Ep. 9 อภิมหาข้อมูลดาราศาสตร์  กับ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ “ชาละวันคลัสเตอร์” ของไทย

09 01

 

NARIT เก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์จำนวนมหาศาล ที่นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศใช้โครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ของไทย ติดตั้งอยู่ในประเทศ ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาด 2.4 เมตร  บนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ กล้องโทรทรรศน์ ขนาด 0.7 เมตร ของหอดูดาวภูมิภาคนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา และในต่างประเทศ มีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.6-0.7 เมตร ที่ติดตั้ง ณ สหรัฐอเมริกา ชิลี จีน และออสเตรเลีย เก็บข้อมูลงานวิจัยทางดาราศาสตร์  ข้อมูลดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่งต่องานวิจัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศปฏิบัติงานด้านระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing : HPC) และศูนย์ข้อมูลดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Astronomical Data center) เพื่อจัดเก็บ สำรอง และช่วยสืบค้นข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ

ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง มีชื่อเรียกว่า ‘ชาละวันคลัสเตอร์’  (Chalawan High Performance Computing Cluster) ใช้ในงานวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา และสภาพอวกาศ ช่วยให้นักดาราศาสตร์และนักวิจัยประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อน ทั้งในแง่เทคนิคการตรวจวัดสัญญาณที่ต้องทำตัวเปรียบเทียบแบบจำลองตัวตรวจวัดสัญญาณ ไปจนถึงการวิเคราะห์ทางทฤษฎีและแบบจำลองทางฟิสิกส์ ทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจกระบวนการของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจากข้อมูลการสำรวจและการทดลอง

NARIT มีทรัพยากรเพื่อคำนวณงานวิจัยใน พ.ศ. 2562 จำนวน 600 CPU cores และหน่วยประมวลผลแบบกราฟิกการ์ดทั่วไป (General Purposed Graphic Processing Units: GPGPU) แบบ Tesla V100 NVLink จำนวน 12 หน่วย มีหน่วยความจำ RAM ประมาณ 4 เทระไบต์ (Terabyte : TB) ความเร็วระบบสื่อสารภายในคลัสเตอร์อยู่ที่ 56 กิกะบิต (Gigabit) ต่อวินาที ช่วยให้ ‘ชาละวันคลัสเตอร์’ มีขีดความสามารถในการคำนวณ Rpeak โดยรวมประมาณ 120 เทระฟล็อปส์ (teraFLOPS) หรือ 120 ล้านล้านการคำนวณต่อวินาที มีหน่วยจัดเก็บข้อมูลระบบจัดการไฟล์แบบขนาน ขนาดความจุประมาณ 400 เทระไบต์

สำหรับศูนย์ข้อมูลดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บและสำรองข้อมูล รวมถึงระบบเรียกใช้และสืบค้นข้อมูลจากหอดูดาวแห่งชาติ หอดูดาวภูมิภาค และหอดูดาวระยะไกลในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดการข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ รองรับการทำงานของนักวิจัยให้สามารถสืบค้นจากฐานข้อมูลดาราศาสตร์ทั่วโลกได้อีกด้วย