เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตียังคงทำสถิติของตนเองที่จะบินให้ได้เร็วขึ้นเเละไกลขึ้น โดยเที่ยวบินที่สามของอินเจนูอิตีมีขึ้นในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 15:31 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถบินขึ้นได้สูง 5 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงเดียวกับเที่ยวบินที่ 2 ก่อนที่จะร่อนลงในระยะห่างออกไป 50 เมตร โดยมีอัตราเร็วสูงสุดระหว่างการบินที่ 2 เมตร/วินาที

as20210427 2 01

ภาพถ่ายจากรถสำรวจเพอร์เซเวียเเรนส์เเสดงเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตีขณะกำลังบินในเที่ยวบินที่สาม ในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.2021 [Credit ภาพ : NASA/JPL-Caltech]

 

ทีมควบคุมภารกิจในห้องปฏิบัติการ JPL จะนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนสำหรับเที่ยวบินถัดไปในอนาคต

รถสำรวจเพอร์เซเวียเเรนส์ที่จอดอยู่บริเวณ Van Zyl Overlook ทำหน้าที่เป็นสถานีสื่อสารภาคพื้นดินเเละใช้กล้อง Mastcam-Z และได้บันทึกวีดีโอเที่ยวบินครั้งล่าสุดนี้เอาไว้

 

 

คณะทำงานในภารกิจอินเจนูอิตีได้พยายามฝ่าฟันขีดจำกัดของเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ ด้วยการเพิ่มคำสั่งให้ตัวเฮลิคอปเตอร์ถ่ายภาพมากขึ้น สำหรับอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนอินเจนูอิตีประกอบด้วย

- กล้องถ่ายภาพสีที่เริ่มถ่ายภาพเเรกได้ในเที่ยวบินที่สอง

- กล้องถ่ายภาพขาวดำ ที่ใช้นำทางจากการถ่ายภาพเเละประมวลผลลักษณะภูมิประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นผิวใต้เฮลิคอปเตอร์ระหว่างที่บิน

- คอมพิวเตอร์จัดการเที่ยวบินที่ติดตั้งบนอินเจนูอิตี ใช้ควบคุมการบินของเฮลิคอปเตอร์เเบบอัตโนมัติ ซึ่งต้องใช้ชุดคำสั่งที่ป้อนจากโลกมาก่อนหลายชั่วโมง ก่อนที่จะส่งข้อมูลเที่ยวบินกลับมายังโลก

ในเที่ยวบินนี้อินเจนูอิตีจะได้บินไกลขึ้นและมีเวลาในการถ่ายภาพระหว่างเที่ยวบินมากขึ้น เเต่ถ้าบินเร็วเกินไป ชุดคำสั่งจัดการเที่ยวบินอาจไม่สามารถวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศเพื่อนำทางได้ทัน ดังนั้น เที่ยวบินล่าสุดนี้จึงเป็นครั้งเเรกที่อินเจนูอิตีบินเป็นระยะทางที่ไกลและสามารถประมวลผลชุดคำสั่งวิเคราะห์ภูมิประเทศได้สำเร็จ

ห้องทดลองสุญญากาศของ JPL นั้นใช้จำลองสภาพบรรยากาศเบาบางบนดาวอังคารที่อุดมไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ เเต่มีพื้นที่ไม่พอที่จะใช้ทดสอบการบินของเฮลิคอปเตอร์จิ๋วได้ไกลเกินกว่าระยะครึ่งเมตรได้ จึงเกิดความท้าทายว่า “กล้องถ่ายภาพจะใช้นำทางจากลักษณะภูมิประเทศบนพื้นดินขณะที่ตัวเฮลิคอปเตอร์กำลังบินด้วยอัตราเร็วสูงบนดาวอังคารได้หรือไม่”

นอกจากชุดคำสั่งในเที่ยวบินเพื่อนำทางบนดาวอังคารเเล้ว คณะทำงานในภารกิจอินเจนูอิตียังต้องการปรับค่าการถ่ายภาพให้เหมาะสมด้วย เพราะฝุ่นสามารถบังหรือทำให้ภาพถ่ายไม่ชัดเจน ซึ่งซอฟท์เเวร์จัดการเที่ยวบินต้องมีส่วนนี้ด้วย

หลังจากเที่ยวบินที่สามในครั้งนี้ คณะทำงานกำลังวางเเผนสำหรับเที่ยวบินที่สี่บนดาวอังคารของเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตีต่อไป

 

เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

 

อ้างอิง : https://www.jpl.nasa.gov/news/nasas-ingenuity-mars-helicopter-flies-faster-farther-on-third-flight

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 1975