2000 QW7 เป็นดาวเคราะห์น้อยดวงล่าสุดที่กำลังจะโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 14 กันยายน 2562 เวลา 23:54 น. ตามเวลาสากล โดยช่วงเวลาดังกล่าวดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณห้าล้านกิโลเมตร หรือ ประมาณ 14 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ เช่นเดียวกับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นที่เข้ามาใกล้และผ่านไปโดยไม่เกิดการชนได ๆ สิ่งที่ทำให้ 2000 QW7 ได้รับความสนใจคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 650 เมตร ใกล้เคียงกับความสูงของตึก บุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ (Burj Khalifa) อาคารที่สูงที่สุดในโลกในประเทศดูไบ

as20190902 1 01 as20190902 1 02

( ซ้าย ) วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2000 QW7 ในวันที่ 14 กันยายน 2562 เป็นช่วงเวลาที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด
( ขวา ) ภาพเปรียบเทียนตำแหน่งของ 2000 QW7 ตอนที่เข้าใกล้มากที่สุดเทียบกับวงโคจรของดวงจันทร์
( ภาพจาก Jet Propulsion Laboratory: JPL )

as20190902 1 03

ภาพเปรียบเทียบขนาดของ 2000 QW7 กับสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่บนโลก(ภาพจาก The Sun)

ในทางเทคนิค 2000 QW7 นอกจากจะเป็นวัตถุใกล้โลกแล้วยังอยู่ในรายชื่อของวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก (Potentially Hazardous Object) เพราะระยะห่างตอนที่เข้าใกล้ที่สุดน้อยกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (2000 QW7 ห่างแค่ 0.036 หน่วยดาราศาสตร์) จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยมีเครือข่ายของหอดูดาวทั่วโลกคอยเฝ้าสังเกตการณ์ เพราะข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นจะทำให้การคำนวนเส้นทางการโคจรแม่นยำมากยิ่งขึ้น

นับตั้งแต่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้โดยระบบติดตามวัตถุใกล้โลกของนาซา NEAT (Near-Earth Asteroid Tracking) ในวันที่ 26 สิงหาคม 2543  มีการเก็บข้อมูลดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 943 ครั้ง ซึ่งแม่นยำพอที่จะยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไม่ชนโลกอย่างแน่นอน 

วงโคจรของ 2000 QW7 ไม่ได้ตัดกับวงโคจรของโลก เส้นทางการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของมันแค่ทาบกับวงโคจรของโลก เรียกลักษณะการโคจรแบบนี้ว่า เอเมอร์ (Amor) โดยโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 2.72 ปี และเคลื่อนที่ในอวกาศด้วยความเร็วสูงมาก นักวิทยาศาสตร์คำนวนได้ว่าช่วงที่มันเข้าใกล้โลกจะมีความเร็วสูงถึง 23,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลใด ๆ เพราะทิศทางของดาวเคราะห์น้อยไม่ได้มุ่งมาที่โลก มันยังคงเดินทางไปตามเส้นทางของมัน 

ถึงแม้เรามักจะใช้ความว่า “เฉียด” กับการเข้ามาใกล้ของดาวเคราะห์น้อย แต่คำนี้ใช้เมื่อเทียบกับการบอกระยะห่างของวัตถุในระบบสุริยะซึ่งถือว่าห่างไกลจากระยะห่างที่มนุษย์คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ยังเคยเข้ามาใกล้โลกแล้วในตอนที่เพิ่งค้นพบครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้น 

รายชื่อดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาใกล้โลกสามารถดูได้จากหน่วยงานของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลที่ชื่อว่า “ไมเนอร์แพลนเน็ตเซนเตอร์” (https://minorplanetcenter.net/data) มีดาวเคราะห์น้อยผ่านเข้ามาใกล้โลกเกือบทุกวัน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ด้วยระห่างที่แตกต่างกัน ความกังวลเรื่องวันสิ้นโลกที่เกิดจากอุกกาบาตชนจึงเป็นเหมือนเรื่องล้อเล่นเพราะการชนที่สร้างความเสียหายให้กับโลกในระดับที่เรียกว่า “โลกแตก” เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อประมาณ 60 ล้านปีก่อนในยุคไดโนเสาร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา หรือนาซายังเคยแถลงในหน้าเว็ปไซตของตนว่า “ในอีก 100 ปี จะไม่มีการพุ่งชนในระดับทำลายล้างมนุษยชาติเกิดขึ้นแน่นอน”

บนหน้าเว็บไซต์ของไมเนอร์แพลนเน็ตเซนเตอร์ จะแสดงรายชื่อของดาวเคราะห์น้อยที่จะเข้ามาไกล้โลก พร้อมวันเวลาที่เข้าใกล้ ระยะห่างและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง นอกจากนี้ยังสามารถหาข้อมูลอย่างละเอียดย้อนหลังได้จากศูนย์ข้อมูลวัตถุไกลโลกที่เป็นของ นาซา/เจ พี แอล/ ( NASA/JPL) https://cneos.jpl.nasa.gov/ca/

ปัจจุบันมีการเข้าถืงข้อมูลเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ข่าวสารเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเพิ่มขึ้นและเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แต่ความเข้าใจของผู้คนยังติดภาพการทำลายล้างในยุคไดโนเสาร์ และภาพยนต์ฮอลลีวูด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความวิตกขึ้น 

การเสพข้อมูลจำเป็นต้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแหล่งอ้างอิงอื่น ๆ ประกอบด้วย ซึ่งในหลายครั้งสื่อที่นำเสนอข่าวไม่ได้ให้ไว้ ในยุคปัจจุบันเราจำเป็นต้องปกป้องตัวเองจาความเข้าใจผิดที่จะเกิดขึ้นจากการับข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการหาข้อมูลและความคิดเชิงวิเคราะห์จำเป็นอย่างมาก เช่นการเลือกเชื่อข่าวจากแหล่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ อย่าเพิ่งเชื่อเมื่อได้รับข้อมูลใด ๆ ในครั้งแรก ควรมีการตรวจสอบความถูกต้องอยู่เสมอ

 

เรียบเรียง
สิทธิพร  เดือนตะคุ

อ้างอิง
https://science.nasa.gov/science-news/science-at-nasa/2000/ast01sep_1
www.minorplanetcenter.net/
https://cneos.jpl.nasa.gov/stats/
https://www.nasa.gov/jpl/nasa-there-is-no-asteroid-threatening-earth

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 3444