ประเทศจีนได้ส่งยานสำรวจดาวอังคาร ที่มีทั้งยานโคจรรอบตัวดาว ยานลงจอดพร้อมรถสำรวจ ขึ้นสู่อวกาศแล้ว

as20200804 1 01

 จรวดรุ่นลองมาร์ช 5 บรรทุกยานหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร “เทียนเวิ่น 1” ขณะกำลังพุ่งตัวออกจากฐานปล่อยจรวดเหวินชาง ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 [Credit ภาพ : Carlos Garcia Rawlins / Reuters]

 

ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11:41 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จรวดรุ่นลองมาร์ช 5 ของประเทศจีนที่บรรทุกยาน “เทียนเวิ่น 1 (Tianwen-1)” ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ณ ฐานปล่อยจรวดเหวินชาง บนเกาะไห่หนาน (เกาะไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งขั้นตอนการปล่อยจรวดเพื่อส่งยานขึ้นสู่อวกาศเป็นไปอย่างราบรื่น จากนั้นยานเทียนเวิ่น 1 จะจุดจรวดเพื่อให้สามารถออกจากวงโคจรรอบโลกได้ จะใช้เวลาเดินทาง 7 เดือน ก่อนจะถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

as20200804 1 02

 

เทียนเวิ่น 1 (มีความหมายว่า “คำถามสู่สรวงสวรรค์”) จะโคจรรอบดาวอังคารต่อไปจนกระทั่งถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ยานจะปล่อยยานสำหรับลงจอด (Lander) ที่บรรทุกรถสำรวจ (Rover) ลงสู่พื้นผิวดาวเพื่อสำรวจภาคพื้นผิว ในขณะที่ยานโคจรรอบตัวดาว (Orbiter) จะโคจรรอบดาวเพื่อศึกษาชั้นบรรยากาศต่อไป ซึ่งหากทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่น ยานเทียนเวิ่น 1 จะเป็นยานลำแรกของจีนที่ไปถึงดาวอังคารสำเร็จ

สำหรับภาพรวมของยานเทียนเวิ่น 1 ที่จีนจะส่งไปสำรวจดาวอังคาร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่

https://www.facebook.com/NARITpage/photos/p.3237734146290177/3237734146290177/?type=1&theater 

ก่อนหน้านี้ ประเทศจีนเคยส่งยานอิ๋งหั่ว 1 ยานหุ่นยนต์ขนาดเล็กสำหรับโคจรรอบดาวอังคารใน ปี พ.ศ. 2554 โดยติดไปกับยานโฟบอส-กรุนต์ ยานหุ่นยนต์ขนาดใหญ่กว่าของประเทศรัสเซียขึ้นสู่อวกาศ แต่ยานโฟบอส-กรุนต์กลับไม่สามารถจุดจรวดเพื่อออกจากวงโคจรรอบโลก ยานอิ๋งหั่ว 1 ที่ติดไปด้วยจึงไม่สามารถเดินทางไปดาวอังคารได้ ก่อนที่ยานทั้งคู่จะตกลงมาและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555

ภายในเดือนนี้ยังมีกำหนดการส่งยานสำรวจดาวอังคารของชาติอื่นที่เหลือคือ รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ของสหรัฐฯ มีกำหนดปล่อยจรวดในวันที่ 30 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

มาร่วมเอาใจช่วยให้ “คำถามสู่สรวงสวรรค์” เดินทางถึงดาวอังคารอย่างราบรื่น ได้พาให้ประเทศจีนเป็นดินแดนที่ 5 ที่สามารถส่งยานสำรวจดาวอังคารสำเร็จ

 

เรียบเรียง :

พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2451