นาซาเผยพบดาวเคราะห์คล้ายโลก
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมายืนยันว่าได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ระบบใหม่ จำนวน 2 ระบบ โดยมีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกที่อยู่ในเขตที่สามารถอยู่อาศัยได้ (Habitable Zone) ซึ่งหมายถึงบริเวณที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระยะทางที่เหมาะสมจนทำให้น้ำสามารถดำรงอยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวได้
ภาพที่ 1 แสดงขนาดเปรียบเทียบของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะและดาวเคราะห์ในระบบเคปเลอร์ 62 (Kepler-62 System)
ระบบแรก เคปเลอร์ 62 ประกอบด้วยดาวเคราะห์ 5 ดวง คือ เคปเลอร์ 62b 62c 62d 62e และ 62f ซึ่ง 3 ใน 5 ดวง มีขนาดใกล้เคียงกับโลกของเรา (เคปเลอร์ 62b 62f และ 62e ตามลำดับ) ส่วนอีกระบบหนึ่งคือ เคปเลอร์ 69 ประกอบด้วยดาวเคราะห์ 2 ดวง คือ เคปเลอร์ 69b และ 69c
ดาวเคราะห์สองดวงแรกจากระบบดาวเคราะห์ที่มีดาวฤกษ์ขนาดเล็กกว่าและอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์ของเราได้แก่ เคปเลอร์ 62f มีขนาดใหญ่กว่าโลกของเราประมาณ 40 % เคราะห์ดวงนี้โคจรอยู่บริเวณที่มีระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่ค่อนข้างจะพอดีในเขตที่สามารถอยู่อาศัยได้ อีกดวงหนึ่งคือ เคปเลอร์ 62e มีขนาดใหญ่กว่าโลกของเราประมาณ 60% โคจรอยู่บริเวณขอบในสุดของเขตที่สามารถอยู่อาศัยได้ ซึ่งดาวเคราะห์ทั้งสองมีแนวโน้มว่าจะเป็นดาวเคราะห์หิน
ภาพที่ 2 แสดงวงโคจรของดาวเคราะห์เคปเลอร์ 62e และ 62f เปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่สาม เคปเลอร์ 69c มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 70% โคจรรอบดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ ซึ่งนักดาราศาสตร์ยังไม่มั่นใจว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีธาตุอะไรเป็นส่วนประกอบ แต่เวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ใช้ในการโคจรรอบดาวฤกษ์คือ 242 วัน ซึ่งคล้ายกับดาวศุกร์ในระบบสุริยะของเรามาก
ภาพที่ 3 แสดงขนาดเปรียบเทียบของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะและดาวเคราะห์ในระบบเคปเลอร์ 69 (Kepler-69 System)
ภาพที่ 4 แสดงวงโคจรของดาวเคราะห์เคปเลอร์ 69b และ 69c เปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
ถึงแม้ว่านักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ว่า สิ่งมีชีวิตจะสามารถดำรงชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวได้หรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นการก้าวไปข้างหน้าเพื่อขยับเข้าใกล้กับความหวังที่จะค้นพบโลกใบใหม่ ซึ่งอาจจะมีพื้นผิวเป็นแหล่งน้ำ สามารถดำรงชีวิตได้ หรือเป็นเขตที่เอื้อต่อการอาศัย ไม่ร้อน หรือไม่หนาวเย็นจนเกินไป
ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกค้นพบล่าสุด และอยู่ในเขตที่สามารถอาศัยได้
|
เคปเลอร์ 62f |
เคปเลอร์ 62e |
เคปเลอร์ 69c |
ระยะห่างจากโลก |
1,200.3 ปีแสง |
1,200.3 ปีแสง |
1,930.0 ปีแสง |
ปีที่ค้นพบ |
2556 |
2556 |
2556 |
วิธีค้นพบ |
การผ่านหน้า (Transit) |
การผ่านหน้า (Transit) |
การผ่านหน้า (Transit) |
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง |
1.41 เท่าของโลก |
1.61 เท่าของโลก |
1.71 เท่าของโลก |
อุณหภูมิ |
208 K (-65.15 ํC) |
270 K (-3.15 ํC) |
299 K (25.85 ํC) |
คาบการโคจร |
267.29 วัน |
122.39 วัน |
242.46 วัน |
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- NASA's Kepler Discovers Its Smallest 'Habitable Zone' Planets to Date: http://www.nasa.gov/mission_pages/kepler/news/kepler-62-kepler-69.html; เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 เมษายน 2556
- Almost Earth-like Exoplanets: http://www.skyandtelescope.com/news/Almost-Earthlike-Exoplanets-203643841.html; เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 เมษายน 2556
- แอพพลิเคชัน Exoplanet บน iPad; เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 เมษายน 2556
เรียบเรียงโดย
นายชนากานต์ สันติคุณาภรณ์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์
สำนักบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)