เมื่อเราสังเกตความงามของโลกจากสถานีอวกาศนานาชาติ นักบินอวกาศของทีม Expedition 56 บนสถานีอวกาศนานาชาติได้นำภาพถ่ายยามค่ำคืนของเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดของอินโดนีเซียมาให้เราได้ยลโฉมกัน เกาะชวาสว่างไสวอย่างมากท่ามกลางความมืดในมหาสมุทรอินเดีย เส้นใยแสงที่เชื่อมโยงไปทั่วทั้งเกาะ และกลุ่มแสงสีเขียวในทะเล สะท้อนให้เห็นว่าเกาะนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจ


ภาพถ่ายเกาะชวา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2018 ด้วยกล้องดิจิตอล Nikon D5 โดยใช้เลนส์ขนาด 28 มม. จากสถานีอวกาศนานาชาติ 

        เกาะชวาเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า 141 ล้านคน  จากภาพขวาล่างเป็นจุดรวมแสงใกล้ชายฝั่งทะเล คือ เซอมารังเป็นเมืองท่า และศูนย์กลางการค้าที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลภาคเหนือ ออกไปในทะเลจะเห็นแสงสีเขียวจากเรือประมงที่รวมตัวกัน อีกฝั่งทางใต้มีกลุ่มแสงขาวกระจุกใหญ่ คือ “ยอกยาการ์ตา” เป็นที่ตั้งของสถูปเจดีย์ในพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งคือ บุโรพุทโธ ใกล้ ๆ กัน มีพระพุทธรูปเก่าแก่องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในวิหารเมินดุต ระหว่างสองเมืองนี้มีกลุ่มแสงสีฟ้าคือ “สุราการ์ตา” เป็นเมืองท่องเที่ยววิถีชีวิตที่สำคัญ ริมฝั่งทางตะวันออกมีแสงจ้ากลุ่มใหญ่คือ “สุราบายา”  เป็นเมืองท่าสำคัญที่สุด ตะวันออกเฉียงใต้มีกลุ่มแสงสีเหลืองคือ “เกนเตง” ย่านอันเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย และถัดไปคือ “เดนปาซาร์” เต็มไปด้วยรีสอร์ตและโรงแรมที่พักจำนวนมากในเกาะบาหลี

        ปัจจุบันอินโดนีเซียมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ราว 54,500 เมกะวัตต์ และจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2559 – 2568 รวมกันอีก 35,000 เมกะวัตต์ เพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่ม ร้อยละ 8.7 ต่อปี จะทำให้แสงสว่างในภาพนี้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังเพิ่มมลภาวะทางแสงบดบังทัศนียภาพของท้องฟ้ายามค่ำคืน ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อย่างต่อเนื่อง หากมีนโยบายรณรงค์ควบคุมทิศทางแสงสว่างไม่ให้กระเจิงขึ้นท้องฟ้า พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้แสงสว่างให้มีประสิทธิภาพ เช่น ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน (LED) ติดตั้งโคมไฟสะท้อนแสงภายนอกอาคาร จะช่วยลดการใช้พลังงานในเวลากลางคืนได้อย่างมาก และอาจไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ถ้ามีการจัดการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสม จะช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและเกาะชวาจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน ดูดาวที่สวยงามแห่งหนึ่งบนโลกเลยก็ว่าได้

 

อ้างอิง
https://www.nasa.gov/image-feature/lights-of-java-0
https://www.baanjomyut.com/library/knowledge_of_encyclopedias/115.html
https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1887:20170310-art11&catid=49&Itemid=251

เรียบเรียง 
วทัญญู  แพทย์วงษ์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์