ดาวเทียมเทสส์มีกล้องทั้งหมด 4 ตัว และอุปกรณ์ถ่ายภาพ CCD ทั้งหมด 16 ตัว ในปีแรกนี้ CCD แต่ละตัวบันทึกภาพไปแล้วทั้งหมด 15,347 ภาพ ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องภาพละ 30 นาที  แบ่งศึกษาท้องฟ้าเป็น 13 ส่วน แต่ละส่วนใช้เวลาถ่ายภาพรวมประมาณ 1 เดือน

as20200116 3 01

ภาพถ่ายทางช้างเผือกในซีกฟ้าใต้โดยดาวเทียมเทสส์ (Transiting Exoplanet Survey Satellite : TESS) ของนาซา  จุดสว่างตรงกลาง คือกาแล็กซีแมกเจลแลนใหญ่ ถัดออกมา คือกาแล็กซีแมกเจลแลนเล็ก ภาพนี้เกิดจากการนำภาพถ่ายทั้งหมด 208 ภาพ มาประกอบเข้าด้วยกัน

ดาวเทียมเทสส์เก็บภาพท้องฟ้าซีกใต้ครบสมบูรณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ข้อมูลทั้งหมดเทียบได้กับปริมาณข้อมูลภาพยนตร์ความละเอียดสูงจำนวน 6,000 เรื่อง นอกจากนี้ยังค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอีกจำนวน 29 ดวง จากภาพนี้ยังมีอีกนับพันดวงที่กำลังรอการยืนยันจากนักดาราศาสตร์

as20200116 3 02

ระหว่างที่ดาวเทียมเทสส์ถ่ายภาพเพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ดาวเทียมดวงนี้ยังได้ถ่ายภาพของดาวหาง ภาพการระเบิดของดาวฤกษ์หรือ “ซูเปอร์โนวา” และภาพดาวฤกษ์ที่ถูกหลุมดำมวลยวดยิ่งฉีกออก หลังจากดาวเทียมเทสส์สำรวจซีกฟ้าใต้เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะหันไปทางซีกฟ้าเหนือเพื่อเริ่มศึกษาท้องฟ้าบริเวณนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี

สามารถติดตามชมวัตถุที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากวิดีโอตามลิงก์ข้างล่างนี้ :

https://www.youtube.com/watch?time_continue=209&v=P3KevBr4go4&feature=emb_title

เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/feature/goddard/2019/nasa-s-tess-presents-panorama-of-southern-sky

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2915