เข้าช่วงเดือนพฤศจิกายน เชิญชวนกันมาถ่ายภาพทางช้างเผือกยามเย็น

ความพิเศษของการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้ นอกจากเราจะสามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ตั้งแต่หัวค่ำ ยังทำให้เราไม่ต้องทรมานอดหลับอดนอนดึกๆ อีกด้วย และจากสถิติข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงพฤศจิกายนของทุกปีประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ทัศนวิสัยของท้องฟ้ามักใสเคลียร์เหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งไอเดียที่จะแนะนำในการถ่ายภาพทางช้างเผือกช่วงนี้ สามารถถ่ายได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบทางช้างเผือกแบบตั้งฉาก ทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี หรือทางช้างเผือกแบบพาโนรามา แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับทางช้างเผือกกันหน่อย


001

ทำความรู้จักทางช้างเผือกกันหน่อย

        “ทางช้างเผือก” เป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะเป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ ซึ่งทางช้างเผือกนั้นสามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งปี แต่บริเวณที่น่าตื่นตามากที่สุด คือบริเวณใจกลางทางช้างเผือก ซึ่งอยู่ตรงบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู ใจกลางทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย อาทิ ดาวฤกษ์ กระจุกดาว  เนบิวลา เป็นต้น 

        ถึงแม้ว่าในเดือนพฤศจิกายน แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏให้เห็นเพียงช่วงหัวค่ำในเวลา 2-3 ชั่วโมง แต่ก็ยังถือว่าเป็นโอกาศดีที่เราจะสามารถเรียนรู้และฝึกการสังเกตแนวใจกลางทางช้างเผือกกันได้ดีเลยทีเดียว

  002

ภาพจำลองแสดงตำแหน่งแนวใจกลางทางช้างเผือกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่ต้นเดือน โดยสามารถเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

เทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้น

        1. ตรวจสอบวัน / เวลา / ตำแหน่ง : การตรวจสอบเวลาการขึ้นตกของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นสิ่งแรก และสิ่งสำคัญในการวางแผนการถ่ายภาพ เพื่อดูว่าวันไหนบ้างที่เราจะสามารถถ่ายภาพได้ โดยที่ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวน

003

ตัวอย่างเว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเวลาการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์

https://www.timeanddate.com/sun/thailand/bangkok

 

004

ตัวอย่างเว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเวลาการขึ้น-ตก ของดวงจันทร์

https://www.timeanddate.com/moon/thailand/bangkok?month=11&year=2018

 

        2. เลือกสถานที่ : สถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกต้องมีความมืดสนิทปราศจากแสงรบกวนหรือมลภาวะทางแสง และสามารถจะสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกได้ชัดเจนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายใต้สภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์

        3. อุปกรณ์ : กล้อง เลนส์มุมกว้าง และขาตั้งกล้อง ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ในการถ่ายภาพ ซึ่งกล้องถ่ายภาพที่ใช้ควรจะสามารถปรับค่าความไวแสง(ISO) ได้สูงๆ รวมทั้งเลนส์มุมกว้างแบบไวแสง (รูรับแสงกว้างๆ) ก็จะช่วยให้เราได้ภาพทางช้างเผือกที่สว่างชัดเจนมากขึ้น

        4. ปรับโฟกัสให้คมชัดที่สุดด้วยดาวสว่าง (ปิดระบบออโต้โฟกัส) เช่นช่วงนี้สามารถใช้ดาวเสาร์ ซึ่งอยู่ตรงใจกลางทางช้างเผือกพอดี ในการช่วยปรับโฟกัสได้

        5. เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยความไวแสง (ISO) ที่สูงที่สุด และรูรับแสงที่กว้างที่สุด ด้วยเวลาการเปิดหน้ากล้องไม่นานมากนัก หลังจากที่ถ่ายติดภาพทางช้างเผือกแล้ว จึงค่อยปรับองค์ประกอบภาพ และลดค่าความไวแสงลงมาพร้อมทั้งใช้การคำนวณเวลาการถ่ายภาพจากสูตร Rule of 400/600 (https://goo.gl/zzTcsH)

        6. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อลดสัญญาณรบกวน พร้อมกับการถ่ายภาพด้วย RAW file เพื่อสามารถนำมาปรับในภายหลัง

 

รูปแบบการถ่ายภาพทางช้างเผือกปลายปีในช่วงหัวค่ำ

A. การถ่ายภาพทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี

 

005

รายละเอียดการถ่ายภาพทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี รายละเอียดตามลิงก์ : https://goo.gl/yVv7Yc

 

B. การถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบตั้งฉาก

006

รายละเอียดการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบตั้งฉาก รายละเอียดตามลิงก์ : https://goo.gl/CaVKPR

 

C. การถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามา

007

รายละเอียดการถ่ายภาพแบบพาโนรามา รายละเอียดตามลิงก์ : https://goo.gl/GFXfpR

 

        ช่วงนี้ก็ถือเป็นการส่งท้ายการถ่ายภาพทางช้างเผือกของปีนี้กัน ส่วนในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้เราก็ยังมีอีกหลายกิจกรรมในการถ่ายภาพดวงดาวบนท้องฟ้าอีกมากมาย ส่วนจะเป็นอะไรบ้างนั้นต้องติดตามกันต่อในคอลัมน์ต่อไปครับ