EP. 2 หุ่นยนต์กล้องดูดาว : เทคโนโลยีดาราศาสตร์ที่ให้เรามากกว่าการศึกษาเอกภพ

02 01

หากพูดถึงการดูดาว หลายคนคงคิดถึงการรอดวงอาทิตย์ตก ภาวนาให้ฟ้าใสไร้เมฆบัง แล้วจึงค่อยส่องดูจากกล้องโทรทรรศน์ แต่นั่นไม่ใช่วิถีของนักดาราศาสตร์ในยุคปัจจุบันเพราะแทนที่เราจะอดหลับอดนอนเฝ้าตามหาดวงดาวที่ศึกษา สิ่งที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติทำคือการมุ่งพัฒนาเครือข่าย “หุ่นยนต์กล้องดูดาว” ที่ใช้งานง่าย สะดวก และตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า

Thai Robotic Telescope Network หรือ TRT คือ เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ เป็นผลงานชิ้นเอกภายใต้ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ของ NARIT ที่เราวางแผนไปติดตั้งในจุดสำคัญทั่วโลก ทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้ ในทวีปฝั่งตะวันออกและตะวันตก ได้แก่ ไทย ชิลี จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสเปน ที่จะทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้าได้อย่างไม่คลาดสายตาตลอด 24 ชั่วโมง การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในหลายด้าน รวมถึงความร่วมมือจากนานาชาติในการใช้พื้นที่และอำนวยความสะดวก ทั้งอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า แรงงาน ส่วนไทยจะทำงานในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม เช่น ระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ การติดตั้ง การสั่งงานจากระยะไกล การเก็บข้อมูล ระบบอัตโนมัติ อีกทั้งการพัฒนาระบบเว็บไซต์ที่เป็นเอกลักษณ์และง่ายต่อผู้ใช้งาน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทย ที่พยายามก้าวข้ามขีดจำกัดต่าง ๆ ด้วยการเนรมิตระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ขึ้นเองให้มากที่สุด นำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือจากภายนอกให้น้อยที่สุด

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักวิจัย ครู อาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา สามารถศึกษาวัตถุท้องฟ้าได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ ผ่านเว็บไซต์ trt.narit.or.th ที่จะควบคุมการทำงานจากระยะไกลด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ทั่วโลก สิ่งที่คุณต้องทำคือการลงทะเบียนส่งโครงร่างในเรื่องที่ต้องการศึกษา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาจัดลำดับการใช้กล้องโทรทรรศน์ตามความสำคัญของเนื้อหา กรอกพิกัดของดาว วันเวลา ตำแหน่งกล้อง และรูปแบบค่าสีที่ต้องการ จากนั้นกล้องโทรทรรศน์จะลำดับการถ่ายภาพและเก็บข้อมูลเชิงลึกด้วยอัลกอริทึมที่เราได้สร้างขึ้น ที่เหลือแค่รอเวลาดาวน์โหลดภาพเมื่อกล้องโทรทรรศน์บันทึกภาพสำเร็จ

ทุกกระบวนการของการพัฒนาและคิดค้นระบบเครือข่ายหุ่นยนต์กล้องดูดาวนี้ ถือเป็นกุญแจที่จะนำไปต่อยอดได้กับภาคอุตสาหกรรมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจ ระบบควบคุมต่าง ๆ รวมถึงภาคการศึกษาในด้านการพัฒนาวิศวกร ช่างเทคนิค และนักศึกษาที่สนใจในงานเทคโนโลยี ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เข้ามาเยี่ยมชม แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

จากนี้ไป NARIT ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับองค์ความรู้ของคนไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง รอติดตามผลงานและเป็นกำลังใจให้คนไทยด้วยกันนะครับ