Ep 34. Astronomy Outreach : NARIT Model นำดาราศาสตร์สู่สังคมไทยในทุกระดับ โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (1/2)

 34 01  

 

          แม้ดาราศาสตร์จะน่าสนใจเพียงใด แต่มุมมองของคนส่วนใหญ่มักมีข้อสงสัยว่า “ดาราศาสตร์สำคัญอย่างไรกับสังคมไทย” เพราะการเรียนรู้เรื่องดวงดาว ดูเหมือนจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และไม่มีผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม…

 

          นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ NARIT มุ่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ สร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์สู่สังคมไทย รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น อันเป็นที่มาของการสรรค์สร้าง #นวัตกรรมองค์กร … #ด้านการบริการวิชาการและการสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคม  (Astronomy Outreach : NARIT Model) ที่ได้รับการยอมรับจากผู้นำของหน่วยงานดาราศาสตร์นานาชาติ หลายสถาบันทั่วโลก  NARIT ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบใดบ้างนั้น ขอนำมาเล่าสู่กันอ่านใน Ep. นี้ครับ

  

          เชื่อว่าหลายคนรู้จัก NARIT ในภาพลักษณ์ของ #องค์กรดูดาว จากบทบาทการเป็นองค์กรด้านดาราศาสตร์ของชาติ กว่า 12 ปีที่ผ่านมา พันธกิจหลักประการหนึ่ง ที่ NARIT ดำเนินการมาอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ คือการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดาราศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนำเสนอบทบาทขององค์กร ผ่านกิจกรรม และการให้บริการวิชาการดาราศาสตร์ ตั้งแต่สนับสนุนการเรียนการสอนดาราศาสตร์ กิจกรรมดาราศาสตร์ และการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ  ควบคู่ไปกับการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ และหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน เพื่อให้บริการดาราศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง ปัจจุบัน เปิดบริการแล้ว 4 แห่งได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ. เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา 

 

#กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน...เพื่อผลสัมฤทธิ์สูงสุดที่มุ่งหวัง

          NARIT มุ่งเผยแพร่องค์ความรู้ และสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคมไทย ไปยัง 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) เยาวชน นักเรียน นักศึกษา 2) ครู บุคลากรทางการศึกษา  3) ประชาชนทั่วไป และ 4) นักดาราศาสตร์สมัครเล่น  ผ่านกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในหลากหลายมิติ  ได้แก่ การบ่มเพาะให้เกิดสังคมอุดมปัญญา การสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้สังคมไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์รากฐานของชาติ การพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังขยายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้นเพื่อให้ดาราศาสตร์เข้าถึงคนทั้งมวลได้อย่างไร้ขีดจำกัด

 

#ผลิตต้นกล้าดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ 

          NARIT ส่งเสริม สนับสนุน และถ่ายทอดองค์ความรู้ดาราศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจ แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ ค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ค่ายดาราศาสตร์สำหรับชมรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน รวมทั้งค่ายดาราศาสตร์สำหรับเยาวชนในหอดูดาวภูมิภาคต่าง ๆ เปิดโอกาสให้เยาวชนสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าและวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์อันทันสมัย สร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เรียนรู้การทำงานและกระบวนการศึกษาดาราศาสตร์กับนักดาราศาสตร์มืออาชีพ 

 

#สนับสนุนองค์ความรู้ดาราศาสตร์แก่ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา 

          วิชาดาราศาสตร์ถูกบรรจุไว้ในเนื้อหาสาระการเรียนรู้ โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2551 วิชานี้จึงถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับครูผู้สอน NARIT จึงร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. จัดอบรมครูเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์ 3 ระดับ ได้แก่ การอบรมครูเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์ขั้นต้น ปูความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ การสังเกตการณ์อย่างง่าย มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ พร้อมส่งต่อความรู้ทางดาราศาสตร์สู่นักเรียน การอบรมครูเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์ขั้นกลาง มุ่งเน้นการฝึกทักษะ และประสบการณ์การสังเกตวัตถุท้องฟ้า การใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางดาราศาสตร์ และฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง และ การอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง มุ่งเน้นการผลิตผลงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ขยายผลไปสู่การทำโครงงานดาราศาสตร์ในโรงเรียน และนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย และคัดเลือกผลงานเด่นนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการในต่างประเทศ