อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร:
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม

อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ

นายกสมาคมฟิสิกส์ไทย

พระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่มีต่อวงการดาราศาสตร์ไทยมาอย่างยาวนานนับหลายสิบปี ทำให้วงการดาราศาสตร์ของประเทศไทยมีความเจริญงอกงามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ในอดีตการตระหนักถึงความสำคัญที่จะให้เยาวชนมีความสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยจะมีอย่างต่อเนื่อง บริบททางดาราศาสตร์และอวกาศเริ่มนำมาใช้ในการสร้างความตระหนักของเยาวชน ตั้งแต่การเริ่มสร้างท้องฟ้าจำลองกรุงเทพตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ การจัดให้มีการสอนและให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดาราศาสตร์และอวกาศในโรงเรียน การสอนวิชาดาราศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความสนใจในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่ปรากฏเหนือฟ้าเมืองไทย อาทิ สุริยุปราคาเต็มดวง ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ การปรากฎดาวหางฮัลเลย์ พ.ศ. ๒๕๒๙ สุริยุปราคาเต็มดวง ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ การปรากฏดาวหางเฮลบอพพ์และดาวหางเฮียกุตาเกะในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และ พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามลำดับ

หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นหอดูดาวภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทยตั้งอยู่บนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ ทรงเล็งเห็นว่าหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้บริการวิชาการและสนับสนุนการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนตื่นตัวและสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด จึงทรงเสด็จฯ เยือนหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายครั้งเพื่อทรงติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ ทำให้หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆทั้ งภาครัฐและเอกชน ทำให้มีอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่ทันสมัยและเริ่มมีบุคลากรไปศึกษาเล่าเรียนต่อทางด้านดาราศาสตร์มากขึ้น ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หอดูดาวแห่งนี้ได้รับพระราชทานนามว่า ‘หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

การพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทยมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อเดิมของกระทรวง อว. ณ ขณะนั้น) ช่วง ๑๐ ปีแรกของการพัฒนาดาราศาสตร์ของไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เน้น เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ในระดับมาตรฐานสากล เช่น การสร้างหอดูดาวแห่งชาติที่มีกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๔ เมตร การสร้างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์หุ่นยนต์ (Thai Robotic Telescope, TRT) ในประเทศสาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐประชนจีน สหรัฐอเมริกาและ ออสเตรเลีย รวมทั้งหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย ล่าสุดได้แก่การสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๐ เมตร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในพระราชดำริฯ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนทางด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีดาราศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง ทำให้การพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของประเทศมีความเด่นชัดอย่างยิ่ง

 

ความเป็นมาของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

การปฏิบัติงานของบุคลากรของของโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงแรกเมื่อราวเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ปฏิบัติงาน ณ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นห้องขนาดเล็กที่อาคารฟิสิกส์ ๒ ถัดห้องธุรการของภาควิชา เมื่อเริ่มมีบุคลากรมากขึ้น ได้ขยับขยายมาที่ห้องปฏิบัติการวิจัยวัสดุศาสตร์เดิม บริเวณชั้น ๒ ของอาคารฟิสิกส์ ๑ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอาคารเดิม แต่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเดิม ซึ่งทางภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ได้กรุณาจัดพื้นที่ให้ใช้เป็นสำนักงานชั่วคราว ทำให้เจ้าหน้าที่ของโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานมากขึ้น

ภารกิจของโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เริ่มให้การบริการวิชาการแก่ชุมชน และภารกิจอื่นๆตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบันฯ จึงได้ย้ายที่ทำการไปที่ “อาคารศิริพานิช” ถนนห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคารพาณิชย์ ซึ่งโครงการจัดตั้งฯ ได้ทำสัญญาเช่าเป็นรายปี ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นองค์การมหาชน เป็นหน่วยงานระดับกรมสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การดำเนินงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง โดยเฉพาะกำลังคนทั้งทางด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ การบริการวิชาการแก่ชุมชน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สนับสนุนภารกิจของสถาบันฯ รวมประมาณ ๑๓๐ คน

        แม้สถาบันฯ ดำเนินการเช่าพื้นที่ใช้สอยเกือบทุกพื้นที่ในอาคารศิริพานิช แต่ก็แทบไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจของสถาบันฯ ผู้เขียนซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ณ ขณะนั้นมองเห็นข้อจำกัดของพื้นที่ในการปฏิบัติงานของสถาบันฯ จึงพยายามแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างสำนักงานใหญ่เป็นสถานที่ถาวรของสถาบันฯ

       ในช่วงนั้น การก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ ณ บริเวณกิโลเมตรที่ ๔๔ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เสร็จเรียบร้อยพร้อมดำเนินการ ขณะนั้นมีผู้เสนอพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจำนวนกว่าร้อยไร่ บริเวณกิโลเมตรที่ ๔ เชิงดอยอินทนนท์ เขตเทศบาลตำบลจอมทองซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ที่สถาบันฯอาจขออนุญาตใช้เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ หลังจากได้หารือกับเทศบาลตำบลจอมทอง และการหารือกับกรมป่าไม้ ประกอบกับความไม่สะดวกในการเดินทางไป-กลับทุกวันของเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯในระยะทางกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ จึงไม่ได้ดำเนินการเพื่อที่จะขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างเป็นสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติต่อไปแต่อย่างใด แต่ก็พยายามแสวงหาพื้นที่ในเมืองเชียงใหม่ที่สะดวกสำหรับเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯในการเดินทางมาปฏิบัติงาน

       นับว่าเป็นโชคดีของบุคลากรของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่วันหนึ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ขณะที่ผู้เขียนกำลังพักผ่อนและดื่มกาแฟในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีชายผู้หนึ่งเดินมาหาผู้เขียนและยกมือไหว้แล้วถามว่าผู้เขียนจำเขาได้หรือไม่ ตอนนั้นึกไม่ออกจริงๆ เลยบอกแบบขออภัยว่า จำไม่ได้จริงๆ เขาจึงแนะนำตัวว่า เขาชื่อ ‘คุณสาธิต กสิมงคล’ เคยเป็นผู้รับจ้างช่วงในการตกแต่งอาคาร ๔๐ ปีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงที่ผู้เขียนดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกำลังดำเนินการสร้างอาคาร ๔๐ ปีคณะวิทยาศาสตร์อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงได้ทักทายกันและแยกย้ายไปนั่งดื่มกาแฟตามอัธยาศัย เมื่อผู้เขียนดื่มกาแฟเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังจะออกจากร้าน ก็เดินไปทักทายกับคุณสาธิตอีกครั้งก่อนกลับ ผู้เขียนได้เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ผู้เขียนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และลาออกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว กำลังพัฒนาสถาบันฯทั้งการสร้างหอดูดาวในที่ต่างๆและรับคนเข้ามาปฏิบัติงานในสถาบันฯจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังต้องเช่าสำนักงานอยู่และพื้นที่ปฏิบัติงานเริ่มคับแคบขึ้นเรื่อยๆ อยากได้ที่ในเมืองเชียงใหม่เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบัน การหาพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ในขณะนี้ยากมาก ยังไม่รู้ว่าจะหาพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างไรเลย คุณสาธิตนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วเอ่ยขึ้นว่า “ตอนนี้มีที่อยู่ผืนหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาก ขึ้นไปทางคลองชลประทานประมาณ ๗-๘ กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลยสนามกีฬา ๗๐๐ ปีไปไม่ไกล ด้านหลังมูลนิธิขาเทียม ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม มีพื้นที่ประมาณ ๕๔ ไร่เป็นที่ราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ได้มอบพื้นที่ให้แก่กองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ ๓๓ เป็นผู้ดำเนินการสร้างบ้านสวัสดิการทหารบกในพื้นที่ประมาณ ๓๔๐ ไร่ แต่มีพื้นที่เหลืออยู่ประมาณ ๕๔ ไร่ คืนให้แก่กรมธนารักษ์ ถ้าอาจารย์สนใจที่ผืนนี้เพื่อจะสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผมจะพาอาจารย์ไปดูพื้นที่ดังกล่าว และจะประสานงานกับกรมธนารักษ์ และมณฑลทหารบกที่ ๓๓ เพื่อให้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติไปเจรจาขอพื้นที่ที่มณฑลทหารบกที่ ๓๓ คืนให้กรมธนารักษ์จำนวน ๕๔ ไร่นี้ เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันฯต่อไป..” หลังจากที่คุณสาธิตเล่าให้ฟังแล้ว ผู้เขียนก็ตอบคุณสาธิตว่า “สนใจ” แต่ก็รู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ว่าจะมีพื้นที่อย่างที่คุณสาธิตเล่าให้ฟังจริงหรือไม่ แต่ก็กล่าวขอบคุณคุณสาธิตที่เล่าให้ฟัง

       หลังจากนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจอะไร คงไปปฏิบัติหน้าที่ที่อาคารศิริพานิชเหมือนเดิม แต่อีก ๒-๓ วันถัดมา ผู้เขียนได้รับสายจากคุณสาธิตอีกครั้งหนึ่ง บอกว่า “ที่คุยกับอาจารย์ที่ร้านกาแฟคราวที่แล้วเรื่องไปดูพื้นที่ ๕๔ ไร่ที่มณฑลทหารบกที่ ๓๓ คืนให้กรมธนารักษ์และจะไปเจรจาขอใช้พื้นที่ เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ไม่ทราบว่าอาจารย์ยังสนใจจะไปดูพื้นที่ไหม?”  ณ ขณะนั้น ผู้เขียนตอบกลับไปโดยไม่ลังเลใจเลยว่า “ไป..นัดเวลาไปดูพื้นที่กันเลย”

         วันรุ่งขึ้นผู้เขียน พร้อมด้วย นายภัทรวรรธน์ อาจองค์ รองผู้อำนวยการ นายประพนธ์ อิสสริยะกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และนางสาว ศรัณยา วิบูลวัชร เลขานุการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและคุณสาธิต กสิมงคล ผู้ประสานงาน เดินทางไปที่สำนักงานขายของบ้านสวัสดิการทหารบก เห็นว่ามีบ้านที่สร้างเสร็จเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ และมีพื้นที่ข้างเคียงด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการก่อสร้าง เป็นพื้นที่ว่างประมาณ ๕๐ กว่าไร่ที่คาดว่าเป็นพื้นที่ที่อาจขออนุญาตสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ ผู้เขียนกับคณะจึงขออนุญาตนำรถเข้าไปดูพื้นที่ดังกล่าวโดยขออนุญาตเข้าทางที่ทำการของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกซึ่งอยู่บริเวณข้างเคียงที่มีรั้วกั้นอาณาเขตที่ดินไว้ เห็นว่าบริเวณพื้นที่ว่างประมาณ ๕๐ กว่าไร่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม-ดอนต่างระดับ เป็นบริเวณรกร้างว่างเปล่าปกคลุมด้วยหญ้าและไม้บางชนิดอยู่ทั่วไป ซึ่งหากมีการก่อสร้างสำนักงานใหญ่จริงๆแล้ว คงต้องมีการปรับพื้นที่มากพอสมควรทีเดียว อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ที่มีที่ตั้งสวยงาม อยู่ไม่ห่างจากชุมชน และใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มีความสะดวกสบายในการเดินทางมาปฏิบัติงาน เหมาะสมอย่างยิ่งหากได้พื้นที่นี้มาสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้เขียนจึงตัดสินใจทันทีที่จะขอใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันฯ

         ผู้เขียนในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มเจรจากับกรมธนารักษ์และมณฑลทหารบกที่ ๓๓ เพื่อขออนุมัติใช้พื้นที่ ๕๔ ไร่บริเวณหลังมูลนิธิขาเทียม ตำบลดอนแก้ว โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและคณะได้ประชุมหารือกับผู้แทนกรมธนารักษ์และมณฑลทหารบกที่ ๓๓ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ในเรื่องดังกล่าว ในเบื้องต้นทั้งกรมธนารักษ์และมณฑลทหารบกที่ ๓๓ เห็นชอบในหลักการที่จะให้สถาบันวิจัดาราศาสตร์แห่งชาติใช้พื้นที่ ๕๔ ไร่บริเวณหลังมูลนิธิขาเทียม ตำบลดอนแก้วเพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อย่างไรก็ตามมณฑลทหารบกที่ ๓๓ แจ้งว่าต้องหารือกับทางกองทัพบกให้ชัดเจนในวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่ที่ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์เพื่อประโยชน์ที่จำเป็นทางด้านการทหารหรือไม่อย่างไร ซึ่งภายหลังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้รับแจ้งกลับมาว่ากองทัพบกมีความประสงค์จะขอพื้นที่ ๕๔ ไร่ดังกล่าวคืนจากกรมธนารักษ์เพื่อจะปรับพื้นที่ดังกล่าวนี้เพื่อการฝึกกำลังพลในอนาคต ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้เขียนรู้สึกไม่มั่นใจว่าการขอใช้พื้นที่ผืนนี้เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันฯจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้กลับไปเจรจากับกรมธนารักษ์และมณฑลทหารบกที่ ๓๓ อีกครั้งหนึ่งเรื่องการขอใช้พื้นที่แห่งนี้

         ผลการเจรจาในครั้งนั้นสรุปว่า หากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติสามารถหาพื้นที่มาแลกเปลี่ยนได้ ผู้เขียนตอบว่ายังไม่ทราบว่าจะหาพื้นที่ที่ไหนมาแลกเปลี่ยน ในที่สุดได้ข้อเสนอว่าให้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติลองไปเจรจากับจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ว่างอยู่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ที่หากทางจังหวัดเห็นชอบให้ใช้ได้ ก็อาจมาแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ที่ตำบลดอนแก้วแห่งนี้ได้

        ผู้เขียนในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ติดต่อขอเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับท่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (ดร. อมรพันธ์ุ นิมานันท์) ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนได้เรียนเล่าให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบเรื่องการขอใช้พื้นที่บริเวณตำบลดอนแก้วเพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และมีความประสงค์จะขอใช้พื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ที่อำเภอสันป่าตองเพื่อแลกกับกองทัพบกที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกกำลังพลในอนาคต หลังจากที่เรียนปรึกษาหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพอสมควรแก่เวลา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้ทราบว่าการขอใช้พื้นที่ของจังหวัดที่อำเภอสันป่าตองคงจะลำบากเนื่องจากจังหวัดไม่มีพื้นที่เพียงพอในการดำเนินภารกิจของจังหวัดแล้ว และเสนอว่า เนื่องจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นองค์กรในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นองค์กรระดับกรม ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต้องมีที่ตั้งถาวรของสำนักงานใหญ่ เห็นว่าสถาบันฯควรทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อทรงขอใช้พื้นที่บริเวณตำบลดอนแก้ว ๕๔ ไร่ จากกองทัพบกเพื่อพระราชทานให้แก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันฯต่อไป

         ด้วยผู้เขียนได้มีโอกาสถวายงานด้านดาราศาสตร์แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มีโอกาสประสานงานกับกองงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ หลายครั้งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงได้ประสานงานและหารือในเรื่องความเป็นไปได้ในเรื่องทรงขอใช้พื้นที่บริเวณตำบลดอนแก้ว ๕๔ ไร่ จากกองทัพบกเพื่อพระราชทานให้แก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของสถาบันฯดังกล่าวกับท่านราชเลขาธิการในพระองค์ฯ ซึ่งท่านราชเลขาธิการในพระองค์ฯได้กรุณาแนะนำให้ผู้เขียนทำหนังสือขอพระราชทานกราบบังคมทูลในเรื่องดังกล่าวถึงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯในเรื่องการขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ให้แก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

      ต่อมาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้รับทราบว่า เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ สำนักราชเลขาธิการในพระองค์ฯ ได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก ขอความอนุเคราะห์ให้หน่วยงานของรัฐเช่าที่ราชพัสดุ โดยในหนังสือระบุว่า “..สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงรับทราบว่าสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกำลังเตรียมการก่อสร้างสำนักงานแห่งใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีความประสงค์ขอใช้ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. ๑๗๒๓ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๕๔-๓-๐๔ ไร่ ซึ่งกองทัพบกส่งคืนให้กรมธนารักษ์ซึ่งยังคงว่างอยู่ เพื่อก่อสร้างสำนักงานแห่งใหญ่ดังกล่าว จึงมีพระราชประสงค์จะขออนุญาตใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าว เพื่อจัดสร้างสำนักงานแห่งใหญ่ที่ถาวรของสถาบันฯ หากกองทัพบกพิจารณาที่ดินที่อยู่ในกรรมสิทธิ์แห่งอื่นที่เหมาะสมกว่าเพื่อใช้ในการฝึกกำลังพลและพิจารณาให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติใช้ที่ดินที่ดำเนินการขออนุญาตนี้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและก่อให่เกิดประโยน์อย่างยิ่งในการพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของชาติ...”

         กองทัพบกจึงได้สนองพระราชประสงค์ของพระองค์ให้ความอนุเคราะห์ที่ดินที่ตำบลดอนแก้วดังกล่าวให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเพื่อก่อสร้างสำนักงานใหญ่ในเวลาต่อมา  นับเป็นความกรุณาของกองทัพบกที่ให้ความอนุเคราะห์แก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชฯทรงมีต่อสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและวงการดาราศาสตร์ไทย  พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญว่าสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเปรียบเสมือนศูนย์กลางการประสานงาน ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศทางด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เช่น ระบบการคำนวณสมรรถนะสูง ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ ฟิสิกส์ทัศนศาสตร์ ระบบหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติ ระบบการควบคุมระยะไกล ระบบเครื่องกลความละเอียดสูง เป็นต้น และสาขาวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ อาทิวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ ระบบโลกและอวกาศ เป็นต้นจึงสมควรต้องมีสถานที่ทำการที่ถาวรที่สามารถประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุนหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆได้ และเนื่องจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมีความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก การมีที่ตั้งถาวรของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

       หลังจากที่สถาบันฯ ได้รับมอบพื้นที่และทำสัญญาเช่าพื้นที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์เรียบร้อยแล้ว จึงได้เข้าไปปรับปรุงพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารต่างๆในพื้นที่ที่ได้รับมอบมาแล้วจากกรมธนารักษ์ สถาบันฯได้ดำเนินการออกแบบอาคารต่างๆในสถาบันโดย ผศ. ดร. ทรงเกียรติ เที้ยธิทรัพย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีอาคารสำนักงานใหญ่ อาคารโรงประลอง อาคารติดตั้งเครื่องเคลือบกระจก อาคารท้องฟ้าจำลอง และหอดูดาว ในพื้นที่ประมาณ ๕๔ ไร่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้าง คือ บริษัท คีน คอนเทคเตอร์ จำกัดเพื่อให้ดำเนินการตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ การดำเนินการผ่านขั้นตอน และปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งการขยายสัญญาและการแก้ไขรูปแบบรายการเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างอย่างเต็มที่โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดจากผู้คุมงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างโดยในขณะนั้น คุณธนา ธนาเจริญพร ตำแหน่งขณะนั้นคือหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเข้ามาดูแลเรื่องการตรวจการจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังจากที่สถาบันฯ ประสบปัญหาหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การก่อสร้างดำเนินการได้อย่างรวดเร็วสำเร็จลุล่วงตามกำหนดเวลา

      ในช่วงที่การก่อสร้างอุทยานดาราศาสตร์ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง สถาบันฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์อุทยานดาราศาสตร์ ณ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ในวันนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จมาในพิธีเปิดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๕๖ ซึ่งประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ จึงทรงรับเชิญเสด็จฯมาวางศิลาฤกษ์ที่อุทยานดาราศาสตร์ในครั้งนี้ ในวันนั้นมีเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจให้แก่ปวงบุคลากรของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่จะเสด็จมายังบริเวณที่จะวางศิลาฤกษ์ซึ่งสถาบันฯจัดไว้บริเวณพื้นดินว่างเปล่าด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ที่กำลังจะก่อสร้าง ซึ่งตามกำหนดการพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมาถึงในเวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. แต่ทว่าในวันนั้นในช่วงเวลาใกล้เสด็จพระราชดำเนินฯ เกิดมีฝนฟ้าคะนองอย่างหนักจนขบวนเสด็จไม่อาจเดินทางมาได้ ผู้เขียนซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งด้วยเกรงว่าพระองค์ท่านอาจไม่สามารถเสด็จมา ณ สถานที่วางศิลาฤกษ์ได้ ซึ่งในเวลานั้นมีแขกเหรื่อจำนวนมากมายมารอรับเสด็จอยู่ ประมาณ ๑๒.๐๐ น. ส่วนล่วงหน้าเตรียมการรับเสด็จ นำโดย พันเอก วันชัย เยี่ยมสวัสดิ์ รองสมุหราชองครักษ์ เดินทางมาถึงสถานที่วางศิลาฤกษ์  แจ้งผู้เขียนว่าพระองค์ท่านทรงเสวยพระกระยาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว ทรงเมตตารอที่จะเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์อยู่ แต่เสด็จพระราชดำเนินมาไม่ได้เนื่องจากฝนไม่หยุดตก จึงขอหารือว่าจะย้ายสถานที่วางศิลาฤกษ์เข้ามาในอาคารเคลือบกระจกบริเวณโรงประลองซึ่งขณะนั้นอาคารสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วได้หรือไม่ ผู้เขียนตัดสินใจทันทีที่จะย้ายที่วางศิลาฤกษ์เข้ามาในบริเวณอาคารเคลือบกระจกดังกล่าว แล้วเชิญแขกผู้มีเกียรติตั้งแถวรับเสด็จบริเวณอาคารเคลือบกระจกของอุทยานดาราศาสตร์ วันนั้นมีฝนโปรยลงมาค่อนข้างหนาเม็ดอย่างต่อเนื่องไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก แต่แล้วเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ขบวนเสด็จก็มาถึงอุทยานดาราศาสตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเสด็จลงจากรถที่นั่งด้วยพระพักตร์ที่ยิ้มแย้ม รับสั่งว่าทรงรอให้ฝนหยุดนานแล้ว แต่ฝนไม่หยุด พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกมาเลย อาจเป็นด้วยพระบารมีของพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถึง ฝนที่ตกหนาเม็ดอย่างต่อเนื่องกลับหยุดตกโดยสิ้นเชิง เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้รอเฝ้ารับเสด็จเป็นอย่างยิ่ง พิธีการวางศิลาฤกษ์อุทยานดาราศาสตร์จึงเริ่มขึ้นในอาคารเคลือบกระจก ณ บัดนั้น

         เมื่อได้ฤกษ์งามยามดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) กราบทูลถวายรายงานความเป็นมาของอุทยานดาราศาสตร์และการดำเนินการก่อสร้าง หลังจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเสด็จพระราชดำเนินไปตรงหน้าเครื่องเคลือบกระจกกดปุ่มแสดงสัญลักษณ์ว่าได้โปรดเกล้าฯวางศิลาฤกษ์แล้ว หลังจากนั้นพระองค์ทรงทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องเคลือบกระจกซึ่งเป็นผลงานของไทยเกิดจากความร่วมมือของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนร่วมกันสร้างโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อใช้เคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๔ เมตรและกระจกของกล้องโทรทรรศน์ของสถาบันต่างๆทั่วประเทศ และเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานของสถาบันด้วยความสนพระราชหฤทัย ในโอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กราบทูลขอพระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” เพื่อเป็นศิริมงคลแก่สถาบันฯและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสืบไป ต่อมาในปีเดียวกันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้โปรดเกล้าฯพระราชทานนาม “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” โดยเรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Princess Sirindhorn AstroPark” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงประทานให้แก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

      การก่อสร้างอุทยานแห่งชาติ ระยะที่ ๑ ดำเนินไปจนกระทั่งแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ และได้ส่งมอบอาคารสำนักงานใหญ่และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจึงย้ายสถานที่ทำงานจากอาคารศิริพานิช ถนนห้วยแก้ว มายังสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ตำบลดอนแก้วเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ นับเป็นการดำเนินงานในระยะแรกของอุทยานดาราศาสตร์ที่มีอาคารสำนักงานใหญ่และหอดูดาวที่พร้อมเปิดดำเนินการได้ สำหรับในระยะที่ ๒ เป็นการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองขนาด ๑๘๐ ที่นั่งพร้อมโซนนิทรรศการ ดำเนินการสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พร้อมให้ดำเนินการบริการวิชาการแก่ประชาชนได้ สถาบันฯจึงดำริที่จะเปิดอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๖๓

 

PP08

PP09

 

            นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงแก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรอีกวาระหนึ่ง เพื่อทรงเปิดสถานที่แห่งนี้อย่างเป็นทางการ