การค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แคระมาคีมาคี
12 พฤษภาคม 2559
ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์รู้จักดาวเคราะห์แคระในระบบสุริยะชั้นนอกจำนวน 4 ดวง ได้แก่ พลูโต,อีริส,เฮาเมอา และมาคีมาคี ซึ่งดาวเคราะห์แคระมาคีมาคีนั้นไม่มีดวงจันทร์บริวารเลย ในขณะที่ดวงอื่นๆล้วนมีดวงจันทร์บริวารหนึ่งดวง นักดาราศาสตร์พยายามค้นหาดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แคระมาคีมาคีด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล มาตั้งแต่ปี 2006 แต่ก็ไม่พบ
ภาพจินตนาการแสดงดาวเคราะห์แคระมาคีมาคีและดวงจันทร์บริวารของมัน
วงโคจรของดาวเคราะห์แคระในแถบไคเปอร์และดาวเนปจูน
ล่าสุด IAU's Minor Planet Center และ Space Telescope Science Institute ประกาศว่าภาพจำนวนมากที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2015 แสดงให้เห็นดวงจันทร์บริวารของมาคีมาคีซึ่งมีค่าความสว่างเพียง 24.8 (สลัวกว่ามาคีมาคีถึง 1,300 เท่า) โดยผู้ค้นพบคือ Alex Parkerและคณะวิจัย แห่ง สถาบันวิจัย Southwest
ดวงจันทร์ของมาคีมาคีถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า S/2015 (136472) 1 แต่เรียกแบบสั้นๆแบบไม่เป็นทางการว่า MK2
ภาพดวงจันทร์ MK2 (ปลายลูกศร) ดวงสว่างตรงกลางคือมาคีมาคี ภาพนี้ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือแม้ว่า MK2 จะปรากฏอย่างชัดเจนในภาพถ่ายของวันที่ 27 เมษายน 2015 แต่อีกสองวันต่อมามันกลับหายไป นักวิจัยเชื่อว่ามันถูกกลบโดยแสงของดาวเคราะห์แคระมาคีมาคี หลักทางสถิติบ่งชี้ว่าดวงจันทร์ MK2 น่าจะโคจรอยู่ไม่ห่างจากมาคีมาคีนัก ทว่าหลังจากทำการวิเคราะห์ใหม่โดยละเอียด ทีมวิจัยได้ข้อสรุปใหม่ว่าดวงจันทร์ MK2 อาจอยู่ห่างจากดาวเคราะห์แคระมาคีมาคีที่ระยะ semimajor axis มากถึง 300,000 กิโลเมตร ด้วยคาบการโคจรเกือบ 2 ปี ระนาบการโคจรเอียง 63° ถึง 87°
การค้นพบดวงจันทร์ MK2 ช่วยคลี่คลายปัญหาอย่างหนึ่งที่คาใจนักดาราศาสตร์ นั่นคือ กล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์และกล้องโทรทรรศน์เฮอร์เชลพบว่าการแผ่รังสีความร้อนจากมาคีมาคีนั้นไม่สอดคล้องกับการที่มาคีมาคีไม่มีดวงจันทร์บริวาร ผลการสังเกตทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่า MK2 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 175 กิโลเมตรและพื้นผิวมีการสะท้อนแสงเพียง 4 % ซึ่งถือว่าดำมาก
การค้นพบในครั้งนี้มีบางอย่างคล้ายคลึงกับตอนที่นักดาราศาสตร์เคยค้นพบดวงจันทร์แครอนของดาวพลูโตเมื่อหลายปีก่อน นักดาราศาสตร์เชื่อว่ามันจะนำมาซึ่งความรู้มากมายเกี่ยวกับมาคีมาคีและวัตถุอื่นๆในแถบไคเปอร์
- หากนักดาราศาสตร์ทราบลักษณะวงโคจรที่แน่นอน ก็จะสามารถทราบค่าความหนาแน่นของมาคีมาคีได้ (ตอนนี้ความหนาแน่นของมาคีมาคีอยู่ในช่วง 1.4-3.2 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร)
- หากผิวของมันดำจริง คำถามคือเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มันถูกแรงโน้มถ่วงมาคีมาคีดึงดูดมาเป็นบริวารหรือมันเกิดจากสสารของดวงจันทร์มาคีมาคีที่หลุดออกมาจากการชนเป็นระยะเวลานานมารวมตัวกัน
อ้างอิง
http://www.skyandtelescope.com/astronomy-news/a-moon-for-makemake/
เรียบเรียงโดย
อาจวรงค์ จันทมาศ