ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา ยานจูโนซึ่งกำลังโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ได้ตัดสินใจกลับไปเยือนดวงจันทร์ยูโรปาอีกครั้งในรอบ 2 ทศวรรษ และเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญบนดวงจันทร์แห่งนี้ เพื่อหาโอกาสดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

as20230116 4 01

 

จากภาพด้านบนจะเห็นว่ายานจูโนบินเข้าใกล้ดวงจันทร์ยูโรปา จนกล้องสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ได้อย่างละเอียด ซึ่งจะเห็นรอยแยกใกล้เส้นศูนย์สูตร  รวมถึงลักษณะของภูมิประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสันเขาและร่องน้ำ ณ บริเวณส่วนสว่างและส่วนมืดสลับกันเหมือนรอยแผลเป็น และยังมีหลุมที่หน้าตาแปลกประหลาดที่อาจเป็นหลุมอุกกาบาตที่เสื่อมโทรมลงไปแล้ว

สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวที่สึกกร่อนและขรุขระนี้ อาจเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตก็เป็นได้ เนื่องจากดวงจันทร์ยูโรปาเป็นวัตถุหนึ่งในระบบสุริยะที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า อาจมีน้ำในสถานะของเหลวได้ ซึ่งอาจจะอยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวหลายกิโลเมตร แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าที่มหาสมุทรใต้พื้นผิวนี้อาจเอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตได้

ถึงแม้ยานจูโนจะใช้เวลาบินผ่านดวงจันทร์ยูโรปาเพียง 2 ชั่วโมง แต่ก็สามารถเก็บภาพความละเอียดสูงของดวงจันทร์ยูโรปา รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เช่น โครงสร้างชั้นเปลือกดาวและโครงสร้างภายใน องค์ประกอบของพื้นผิว และบรรยากาศรอบนอกของดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลปฏิสัมพันธ์ระหว่างดวงจันทร์กับสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดีด้วย

 

as20230116 4 02

NASA/JPL-Caltech/SwRI

จากภาพแสดงวงโครจรของยานจูโนรอบดาวพฤหัสบดี โดยวงสีฟ้าและสีม่วงเป็นวงโคจรของยานในช่วงขยายเวลาภารกิจไปจนถึงปี ค.ศ. 2025 [Credit ภาพ : NASA/JPL-Caltech/SwRI]

 

ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ดวงนี้ต่อไปในอนาคต  รวมถึงภารกิจ Europa Clipper ของนาซาที่มีกำหนดจะส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2024 ที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ยูโรปา เพื่อศึกษามหาสมุทรใต้ผิวดาว และหาคำตอบว่าจะมีสภาพเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม จนกว่าจะถึงการส่งยานในภารกิจ Europa Clipper ขึ้นสู่อวกาศ ข้อมูลที่รวบรวมระหว่างการบินผ่านของยานจูโนอาจจะช่วยไขข้อสงสัยบางอย่างของนักวิทยาศาสตร์ได้

 

อ้างอิง

https://astronomy.com/news/2022/10/juno-visits-europa

 

เรียบเรียง : นางสาวศวัสกมล ปิจดี - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์