หอดูดาวแห่งชาติชิลี : หอดูดาวภายใต้มหาวิทยาลัยเก่าแก่ และหน่วยงานที่เคยผลักดันให้นานาชาติสร้างหอดูดาวขนาดใหญ่ในประเทศ

เนื่องในโอกาสวันที่ 18 กันยายนของทุกปีเป็นวันชาติของชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งหอดูดาวขนาดใหญ่หลายแห่งของนานาชาติตั้งอยู่  NARIT จึงชวนมาดูเรื่องราวของของหนึ่งในหอดูดาวสำคัญของทางประเทศชิลี และเคยเป็นตัวกระตุ้นให้นานาชาติตั้งหอดูดาวในประเทศครับ

หอดูดาวแห่งชาติชิลี (OAN / Observatorio Astronómico Nacional de Chile) เป็นหอดูดาวที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1852 (หลังจากชิลีประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1818) ก่อนมาขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยชิลี มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศชิลี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1927 และมาตั้งอยู่ ณ เซร์โรกาลัน (Cerro Calán) เนินเขาทางตะวันออกของกรุงซานเตียโก (Santiago) เมืองหลวงของประเทศชิลี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ปัจจุบัน หอดูดาวแห่งนี้อยู่ภายใต้ภาควิชาดาราศาสตร์ คณะฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิลี

 

as20200916 2 01

ภาพถ่ายหอดูดาวแห่งชาติชิลี บนเนินเขาเซร์โร กาลัน แถบชานกรุงซานเตียโกในสมัยก่อน

[Credit ภาพ: OAN Archive]

 

หอดูดาวแห่งชาติชิลีเริ่มต้นจากคณะสำรวจของ James Melville Gilliss นักดาราศาสตร์ ทหารเรือและผู้ก่อตั้งหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เดินทางมายังชิลีเพื่อสังเกตการณ์ดาวศุกร์และดาวอังคารจากซีกโลกใต้ รวมถึงพารัลแลกซ์ของดวงอาทิตย์ (การเปลี่ยนตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์เมื่อผู้สังเกตการณ์สองคนอยู่ที่ตำแหน่งต่างกัน) คณะของ Gilliss ได้ตั้งอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เนินเขาซานตาลูเซีย (Santa Lucia) ใจกลางกรุงซานเตียโก หลังจากการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ของคณะ Gilliss แล้วเสร็จในปี ค.ศ.1852 อาคารและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ก็ถูกขายต่อให้กับรัฐบาลชิลี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหอดูดาวแห่งชาติชิลี

เนื่องด้วยที่ตั้งของหอดูดาวแห่งชาติชิลีมีปัญหาต่าง ๆ (อย่างเรื่องสภาพทางธรณีวิทยา หรือสภาพหมอก) ทำให้ต้องย้ายที่ตั้งหอดูดาวถึง 3 ครั้ง ปัจจุบันอยู่ที่เนินเขาเซร์โรกาลัน โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ทางผู้อำนวยการหอดูดาวแห่งชาติชิลีขณะนั้นได้ผลักดันให้ต่างชาติลงทุนมาสร้างหอดูดาวขนาดใหญ่ในทะเลทรายอาตากามาของชิลี จนได้หอดูดาวเซร์โรโตโลโลอินเตอร์อเมริกัน หรือ CTIO (ก่อตั้งปี ค.ศ.1962) และหอดูดาวลาซิยา (ก่อตั้งปี ค.ศ.1964) นอกจากนี้ การจัดตั้งหอดูดาวขนาดใหญ่ของต่างชาติในชิลียังส่งผลให้วงการดาราศาสตร์ของชิลีก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น อย่างเช่น

- ก่อตั้งภาควิชาดาราศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชิลี เมื่อปี ค.ศ.1965

- หอดูดาวของทางชิลีโดยตรงมักมีขนาดเล็ก เพราะกรณีหอดูดาวขนาดใหญ่นั้น ชิลีจะไปมีส่วนร่วมโครงการกับนานาชาติมากกว่า (ทางชิลีไม่ต้องลงทุนสร้างหอดูดาวขนาดใหญ่โดยตรงทั้งหมด) เช่น กรณีหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) รัฐบาลชิลีทำข้อตกลงกับทาง ESO เปิดโอกาสให้วงการดาราศาสตร์ชิลีได้มีช่วงเวลาใช้งานกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ของ ESO เพื่อการวิจัย ในฐานะที่ชิลีเปิดให้ทาง ESO ใช้พื้นที่สร้างหอดูดาว และชิลีไม่ได้เป็นชาติสมาชิกใน ESO หรือกรณีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA ที่สร้างบนพื้นที่ประเทศชิลี ผ่านความร่วมมือกับสหรัฐฯ แคนาดา ยุโรป ไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

- การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (Astrotourism) กลายเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งของประเทศชิลีในปัจจุบัน โดยการท่องเที่ยวตามหอดูดาวขนาดใหญ่ของนานาชาติในพื้นที่ประเทศชิลีเป็นหนึ่งในหัวข้อของการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ คู่กันกับการท่องเที่ยวเพื่อถ่ายภาพดาราศาสตร์ยามค่ำคืน สามารถดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่เวบไซต์การท่องเที่ยวชิลี ของฝ่ายบริการการท่องเที่ยวแห่งชาติภายใต้รัฐบาลชิลี

https://chile.travel/en/what-to-do/astrotourism/astronomical-facilities

 

 

สำหรับอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ใหญ่สุดของหอดูดาวแห่งชาติชิลี ประกอบด้วย

- กล้องโทรทรรศน์วิทยุ มีจานรับสัญญาณแบบแคสสิเกรนกว้าง 1.2 เมตร กล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวนี้เคยติดตั้งที่ CTIO เมื่อปี ค.ศ.1982 ใช้สังเกตการณ์ในช่วงคลื่นวิทยุที่ความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตร เพื่อศึกษาเมฆโมเลกุลในอวกาศ ก่อนย้ายลงมาที่หอดูดาวแห่งชาติชิลี เมื่อปี ค.ศ.2005

- กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสงแบบแคสสิเกรน ขนาดหน้ากล้องกว้าง 0.45 เมตร ทางญี่ปุ่นมอบให้ทางชิลี เมื่อปี ค.ศ.2002 ปัจจุบันใช้ในการเรียนการสอนระดับ ป.ตรี กับบัณฑิตศึกษา และใช้บริการวิชาการเมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมหอดูดาวจากภายนอก

ส่วนการบริการวิชาการที่หอดูดาวแห่งชาติชิลี ภายใต้ภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิลี จะเน้นไปที่การเปิดให้บริการผู้มาเยี่ยมชมจากภายนอกรายสัปดาห์ และคอร์สดาราศาสตร์สำหรับเยาวชน

 

ที่มา :

https://en.wikipedia.org/wiki/National_Astronomical_Observatory_(Chile)

 

แปลและเรียบเรียง

พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ