Ep 34. Astronomy Outreach : NARIT Model นำดาราศาสตร์สู่สังคมไทยในทุกระดับ โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (2/2)

 34 02        

#สร้างแรงบันดาลใจแก่สาธารณชนผ่านกิจกรรมดาราศาสตร์

NARIT สร้างสรรค์กิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม การเสวนาดาราศาสตร์ในหัวข้อที่น่าสนใจ การเปิดบ้านเยี่ยมชมหอดูดาวแห่งชาติ กิจกรรมดูดาว Public Night ทุกคืนวันเสาร์ ณ หอดูดาวอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร และหอดูดาวภูมิภาคทุกแห่ง ฯลฯ นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ยังทําให้เกิดจุดสังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำหรับประชาชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ สร้างความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ให้กับสาธารณชนในวงกว้างอีกด้วย

 

#ปั้นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นมาช่วยค้นฟ้าคว้าดาว

NARIT ยังสนับสนุนให้ผู้มีใจรักดาราศาสตร์ แต่มิได้มีอาชีพเกี่ยวข้องโดยตรงกับดาราศาสตร์ เพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้ดาราศาสตร์ให้กับตนเอง ยกระดับสู่การเป็น ‘นักดาราศาสตร์สมัครเล่น’ ผ่านกิจกรรมน่าสนใจ เช่น การอบรมถ่ายภาพดาราศาสตร์มาราธอนเที่ยงวันยันเช้า เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์  และการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์เป็นประจำทุกปี

 

นักดาราศาสตร์สมัครเล่นเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายสำคัญ ช่วยเผยแพร่ภาพถ่ายดาราศาสตร์ไปสู่ช่องทางต่าง ๆ ช่วย กระตุ้นและชักนำให้ผู้คนหันมาสนใจดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น

 

#ดาราศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล

ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ NARIT จึงจัดให้มีกิจกรรมบริการวิชาการดาราศาสตร์อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม เช่น การสร้างสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้พิการทางสายตา กิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องด้านการได้ยิน ค่ายดาราศาสตร์สำหรับเด็กออทิสติก เป็นต้น

 

#โครงการเด่นเน้นการกระจายโอกาสการเรียนรู้สู่สังคมไทย มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด “เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 510 โรงเรียน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ กล้องโทรทรรศน์ที่แจกให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ในโครงการฯ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียน ขนาด 10 นิ้ว ที่ NARIT ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตคนไทยร่วมกับ ออกแบบ สร้าง และพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้งานได้ง่าย ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์สำหรับการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์และการวิจัยในโรงเรียน ก่อให้เกิดการส่งต่อความรู้และกิจกรรมดาราศาสตร์ไปสู่โรงเรียน ชุมชน เข้าถึงครู นักเรียน และประชาชนทั่วไปหลายแสนคน ก่อให้เกิดโครงงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนนับร้อยโครงการ สร้างความตื่นตัวดาราศาสตร์ในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด

การจัดกิจกรรมด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ของ NARIT ได้รับการพัฒนารูปแบบให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ให้สอดรับกับบริบทความต้องการของสังคมไทย และพัฒนาสู่ความเป็นสากล จนเกิดเป็นนวัตกรรมองค์กรด้าน Public Outreach  ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากหน่วยงานวิจัยดาราศาสตร์ทั่วโลก ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบอย่างที่ดี จนทำให้หลายประเทศสนใจและประสงค์จะนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานในประเทศของตน อาทิ สปป. ลาว ราชอาณาจักรภูฏาน บอสวานา ฯลฯ

 

อ่านมาถึงตรงนี้...มีใครเคยร่วมกิจกรรมดี ๆ ที่ NARIT จัดขึ้นกันบ้างครับ ^^