ทีม Champions จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม คว้ารางวัลชนะเลิศยอดเยาวชน คนอวกาศ ในการแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน Space Youth Challenge 2021 จากผลงานโดดเด่น ในการออกแบบส่งยานสำรวจไปยัง Duna หรือเปรียบได้กับดาวอังคารในระบบสุริยะของเรา ด้วยภารกิจส่งยานไปสำรวจเพื่อค้นหาบ้านหลังที่สองของมนุษย์ในอนาคต

pr20211125 3 01

pr20211125 3 02

pr20211125 3 03

pr20211125 3 06

 

ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge 2021 : ยอดเยาวชน คนอวกาศ” จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ไพรเวท ดิวิชั่น บริษัทผู้ผลิต และเจ้าของลิขสิทธิ์ผ่านเกมเคอเบิล สเปซ โปรแกรม (Kerbal Space Program) ผู้เข้าแข่งขันจะได้ออกแบบโครงการสำรวจอวกาศผ่านเกมดังกล่าว และนำเสนอผ่านวิดีโอในลักษณะของการแคสเกม นอกจากการเรียนรู้หลักทางฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจอวกาศที่เสมือนจริงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับความท้าทายในการสำรวจอวกาศจริง คือ การวางแผนและการทำงานเป็นทีม สร้างประสบการณ์แก่นักเรียนที่จะได้ ฝัน ลอง เล่น และทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่ติดตัวนักเรียนไปตลอด และไม่ว่าจะเป็นโครงการอวกาศใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ 

ดร. วิภู กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจของโลกในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้านี้ จะมีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของโลก จึงขอให้เยาวชนในที่นี้อย่าหยุดฝัน อย่าหยุดเล่น อย่าหยุดที่จะลอง แล้วเราจะได้ไปอวกาศด้วยกันจริงๆ

            ดร. พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) รวมถึงผู้จัดการโครงการดาวเทียม TSC-1 ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ​​หนึ่งในคณะกรรมการกล่าวว่า หลังจากได้ชมผลงานของทุกๆ ทีม รู้สึกทึ่งในความสามารถของน้องๆ ที่ถึงแม้จะเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา แต่กระบวนการคิดและจินตนาการเสมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติการจริงๆ และขอขอบคุณทุกๆ พลังสร้างสรรค์จากทุกทีมในวันนี้ ที่ไม่เพียงส่งต่อแรงบันดาลใจไปถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่ยังต่อแรงบันดาลใจให้กับคณะกรรมการเป็นอย่างมาก   และผมหวังว่าโครงการดีๆ ลักษณะเช่นนี้ จะมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนของชาติอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

สำหรับการแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge 2021 : ยอดเยาวชน คนอวกาศ” ประจำปี 2564 มีทีมส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน 55 ทีม จากทั่วประเทศ คณะกรรมการได้คัดเลือก จำนวน 10 ทีม เพื่อผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขันเป็น ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา  25,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร 

ทีม Champions โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ

ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 5 คน ได้แก่ นายกร เหมรัญช์โรจน์ นายธีรภาส อภินันท์กูล นายสุธีพันธุ์ โขวิฑูรกิจ เด็กชายคณพศ วัฒนภิญโญ และเด็กหญิงธันยนันท์ พูนบันดาลสิน จากผลงานโดดเด่น ในการออกแบบส่งยานสำรวจไปยัง Duna ที่เปรียบได้กับดาวอังคารในระบบสุริยะของเรา ด้วยภารกิจส่งยานไปสำรวจเพื่อค้นหาบ้านหลังที่สองของมนุษย์ในอนาคต

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา  20,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร 

ทีม Lonely as space โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ กับภารกิจในการส่งยานสำรวจไปลงจอดบน Duna พร้อมทั้งการนำเสนอทักษะในการตัดต่อคลิปวิดีโอที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์อย่างเห็นได้ชัด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนการศึกษา  15,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร 

ทีม BigNut Odyssey โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กรุงเทพฯ กับภารกิจในการตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์ดวงใหม่ โดยมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การส่งระบบดาวเทียมเครือข่ายถึง 7 ลำเพื่อสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด การส่งยานไปขุดเจาะทรัพยากร และตามด้วยการเตรียมที่อยู่อาศัยที่สามารถส่งมนุษย์ไปพำนักระยะยาวได้

รางวัลชมเชย ได้รับทุนการศึกษาทีมละ  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  

ทีมเดินทางสะอาด อวกาศไร้ขยะ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ทีม MVPJA  จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่

ทีม CM Combatจาก โรงเรียนบุญวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา

ทีม Nasalis Larvatus โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

ทีม PrommaSpaceTech จากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี และโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทยเยอรมัน

ทีมปราสาททราย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่

ทีม DOUBLE SANDWICH จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช 

และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ตรัง

รางวัล popular vote ได้รับทุนการศึกษา  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร

ได้แก่ทีม Champions โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ

รางวัลการนำเสนอโดดเด่น ได้รับทุนการศึกษา  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  

ได้แก่ทีม Lonely as space  โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

รางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้รับทุนการศึกษา  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร   

ทีมปราสาททราย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่

 

pr20211125 3 07

ดาวน์โหลดภาพบรรยากาศการแข่งขันเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/SpaceYouthChallenge2021-Final

 

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.   Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @NARIT_Thailand,  Instagram : @narit_thailand