Ep. 28 NARIT ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กค้นหาแหล่งกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วง

 28 01

NARIT เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการกล้องโทรทรรศน์โกทู (Gravitational-Wave Optical Transient Observer : GOTO) ความร่วมมือระหว่าง 10 หน่วยงานดาราศาสตร์ จากประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และไทย โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร จำนวน 8 ตัว ตั้งอยู่ ณ หมู่เกาะคานารี ราชอาณาจักรสเปน ติดตามสังเกตการณ์วัตถุที่ก่อให้เกิดสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงในช่วงความยาวคลื่นแสง ร่วมกับ LIGO และ Virgo ในปี พ.ศ. 2562 กล้องโทรทรรศน์ในโครงการ GOTO ได้ทำการตรวจหาแหล่งกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วงจาก 29 สัญญานที่ LIGO และ Virgo ตรวจจับได้ ถือเป็นการเริ่มต้นการศึกษาคลื่นความโน้มถ่วงในแวดวงนักดาราศาสตร์ไทย

 

แม้คลื่นความโน้มถ่วงจะถูกทำนายเอาไว้ตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้สร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป แต่การกระเพื่อมของตำแหน่ง และเวลาที่เกิดจากคลื่นความโน้มถ่วงมีค่าน้อยมาก ๆ จึงต้องใช้เครื่องวัดที่มีความแม่นยำ และความไวสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ปี พ.ศ. 2558 LIGO ตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Wave) ได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งคลื่นความโน้มถ่วงที่วัดได้นั้นเกิดจากการรวมตัวของวัตถุมวลมาก การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงทำให้นักดาราศาสตร์สามารถสำรวจอวกาศด้วยการตรวจวัดแบบ ‘พหุพาหะ’ (Multi-Messengers) สามารถศึกษาในหลายสภาวะ นั่นคือไม่จำกัดอยู่เพียงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่อาจศึกษาจากอนุภาค หรือคลื่นชนิดอื่น ๆ ได้ 

 

ความร่วมมือระหว่าง LIGO Virgo และ GOTO ในการตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงร่วมกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นอกจากจะเปิดโอกาสให้เราค้นพบปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ใหม่ ๆ แล้ว ยังทำให้เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เดิมที่เรารู้จักในมุมมองที่ไม่เคยมีใครได้สัมผัสมาก่อน 

 

เรียบเรียง : ดร. อภิมุข วัชรางกูร  นักวิจัย กลุ่มวิจัยจักรวาลวิทยาและฟิสิกส์พลังงานสูง NARIT