EP. 6 ดาราศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ : จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์สู่การพัฒนากายอุปกรณ์

06 01

NARIT ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง เพื่อยกระดับความสามารถงานวิจัยและวิศวกรรม ปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นผู้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ระดับสูง

องค์ความรู้จากการค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ ได้นำมาปรับใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสาขาอื่นๆ มากมาย เช่น อุปกรณ์ของจักษุแพทย์ การสแกนและสร้างภาพ คลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ดังนั้น การนำงานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบและวิเคราะห์เชิงกล การขึ้นรูปชิ้นงานอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ การพัฒนาเครื่องมือทางดาราศาสตร์ มาต่อยอดประยุกต์กับการออกแบบพัฒนากายอุปกรณ​์ อาทิ ขาเทียม แขนเทียม ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

#กายอุปกรณ์ เช่น แขนเทียม ขาเทียม เป็นอุปกรณ์จำเป็นต่อการดำรงชีพของผู้ป่วยและผู้พิการเป็นอย่างยิ่ง แม้ที่ผ่านมาจะได้รับการออกแแบบและผลิตด้วยเครื่องมือที่แม่นยำเที่ยงตรง แต่ก็ยังไม่เหมาะสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและผู้พิการ  จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยออกแบบและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ในประเทศไทยมีผู้พัฒนางานลักษณะนี้ไม่มากนัก #NARIT จึงร่วมกับ #มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนรินทราบรมราชชนนี ศึกษาวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย และผู้พิการ โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เทคโนโลยี และความรู้ความสามารถของบุคลากรทั้งสองหน่วยงานมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและผู้พิการไทยให้มีโอกาสได้ใช้กายอุปกรณ์ที่ดี ทันสมัย และตอบสนองต่อการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ผลงานแรกของ NARIT คือการออกแบบข้อสะโพกขาเทียม เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาของขาเทียมรูปแบบปัจจุบันโดยโปรแกรมวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้าง (Solid Works) พบว่า โครงสร้างเดิมเมื่อได้รับแรงกดจากการใช้งานจริง  ขาเทียมจะแตกหักเสียหายเมื่อใช้งานไปได้ระยะเวลาหนึ่ง  ทีมวิศวกร NARIT จึงออกแบบโครงสร้างขึ้นมาใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีการกัดขึ้นรูป แทนการฉีดขึ้นรูป เป็นวิธีการมาตรฐานในปัจจุบัน เสริมให้โครงสร้างของชิ้นส่วนขาเทียมคงทนแข็งแรงยิ่งขึ้น รับแรงกระแทกได้มากกว่าขาเทียมแบบปัจจุบันถึงสองเท่า ในขณะที่น้ำหนักของขาเทียมลดลงถึง 10% ทั้งยังปรับปรุงวิธีการปรับองศาขาเทียมให้สามารถแยกปรับทีละแนวแกนได้อย่างอิสระ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการเดินของผู้ป่วยและผู้พิการได้ทุกรูปแบบ

นอกจากนี้  NARIT ยังสามารถผลิตชิ้นส่วนขาเทียมโดยใช้เทคโนโลยีการกัดขึ้นรูปที่มีความละเอียดสูงจากห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ตั้งอยู่ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีต้นทุนต่ำและราคาถูก ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้พิการมีโอกาสได้ใช้ขาเทียมคุณภาพดี ได้มากขึ้น

ปัจจุบัน NARIT อยู่ในระหว่างการพัฒนาแขนเทียมไฟฟ้าให้แก่

เด็กหญิงอายุ 12 ปี จากจังหวัดปัตตานี คนไข้ในพระอุปถัมภ์ของ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้พิการแต่กำเนิด ไม่มีแขนทั้งสองข้าง และมีขาเพียงข้างเดียว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้ version 1 พบว่าสามารถใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง ผู้ป่วยสามารถใช้แขนเทียมไฟฟ้า เขียนชื่อตัวเองในกระดาษได้ แต่ยังมีน้ำหนักมาก และปุ่มกดบังคับการใช้งานยังไม่คล่องตัว ทีมวิศวกร NARIT กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อให้ใช้งานได้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

...ดาราศาสตร์ ไม่ใช่แค่การดูดาวสวยๆ บนท้องฟ้า ดาราศาสตร์ยังพาให้เราค้นคว้าหาสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยรู้ ใครจะรู้ว่าดาราศาสตร์อยู่ใกล้ตัวเราอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว...