เกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยว คือ เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ ปัจจุบันมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันมากกว่า 12 เกณฑ์ โดยพิจารณาจากข้อมูลการสังเกตการณ์เป็นหลัก มีตัวแปรเกณฑ์การมองเห็น (Visibility criteria variables) ดังต่อไปนี้

as20210503 1 01

 

as20210503 1 02

แผนภาพแสดงตัวแปรที่ใช้เป็นเกณฑ์การมองเห็นดวงจันทร์

 

  • อายุของดวงจันทร์ (Moon’s age) เริ่มนับตั้งแต่หลังเกิด Conjunction (ดวงจันทร์ปรากฏใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงจันทร์ดับ) จนถึงเวลาที่สังเกตเห็น
  • Moon’s lag time (Lag) คือ ระยะเวลาระหว่างเวลาที่ดวงอาทิตย์ตก (Sunset) และดวงจันทร์ตก (Moonset) หรือ ระยะเวลาที่ดวงจันทร์ค้างฟ้า

Lag Time = เวลาดวงจันทร์ตก - เวลาดวงอาทิตย์ตก

  • Moon’s altitude คือ ค่ามุมเงยของดวงจันทร์
  • Arc of light (ARCL) คือ ระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (Elongation)
  • Arc of vision (ARCV) คือ ค่าความต่างมุมเงยระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
  • Relative Azimuth (DAZ) คือ ค่าความต่างมุมทิศระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
  • Crescent width (W) คือ ขนาดความกว้างส่วนสว่างของจันทร์เสี้ยวที่วัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์

ความเป็นไปได้ที่มองเห็นจันทร์เสี้ยว ไม่สามารถคาดการณ์โดยใช้เกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใดได้  อย่างน้อยต้องใช้สองเกณฑ์ในการพิจารณา อย่างแรกคือเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความสว่างของจันทร์เสี้ยว  อย่างที่สองคือระยะเชิงมุมระหว่างดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ รวมถึงสภาพอากาศในวันที่สังเกตการณ์ และการพัฒนาเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยวส่วนใหญ่ใช้การบันทึกข้อมูลสังเกตการณ์ และวิธีทางทฤษฎีสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบ และกำหนดเกณฑ์ใหม่ ๆ

การศึกษาเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยวเริ่มตั้งแต่สมัยบาบิโลน โดยกำหนดเกณฑ์จันทร์เสี้ยวที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 2 ประการ ข้อแรก อายุของดวงจันทร์จะต้องมากกว่า 24 ชั่วโมงขณะที่ดวงอาทิตย์ตก  ข้อที่สอง Lag Time ของดวงจันทร์ (ช่วงระยะห่างระหว่างเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกและดวงจันทร์ตก) จะต้องมากกว่า 48 นาที และคำนึงถึงความสว่างของดวงจันทร์และท้องฟ้า เช่น ดวงจันทร์สว่างเพียงพอ หรือท้องฟ้ามืดพอที่จะมองเห็นจันทร์เสี้ยวได้หรือไม่  และในช่วงยุคทองของอิสลาม นักดาราศาสตร์อิสลามจำนวนมากสนใจศึกษาและพัฒนาเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยว เพราะศาสนาอิสลาม เป็นหนึ่งในศาสนาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในการเริ่มต้นและสิ้นสุดเดือนกอมารียะห์ (เดือนในปฏิทินอิสลาม) ด้วยการสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาอิสลามในปีฮิจเราะห์ศักราช เช่น อิดิลอัฏฮา (วันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะห์)  อิดิลฟิตรี (วันที่ 1 เดือนเชาวาล) และวันเริ่มทำฮัจญ์  สำหรับบรรดานักดาราศาสตร์ชาวอาหรับรุ่นแรก ๆ ที่ศึกษาเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยว เช่น “อัลตอบารี”(Al-Tabari)  ใช้มุมกด (มุมที่บอกว่าวัตถุอยู่ต่ำกว่าขอบฟ้าเท่าใด) ของดวงอาทิตย์ในการสังเกตจันทร์เสี้ยว โดยถือว่าสามารถมองเห็นจันทร์เสี้ยวได้ เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใต้ขอบฟ้า 9.5 องศา  ขณะดวงจันทร์ตก  และ  “อิบนุ ตอริก” (Ibn Tariq)  ใช้เกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยวแรกด้วยตาเปล่า ขึ้นอยู่กับค่ามุมเงยของดวงจันทร์ขณะดวงอาทิตย์ตก 

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20  เกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยวมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 Fotheringham กำหนดเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยวจากค่าความต่างมุมเงยระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ หรือ เรียกว่า Arc of vision (ARCV) โดยจันทร์เสี้ยวสามารถมองเห็นได้ เมื่อค่า ARCV ไม่ต่ำกว่า 12 องศา ที่ DAZ เท่ากับ 0 องศา  แต่ในปี ค.ศ. 1911 Maunder กำหนดค่า ARCV ต่ำกว่า Fotheringham คือ 11 องศา ที่ DAZ 0 องศา  ต่อมา André Danjon นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้ใช้ข้อมูลสังเกตการณ์ดวงจันทร์ 75 ชุด ด้วยวิธีการทางทฤษฎี เสนอว่าจันทร์เสี้ยวสามารถมองเห็นได้ เมื่อค่าระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีค่ามากกว่า 7 องศา ซึ่งเรียกเกณฑ์นี้ว่า “Danjon’s Limit” 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1983  McNally เสนอว่าทัศนวิสัยเนื่องจากบรรยากาศโลก (atmospheric seeing) มีผลในการสังเกตจันทร์เสี้ยว และเขาสรุปว่า ค่าของ Danjon’s Limit คือ 5 องศา ไม่ใช่ 7 องศา แต่ข้อสรุปนี้ Schaefer  ได้แย้งและอธิบายในงานของเขาเมื่อปี ค.ศ.1991 ว่า ทัศนวิสัยเนื่องจากบรรยากาศโลก (atmospheric seeing) ไม่ได้เป็นตัวแปรหลักในการสังเกตจันทร์เสี้ยว และเสนอโมเดลใหม่ของ Danjon’s Limit คือ 7 องศา นอกจากนี้ มีนักดาราศาสตร์หลายคนเสนอค่าระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (Elongation) แตกต่างกันไป เช่น Mohammad IIyas (1983) เสนอค่า Elongation คือ 10.5  องศา  ขณะที่ Fatoohi (1998) และ Odeh (2004) เสนอค่า Elongation คือ 7.4 องศา และ 6.4 องศา ตามลำดับ  และไม่นานมานี้  Raharto (2019)  ได้เสนอแผนภาพแสดงตำแหน่งต่าง ๆ ของดวงจันทร์ที่สามารถเป็นไปได้ขณะดวงอาทิตย์ตก  โดยใช้ค่า Alt (M) เทียบกับ ค่า Elon และ DAZ   ผลจากการศึกษาครั้งนี้ ได้กำหนดเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยวใหม่ขึ้นอยู่กับค่า Arc of light (ARCL) มีค่าเท่ากับ 6 องศา หรือ 6.4 องศา  ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สังเกต

 

as20210503 1 03

Credit : AFP 2021 / Chaideer Mahyuddin

 

ถึงแม้จะมีการศึกษากันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยว ยังมีการศึกษาและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกมุสลิม เพราะแต่ละประเทศมุสลิม มีเกณฑ์ในการสังเกตจันทร์เสี้ยวต่างกัน บางประเทศยอมรับการคำนวณทางดาราศาสตร์ในการตรวจสอบการเห็นจันทร์เสี้ยวแรก  เช่น ตุรกี มาเลเซีย และอีกหลายประเทศรับรองการมองเห็นจันทร์เสี้ยวด้วยตาเปล่าเท่านั้น เช่น ไทย

ปัจจุบัน ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่บันทึกการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรกทั้งเก่าและใหม่ คือ โครงการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวของอิสลาม  (ICOP: Islamic Crescent Observation Project) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998  ภายใต้โครงการระดับโลกที่จัดโดยสหภาพอาหรับเพื่อดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศ (AUASS) และสมาคมดาราศาสตร์จอร์แดน (JAS) โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก ในแต่ละเดือนกอมารียะห์ (เดือนในปฏิทินอิสลาม) ในประเทศมุสลิมและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยสมาชิก ICOP จะส่งผลการสังเกตการณ์ไปยังผู้ประสานงานของ ICOP และสามารถรับข้อมูลการสังเกตจันทร์เสี้ยวแรกได้ที่ http://www.icoproject.org

 

เรียบเรียง : สุกัญญา มัจฉา - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง

https://www.researchgate.net/publication/225099773_New_Criterion_for_Lunar_Crescent_Visibility

https://www.researchgate.net/publication/342626108_A_New_Crescent_Moon_Visibility_Criteria_using_Circular_Regression_Model_A_Case_Study_of_Teluk_Kemang_Malaysia

 

| Category: บทความดาราศาสตร์ | Hits: 6276