จันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เพื่อกำหนดเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) ฮ.ศ. 1441

เนื่องจากวันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ตรงกับวันที่ 1 ซุลกอดะห์ (Zul Qadah) เดือนที่ 11 ฮ.ศ. 1441 ดังนั้นวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปคือ ช่วงเย็นเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันที่ 29 เดือนซุลกอดะห์ ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะกำหนดวันเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่คือเดือนเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) เดือนที่ 12 พร้อมทั้งกำหนดวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ เป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ของชาวมุสลิม ดังนั้นการกำหนดวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) ในปีนี้จะขึ้นอยู่กับผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งหากผลการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในวันเวลาดังกล่าวมีผู้คนที่สามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ชาวไทยมุสลิมก็จะกำหนดให้วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นนที่ 1 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) และยังสามารถกำหนดวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) หรือวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ประจำปี ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

as20200722 01

รูปที่ 1 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (Hilai)

 วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2563

พื้นที่สีส้มไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ พื้นที่สีเหลืองสามารถเห็นดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และพื้นที่สีเขียวสามารถเห็นดวงจันทร์ด้วยตาเปล่า

(ที่มา: https://www.staff.science.uu.nl/~gent0113/islam/islam_lunvis_main.htm)

 

       แต่หากวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ไม่มี ผู้คนเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ชาวไทยมุสลิมก็จะต้องนับให้วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 ของดือนซุลกอดะห์ (Zul Qadah) เดือนที่ 11 หรือเป็นวันสุดท้ายของเดือน และจะเริ่มนับวันใหม่เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว และนับวันที่ 1 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) เดือน ฮ.ศ. 1441 ก็ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) ประจำปี ฮ.ศ. 1441 ก็จะตรงกับวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563

       ข้อมูลของดวงจันทร์ในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ดวงจันทร์ดับจะเกิดขึ้นวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลาประมาณ 00:32 น. ดังนั้นในช่วงเวลาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ขณะที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าดวงจันทร์จะมีอายุประมาณ 18 ชั่วโมง (ดวงจันทร์เคลื่อนห่างออกจากดวงอาทิตย์ไปแล้วประมาณ 9 องศา)

 

จังหวัดสงขลา ดวงจันทร์ตกหลังจากดวงอาทิตย์ตก 42 นาที

ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:38 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 291 องศา

ดวงจันทร์ตกเวลา 19:20 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 291 องศา

 

จังหวัดกรุงเทพฯ ดวงจันทร์ตกหลังจากดวงอาทิตย์ตก 42 นาที

ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:49 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 291 องศา

ดวงจันทร์ตกเวลา 19:31 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 292 องศา

 

จังหวัดเชียงใหม่ ดวงจันทร์ตกหลังจากดวงอาทิตย์ตก 43 นาที

ดวงอาทิตย์ตกเวลา 19:03 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 292 องศา

ดวงจันทร์ตกเวลา 18:46 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 292 องศา

 

as20200722 02

รูปที่ 2 ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ ที่เวลาดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก

ตำแหน่งผู้สังเกตจังหวัดสงขลา วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2563

 

*หมายเหตุ การกำหนดวันที่ 1 ของเดือนกอมารียะห์ (เดือนของปฏิทินอิสลาม) ให้ยึดผลการสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) หรือผลประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหลัก

 

เรียบเรียง : รอยาลี  มามะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง :

รูปที่ 1 https://www.staff.science.uu.nl/~gent0113/islam/islam_lunvis_main.htm

รูปที่ 2 ภาพจากซอฟต์แวร์ดาราศาสตร์ (Stellarium)