล้โลกมากที่สุด

002

 

          สำหรับความพิเศษของช่วงดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก คือเราจะเห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าช่วงปกติเล็กน้อย หากเราเฝ้าสังเกตดวงจันทร์ในช่วงที่กำลังโผล่จากขอบฟ้า เมื่อเทียบขนาดดวงจันทร์กับวัตถุที่อยู่บริเวณขอบฟ้าแล้วทำให้เรารู้สึกว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ นอกจากนั้นหากใครที่อยู่ใกล้กับทะเลยังมีโอกาสได้เห็นปรกฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง ที่สูงกว่าช่วงปกติด้วยเช่นกัน

 

ขนาด (Size)

          เราจะเห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าช่วงปกติเล็กน้อย โดยช่วงที่ใหญ่ที่สุดอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงที่เล็กที่สุดถึง 14 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นหากเราเฝ้าสังเกตดวงจันทร์ในช่วงที่กำลังโผล่จากขอบฟ้า เมื่อเทียบขนาดดวงจันทร์กับวัตถุที่อยู่บริเวณขอบฟ้าแล้วทำให้เรารู้สึกว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ แต่นั้นเป็นเพียงภาพลวงตา รู้จักกันในชื่อ Moon Illusion เนื่องจากดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้าที่เห็นด้วยตามักมีวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ จึงทำให้คนดูรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ แต่ในขณที่ดวงจันทร์อยู่กลางท้องฟ้ากลับทำให้ดูเหมือนว่าดวงจันทร์มีขนาดเล็ก เพราะไม่มีวัตถุใดมาเปรียบเทียบขนาดนั้นเอง

 

ความสว่าง (Brightness)

ในช่วง Super Full Moon ดวงจันทร์อาจมีความสว่างเพิ่มขึ้นได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น มีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นทำให้มีพื้นที่ในการสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์มากขึ้นนั่นเอง

         

เกร็ดความรู้เรื่อง “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี”

          ในแต่ละเดือนดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ดังนั้นวงโคจรที่เป็นวงรีจึงทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์นั้นไม่คงที่ ทำให้บางครั้งดวงจันทร์ก็จะอยู่ใกล้และบางครั้งก็จะอยู่ไกลโลก นักดาราศาสตร์ เรียกจุดที่ไกลที่สุดในวงโคจรระหว่างโลกกับดวงจันทร์นี้ว่า apogee ซึ่งอยู่ห่างจากโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร และเรียกจุดที่ใกล้ที่สุดว่า perigee ซึ่งเป็นระยะทางเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตรจากโลก โดยจะเกิดขึ้นอยู่ทุกๆ 27.3 วัน ตามคาบการโคจรของดวงจันทร์ไปรอบๆ โลก

 

003 03 

ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์แตกต่างกันไปแต่ละเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 356,400 และ 406,700 กิโลเมตร เนื่องจากวงโคจรรูปวงรีของดวงจันทร์

 

การนิยามของการเรียกชื่อ “Super Full Moon”

          คำว่า Super Full Moon นั้นก็ไม่ได้รับการยอมรับหรือใช้กัน ในเหล่านักดาราศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ โดยเป็นเพียงการตั้งชื่อช่วงเหตุการณ์ที่ “สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุด ในรอบปีเท่านั้น” แต่คำที่นักดาราศาสตร์ใช้กัน คือคำว่า "Perigee" ซึ่งเป็นจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดในวงโคจร

 

เทคนิคการถ่ายภาพ

004

 ตัวอย่างอุปกรณ์ถ่ายภาพดวงจันทร์ด้วยกล้องดิจิตอลกับกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้ได้ทางยาวโฟกัสสูง

 

          สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ในคืนวันเกิดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนที่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ก็สามารถเริ่มถ่ายภาพกันได้แล้ว โดยจะขอแนะนำหลักการเบื้องต้นง่ายๆ ดังนี้

  1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆ ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งหากสามารถถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ ก็จะทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า (ยิ่งมีทางยาวโฟกัสสูงๆ ยิ่งได้เปรียบ)
  2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป ซึ่งดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงๆ แต่การใช้ความไวแสงสูง ก็จะทำให้เราได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งช่วยทำให้ภาพไม่สั่นไหว
  3. การปรับโฟกัสภาพ ใช้ระบบ Live view ที่จอหลังกล้อง ช่วยการปรับโฟกัสให้คมชัดมากที่สุด โดยเลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด
  4. ปรับชดเชยแสงไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป โดยอาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบดูว่า ภาพเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่

 

005

ตัวอย่างการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวง ให้ได้แสงสว่างที่พอดีและเห็นรายละเอียดของหลุมอุกกาบาตที่ชัดเจน

 

  1. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล M ซึ่งในการถ่ายภาพด้วยโหมด M เราสามารถปรับตั้งค่าทั้งรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ได้สะดวก
  2. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s หรือมากกว่าซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี
  3. รูรับแสง อาจใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ
  4. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์
  5. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
  6. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format ความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

 

 006

การถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่และคล่องตัวในการถ่ายภาพ