ยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-Rex) ของนาซา ทำแผนที่ 3 มิติ พื้นที่ผิวของดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายระหว่างเก็บตัวอย่างกลับมาศึกษาที่โลก

as20200416 1 01

 

    ยานโอไซริส-เร็กซ์ เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยเบนนูเมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 พบว่าพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเบนนูนั้นปกคลุมไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ ยานจึงต้องโคจรวนรอบ ๆ เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับโฉบลงไปเก็บข้อมูล โดยยานจะไม่ลงจอดบนพื้นผิว แต่จะลดระดับของดาวลงใกล้พื้นผิวแล้วใช้แขนกลที่ติดตั้งอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง (Touch-And-Go Sample Acquisition Mechanism: TAGSAM) จากนั้นยานจะเพิ่มระดับความสูงเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเบนนู และนำตัวอย่างดินกลับมายังโลก

    ยานโอไซริส-เร็กซ์ ติดตั้งระบบ LIDAR (Light Detection and Ranging) เป็นการวัดระยะห่างโดยใช้แสงเลเซอร์ (Laser Pulses) ชี้ไปยังวัตถุเป้าหมาย เพื่อใช้ ชี้เป้า นำทาง และควบคุมการเก็บตัวอย่างของยาน

 

 

    ขั้นต้นนักวิจัยคาดว่ามีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการลงไปสัมผัสพื้นผิวและเก็บตัวอย่างดินควรกว้างประมาณ 50 เมตร แต่หลังจากกาารสำรวจด้วยความละเอียดที่สูงมากขึ้น พบว่ามีพื้นที่ปลอดภัยที่กว้างที่สุดเพียง 10 เมตร จึงพัฒนาระบบนำทางใหม่ที่เรียกว่า NFT (Natural Feature Tracking) ช่วยให้เพิ่มความแม่นยำในการระบุตำแหน่งเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวางที่อันตรายต่อยานอวกาศ รวมถึงใช้เทคนิคใหม่ในการเก็บตัวอย่างดินที่เรียกว่า “Bulleye TAG” ซึ่งช่วยให้ยานอวกาศสามารถร่อนลงไปสัมผัสผิวดาวบริเวณแคบ ๆ ได้

    เมื่อต้นปีที่ผ่านมายาน โอไซริส-เร็กซ์บินเฉียดพื้นผิวที่ระดับความสูง 625 เมตร เพื่อสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูล 2 ตำแหน่ง ได้แก่ “Nightingale” และ “Osprey” ช่วยให้นักวิจัยสร้างแผนที่ 3 มิติของพื้นที่ทั้ง 2  เพื่อช่วยระบุตำแหน่งก้อนหิน หลุมอุกกาบาต และความลาดชันบนพื้นผิวในระหว่างที่ยานลดระดับลงไปเก็บตัวอย่าง ซึ่งยานสามารถวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างร่อนลงได้เอง หากเกิดมีโอกาสที่ยานจะเกิดอันตราย ยานจะถอยออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยอัตโนมัติทันที

    นักวิจัยทดสอบระบบ NFT ครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 ผลการทดสอบบ่งบอกว่าเทคนิคนี้จะทำงานได้ดีในสถานการณ์จริง และจะมีการซ้อมใหญ่ในการร่อนลงเก็บตัวอย่างดินอีก 2 ครั้งในช่วงเดือนเมษายนและมิถุนายนนี้ ก่อนที่จะเก็บตัวอย่างจริงในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเดินทางออกจากดาวเคราะห์น้อยในปี พ.ศ. 2564 และคาดว่าจะกลับมาถึงโลกในปี พ.ศ. 2566

 

เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/feature/goddard/2020/bennus-boulders-shine-as-beacons

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 4458