องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา ตัดสินใจขยายระยะเวลาปฏิบัติภารกิจของยานสำรวจดาวเคราะห์ 2 ลำ เนื่องจากมีผลงานการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเป็นจำนวนมาก ได้แก่ จูโน (JUNO) และ อินไซต์ (InSight) สองภารกิจที่กระตุ้นให้เกิดคำถาม และเพิ่มเติมความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุริยะอย่างมหาศาล

juno pia22946 16 (Small)

ยานอวกาศจูโน มีผลงานค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมากมายเกี่ยวกับโครงสร้างภายใน และสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดี ทำให้ทราบว่าการเคลื่อนที่ของสสารภายในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีมีความซับซ้อนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดไว้ นาซาจึงขยายภารกิจของยานอวกาศจูโนออกไปถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2568 หรือจนกว่ายานจะใช้การไม่ได้ (แล้วแต่อย่างใดอย่างนึงจะถึงก่อน) ภารกิจของยานอวกาศจูโนไม่เพียงแค่ศึกษาดาวพฤหัสบดีเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตการศึกษาไปยังวงแหวน และดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เช่น ไอโอ ยูโรปา และแกนีมีด ด้วยการสังเกตการณ์และบินโฉบ (Flybys) อีกด้วย

insight pia22743 2 (Small)

ส่วนยานสำรวจอินไซต์ จะขยายภารกิจออกไปเป็นเวลาสองปี จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ยานสำรวจลำนี้ได้วางเครื่องตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (seismometer) บนพื้นผิวดาวอังคารบริเวณที่ยานลงจอด คอยตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนที่ผ่านชั้นต่าง ๆ ภายในตัวดาวอังคาร ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างแบบจำลองโครงสร้างภายในของดาวอังคารได้แม่นยำขึ้น สำหรับการขยายภารกิจ ยานสำรวจอินไซต์จะให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาชุดข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวบนดาวอังคารที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยการเก็บข้อมูลจากเครื่องวัดสภาพอากาศและเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือนที่ฝังอยู่โดยรอบ รวมถึงตรวจวัดความร้อนและคุณสมบัติทางกายภาพบริเวณพื้นผิวดาวอังคาร (ให้ความสำคัญต่ำ) 

ภารกิจที่ขยายออกไปทำให้นาซาสามารถดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ต้นทุนต่ำกว่าการเริ่มภารกิจใหม่ ที่ผ่านมาการขยายภารกิจยังช่วยให้ภารกิจนั้น ๆ ได้รับชุดข้อมูลในระยะยาวมากขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาชุดข้อมูลดังกล่าวให้มีคุณภาพสูงขึ้นอีกด้วย หรือแม้กระทั่งบางภารกิจสามารถบินโฉบเข้าไปยังวัตถุเป้าหมายอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไปอย่างแน่นอน

 

 

ที่มา

https://www.nasa.gov/feature/nasa-extends-exploration-for-two-planetary-science-missions

เรียบเรียงโดย

ธนกฤต สันติคุณาภรต์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ