การศึกษาดาวเคราะห์น้อยคู่ชื่อ Patroclus-Menoetiusได้เผยให้เห็นความวุ่นวายและปั่นป่วนของระบบสุริยะในยุคเริ่มต้น โดยดาวเคราะห์น้อยคู่นี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัส โดยดาวเคราะห์น้อยโทรจันเหล่านี้จะโคจรรอบดวงอาทิตย์ในวงโคจรที่ใกล้เคียงกับวงโคจรของดาวพฤหัส 


ภาพจำลองของดาวเคราะห์น้อยคู่ Patroclus-Menoetius

        นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์น้อยโทรจันเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างที่บรรดาดาวเคราะห์แก๊สขนาดใหญ่ทั้ง 4 ต่างแย่งชิงตำแหน่งในระบบสุริยะ แต่คำถามนั้นก็คือ มันเกิดขึ้นมาตอนไหน

        งานวิจัยล่าสุดนี้ อธิบายว่าดาวเคราะห์น้อยโทรจันเกิดขึ้น 100 ล้านปีหลังจากระบบสุริยะถือกำเนิดขึ้น ไม่อย่างนั้น Patroclusและ Menoetiusจะไม่มีทางอยู่ในที่ ๆ มันอยู่อย่างในปัจจุบันนี้ได้แน่นอน งานวิจัยนี้ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Astronomy 

        ในช่วงที่ระบบสุริยะกำลังปั่นป่วน ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนถูกผลักให้ออกไปไกลดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น และนั่นทำให้ดาวเคราะห์ทั้งสองเหวี่ยงเอาวัตถุขนาดเล็กจากด้านนอกของระบบสุริยะ (ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าคือแถบวัตถุไคเปอร์) เข้ามาสู่ระบบสุริยะชั้นใน และสุดท้ายก็ถูกแรงดึงดูดของดาวพฤหัสจับเข้ามาเป็นดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ซึ่งโคจรนำหน้าและตามหลังดาวพฤหัสอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

        เมื่อทีมวิจัยทำการสร้างแบบจำลองการเกิดวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ เทียบกับข้อมูลที่มีของ Patroclus-Menoetiusแล้ว พวกเขาคาดการณ์ว่าความวุ่นวายนี้ต้องเกิดขึ้นในช่วงต้น ๆ ของระบบสุริยะเลย ไม่เช่นนั้นดาวเคราะห์น้อยคู่จะไม่มีทางรอดมาได้อย่างแน่นอน เนื่องจากทั้งคู่จะถูกแยกออกจากกันตั้งแต่ก่อนที่จะโดนเหวี่ยงเข้ามาสู่ดาวพฤหัสแล้ว

        ถ้าความวุ่นวายปั่นป่วนของระบบสุริยะเกิดขึ้นในระยะ 100 ล้านปีแรกเป็นจริง มันจะสามารถอธิบายปัญหา Late Heavy Bombardment ที่เกิดขึ้นประมาณ 400-700 ล้านปีหลังการเกิดของระบบสุริยะได้ว่าเป็นฝีมือของดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ชั้นในของระบบสุริยะ ซึ่งในช่วงนั้นวัตถุที่หลงเหลือจากการเกิดของดาวเคราะห์ได้พุ่งเข้าใส่ดาวเคราะห์ชั้นในเป็นจำนวนมาก ซึ่งแผลเป็นเหล่านี้สามารถค้นพบได้บนดวงจันทร์และดาวอังคาร

        ในปีค.ศ. 2021 นี้ องค์การนาซาจะปล่อยยานอวกาศ Lucy ออกเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงต่าง ๆ และ Patroclus-Menoetiusนี้ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการสำรวจด้วย และไม่แน่ว่าเราอาจได้รู้อะไรใหม่ ๆ จากการสำรวจในครั้งนี้ก็เป็นได้

 

เรียบเรียงโดย 
กรทอง วิริยะเศวตกุล
( สอบเทียบวุฒิ GED ม.6 ปัจจุบันกำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย )

บรรณาธิการ
อาจวรงค์ จันทมาศ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาราศาสตร์

อ้างอิง
https://www.sciencealert.com/asteroid-binary-pair-show-jupiter-and-saturn-wrecked-solar-system-early
https://www.space.com/41786-strange-binary-asteroid-solar-system-disruption.html

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 10740