สำหรับในเดือนสิงหาคมนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือมักเรียกว่า “ฝนดาวตกวันแม่” สามารถสังเกตการณ์ได้หลังเที่ยงคืนวันที่ 12 สิงหาคมประมาณตีสองครึ่ง จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 110 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอัส บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่ใกล้กับขั้วฟ้าเหนือ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า โดยในคืนดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวนเหมาะสำหรับการสังเกตการณ์เป็นอย่างมาก หากฟ้าใสปลอดเมฆดูด้วยตาเปล่าได้ทุกพื้นที่ทั่วไทย


001

       
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม - 24 สิงหาคมของทุกปี โดยในช่วงวันที่ 12 - 13 สิงหาคม จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด

ความพิเศษของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ในปีนี้ 

- ฝนดาวตกครั้งนี้มีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 110 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่ามีอัตราการตกต่อชั่วโมงสูงมาก

- ในปีนี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน ในช่วงคืนวันที่ 12 สิงหาคมถึงรุ่งเช้า 13 สิงหาคม จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ 

- ช่วงเวลาในการถ่ายภาพเริ่มตั้งแต่ 2.30 น. จนถึงรุ่งเช้า เป็นช่วงหลังเที่ยงคืน ถือเป็นเวลาที่ดีที่สุด เพราะซีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงทำให้เห็นดาวตกวิ่งช้า และทำให้มีโอกาสได้ภาพฝนดาวตกหางยาวๆได้ง่าย

- จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) ของฝนดาวตก อยู่ใกล้กับแนวทางช้างเผือก และวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) อาทิ กระจุกดาวคู่ (NGC869 NGC884) กาแล็กซีแอนโดรเมดา (M31)

- ฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ 

- เนื่องจากฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์มีศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่ใกล้กับขั้วฟ้าเหนือ ทำให้การถ่ายภาพด้วยขาตั้งกล้องทั่วไปสามารถถ่ายภาพออกมาได้ไม่ยากนัก เหมาะแก่การฝึกเริ่มต้นถ่ายภาพฝนดาวตก ด้วยเช่นกัน

002

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec x 26 Images)

เทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์

        ปัจจุบันการถ่ายภาพฝนดาวตกนั้น นักถ่ายภาพดาราศาสตร์นิยมใช้การถ่ายภาพฝนดาวตกบนอุปกรณ์ตามดาว โดยถ่ายภาพแบบต่อเนื่องหลายๆ ชั่วโมงแล้วนำภาพทั้งหมดมารวมกัน มากกว่าการถ่ายภาพแบบ 1 ช็อต เพื่อรอแค่ไฟล์บอลลูกใหญ่ๆ เพราะการถ่ายภาพบนอุปกรณ์ตามดาวให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก เพราะนอกจากจะมีโอกาสถ่ายติดภาพไฟล์บอลลูกใหญ่ๆแล้ว ยังเก็บภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนอีกด้วย โดยมีรายละเอียดการถ่ายภาพดังนี้

1. เลือกใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพ เพื่อให้สามารถเก็บภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้กว้างที่สุด เนื่องจากฝนดาวตกจะกระจายตัวออกห่างจากศูนย์กลางกลุ่มดาวค่อนข้างมาก

2. รูรับแสงเปิดกว้างสุด เนื่องจากแสงจากฝนดาวตกไม่ได้สว่างมากนัก การเปิดรูรับแสงกว้างช่วยให้กล้องมีความไวแสงมากยิ่งในการเก็บเส้นแสงของดาวตกได้ดีที่สุด

3. ความไวแสงสูง เช่น ISO:3200 เพื่อให้กล้องสามารถเก็บภาพเส้นแสงฝนดาวตกได้มากที่สุด หากใช้ความไวแสงต่ำมากเกินไป เราก็จะได้แค่เพียงดาวตกที่เป็นไฟล์บอลดวงใหญ่ๆเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการให้ได้จำนวนภาพเส้นแสงดาวตกมากๆ การใช้ความไวแสงสูงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

4. ถ่ายแบบต่อเนื่อง โดยใช้สูตร Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้อง หรืออาจเปิดได้นานมากกว่าการคำนวณได้อีกเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น หากใช้กล้องแบบ APS-C กับเลนส์ที่มีความยาวโฟกัส 18 มม. ก็ให้ใช้ค่า 400 หาร 18 จะได้เวลาเปิดหน้ากล้องเท่ากับ 22 วินาที แต่หากใช้กล้องแบบ Full Frame ก็ใช้ค่า 600 หาร ทางยาวโฟกัส

5. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวโดยให้ศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตกอยู่ตรงกลางภาพ เนื่องจากการกระจายตัวของดาวตกไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะพุ่งไปในทิศทางใดมากที่สุด

003

ตัวอย่างอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพาที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพแบบติดตามวัตถุท้อง ซึ่งนักถ่ายภาพดาราศาสตร์มักนิยมเลือกใช้

6. แนะนำพันแถบความร้อนกันฝ้าขึ้นหน้ากล้องตลอดช่วงเวลาการถ่ายภาพ โดยสามารถทำเองแบบ DIY ได้ง่ายๆ (สามารถดูวิธีการทำแถบความร้อนเองตามลิงก์ https://goo.gl/TVe1Jq)

004

ตัวอย่างแถบความร้อนที่ใช้พันบริเวณหน้าเลนส์เพื่อป้องกันฝ้าขึ้นหน้ากล้อง ซึ่งสามารถทำเองได้ไม่ยาก

  7. สุดท้ายนำภาพถ่ายฝนดาวตกจากหลายร้อยภาพมาเลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop ทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน