EP. 8 ยกระดับงานวิจัยดาราศาสตร์ : #EvWaCo ทันสมัยที่สุด โมเดลแรกของโลก อุปกรณ์ลดแสงสว่างดาวฤกษ์ สำหรับศึกษาดาวคู่ และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

08 01

NARIT กำลังพัฒนาโคโรนากราฟรูปแบบใหม่ เรียกว่า อีวาเนสเซนต์ เวฟ โคโรนากราฟ (Evanescent Wave Coronagraph: EvWaCo) สำหรับสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ และช่วงคลื่นที่ตามองเห็น สามารถสังเกตการณ์ได้ทั้งบนพื้นโลกและในอวกาศ เพื่อศึกษาและค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ รวมถึงสังเกตการณ์ดาวคู่ เควซาร์ และใจกลางของกาแล็กซี

EvWaCo เป็นทัศนูปกรณ์เพื่อการวิจัยที่ถูกพัฒนาภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ โดยมีโจทย์ดาราศาสตร์ที่ว่า การศึกษาดาวคู่หรือดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดใหญ่และมีแสงสว่างมาก หลายครั้งที่ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์หรือเก็บข้อมูลสำหรับการวิจัยสิ่งแวดล้อมของดาวฤกษ์ หรือดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แสงของดาวฤกษ์ที่สว่างกว่าจะกลบแสงของ companion star (ดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยกว่า หรือดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงนั้น)

ในปัจจุบัน การศึกษาดาวคู่ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ที่มีความสว่างจ้ามาก ๆ จะทำได้โดยใส่ occult disk (ตัวบดบังแสง) อุปกรณ์ลดความสว่าง เพื่อช่วยลดปริมาณแสงของดาวฤกษ์ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวจะบดบังแสงของ companion star ที่ต้องการศึกษาไปด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว NARIT จึงพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพลดแสงของดาวฤกษ์ แต่ไม่บดบังหรือลดปริมาณแสงของ companion star แนวคิดการพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวมีมานานแล้ว เดิมใช้ปรึซึมประกบแนบกับเลนส์ แล้วอาศัยช่องว่างอากาศที่ไม่ได้อยู่ในจุดที่เลนส์และปรึซึมประกบกัน (ในแนวแกนมุขสำคัญ) ทำให้แสงที่ตกกระทบนอกแนวแกนมุขสำคัญหักเหในทิศทางต่างออกไป โดยแสงของดาวฤกษ์จะวางอยู่ในแนวแกนมุขสำคัญ และแสงของ companion star จะอยู่นอกแกนมุขสำคัญ และหักแหออกมาอีกทิศทาง ทำให้นักดาราศาสตร์นำแสงของดาวฤกษ์และแสงจาก companion star ที่หักเหออกมาไปศึกษาต่อได้

อุปกรณ์อีวาเนสเซนต์ เวฟ โคโรนากราฟ ประกอบด้วย

1) ตัวบดบังแสงรูปแบบใหม่ สำหรับลดปริมาณแสงดาวฤกษ์ แต่ไม่บดบังแสงของวัตถุที่ต้องการสังเกตการณ์ ทำให้สามารถศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีวงโคจรใกล้ดาวฤกษ์ดวงแม่ หรือแม้แต่ศึกษาระบบดาวคู่ที่สมาชิกมีความสว่างแตกต่างกันมาก ๆ ได้

2) ระบบทัศนูปกรณ์ของอะแดปทีฟออปติกส์ ใช้สำหรับแก้ไขผลกระทบจากความแปรปรวนของชั้นบรรยากาศโลก โดยใช้อุปกรณ์วัดหน้าคลื่น และปรับแก้หน้าคลื่น ด้วยกระจกสะท้อนเปลี่ยนรูปร่างได้ที่ความถี่สูง ทำให้ได้ภาพที่คมชัดมากขึ้น

คาดว่า จะสามารถใช้งานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติในปี พ.ศ. 2564 หลังจากนั้นจะพัฒนาและติดตั้งระบบโคโรนากราฟรุ่นต่อไป สำหรับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 เมตร) ร่วมกับหน่วยงานดาราศาสตร์ในต่างประเทศ