ดาราศาสตร์ในอารยธรรมมายาแห่งภูมิภาคอเมริกากลาง

เนื่องในวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันชาติของประเทศที่เคยเป็นที่ตั้งของอารยธรรมมายาโบราณ NARIT จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับการค้นพบและสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์อันเก่าแก่ของพวกเขา

ภาพรวมของดาราศาสตร์ในอารยธรรมมายาแห่งภูมิภาคอเมริกากลาง

เนื่องในโอกาสวันที่ 15 กันยายนของทุกปีเป็นวันชาติของ 3 ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง ได้แก่ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส NARIT จึงชวนมาดูเรื่องราวของดาราศาสตร์ของอารยธรรมมายา อารยธรรมโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยครอบคลุมดินแดนภูมิภาคนี้ครับ

อารยธรรมมายา (Maya civilization) เป็นอารยธรรมโบราณที่เจริญรุ่งเรืองในช่วง ค.ศ.250-900 ในดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเม็กซิโก พื้นที่ทั้งหมดของประเทศกัวเตมาลากับเบลีซ และทางตะวันตกของประเทศฮอนดูรัสกับเอลซัลวาดอร์

 

as20200916 01 01

แผนที่บริเวณภูมิภาคอเมริกากลาง แสดงพื้นที่ที่เคยเป็นบริเวณที่อารยธรรมมายาเจริญรุ่งเรืองมาก่อน [Credit ภาพ : Simon Burchell]

 

นักวิชาการและนักวิจัยที่ศึกษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของอารยธรรมมายา พบว่าอารยธรรมมายามีดาราศาสตร์แบบแผนเฉพาะตัว โดยมีจุดเด่นที่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยตาเปล่าที่ค่อนข้างแม่นยำ ร่วมกับอักษรภาพและระบบตัวเลขของตนเอง ประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับดาราศาสตร์มายาโบราณ ดังนี้

1.ปฏิทิน (Calendars) : ปฏิทินของมายามี 3 แบบ ได้แก่

- ปฏิทินแบบ Long Count เป็นปฏิทินที่บอกวันที่ในรูปของจำนวน 5 จำนวนต่อกัน นับวันทบต่อกันเรื่อย ๆ โดยเริ่มต้นนับจากวันที่ 11 สิงหาคม ปี 3114 ก่อน ค.ศ. และวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.2020 จะตรงกับวันที่ 13.0.7.15.5 ในปฏิทินแบบ Long Count ของมายา ปฏิทินแบบนี้ยังหลงเหลืออยู่ในตำรามายาฉบับปารีส (Paris codex) ซึ่งเก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส เสาศิลาจารึก (Stele) ที่มีเนื้อความบันทึกวันที่ตามปฏิทินแบบ Long Count

- ปฏิทินแบบ Tzolkʼin เป็นปฏิทินแบบที่ 1 รอบปฏิทินนาน 260 วัน

- ปฏิทินแบบ Haabʼ เป็นปฏิทินแบบ 1 ปีมี 365 วัน แบ่งเป็น 18 เดือน เดือนละ 20 วัน และช่วงเศษวันอีก 5 วัน

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกเกี่ยวกับการโคจรและตำแหน่งของดวงจันทร์ สำหรับใช้คำนวณเดือนแบบจันทรคติ

 

as20200916 01 02

ภาพวาดลอกลายอักษรภาพมายาตามที่สลักบนโบราณสถานในพื้นที่เมืองโบราณชิเชนอิตซา ประเทศเม็กซิโก ที่นักประวัติศาสตร์และภาษามายาโบราณพิจารณาอักษรภาพ (ตั้งแต่ A2, B2, …, A5) ถอดความเป็นวันที่ 10.2.9.1.9 ตามปฏิทินแบบ Long Count ตรงกับวันที่ 30 กรกฎาคม ค..878

[ภาพวาดโดย Sylvanus Morley นักโบราณคดีชาวสหรัฐ ในปี ค..1915]

 

2.การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ (Astronomical observation) : การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยตาเปล่าในอารยธรรมสมัยก่อน จะเป็นการสังเกตการณ์ตำแหน่งดาวขึ้นตก การสังเกตช่วงที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านจุดเหนือศีรษะเวลากลางวัน ด้วยการสังเกตมองลงมาที่บ่อน้ำตามโบราณสถาน

 

as20200916 1 03

ภาพแสดงเนื้อหาในตำรามายาฉบับมาดริด (Madrid Codex) เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์อเมริกา กรุงมาดริด ประเทศสเปน บริเวณตรงกลางในภาพนี้ แสดงรูปนักบวชกำลังใช้ท่อส่องดาว ปรากฏเป็นรูปคนกำลังนั่งส่องในกรอบพื้นสีดำ

 

ผลการสังเกตการณ์ตำแหน่งดาวเคราะห์ (มีข้อมูลของดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์) ในอารยธรรมมายายังบันทึกไว้ในรูปของปูมดาราศาสตร์ (Almanac) หรือศิลาจารึก เช่น

- กรณีของดาวศุกร์ มีข้อมูลระบุวันแรกและวันสุดท้ายที่จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏในช่วงหัวค่ำหรือในช่วงเช้ามืด พบในตำรามายาฉบับเดรสเดิน (Dresden codex) ซึ่งเก็บรักษาในหอสมุดแห่งรัฐซัคเซิน เยอรมนี กับตำรามายาฉบับเม็กซิโก (Maya codex of Mexico) และข้อมูลเรื่องดาวศุกร์ช่วงที่ปรากฏห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดอยู่ในศิลาจารึก

- กรณีของดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ มีข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ปรากฏถอยหลัง (Retrograde Motion) ของดาวเคราะห์ทั้งสาม ในช่วงที่โลกโคจรแซงดาวเคราะห์เหล่านี้

นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานที่ใช้ในการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อย่างอาคารเอล การาโกล (El Caracol) ที่เมืองโบราณชิเชนอิตซา (Chichen Itza) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก เคยใช้เป็นหอดูดาวเพื่อสังเกตการณ์ตำแหน่งปรากฏของดาวศุกร์

 

as20200916 1 04

อาคารเอล การาโกล อดีตหอดูดาวของอารยธรรมมายา ในเมืองโบราณชิเชนอิตซา ประเทศเม็กซิโก

[Credit ภาพ : Daniel Schwen]

 

3.การวางตัวของโบราณสถาน (Historical site alignments) เช่น โบราณสถานในพื้นที่อารยธรรมมายาเดิมจะสัมพันธ์กับทิศหลักทั้ง 4 หรือตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้น-ตกในช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตกเฉียงไปเหนือหรือใต้มากที่สุด

4.หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ท้องฟ้า เช่น เนื้อความเรื่องการทำนายหรือการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา จะปรากฏในศิลาจารึก เสาจารึก ปูมดาราศาสตร์และตำรามายาฉบับต่าง ๆ

5.หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกลุ่มดาวและทางช้างเผือก เช่น ข้อมูลในตำรามายากล่าวถึงกลุ่มดาว 13 กลุ่มที่ชาวมายาแบ่งตามบริเวณเส้นสุริยวิถี (Ecliptic - เส้นสมมติที่ลากเชื่อมตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าในแต่ละวัน) หรือกล่าวว่ากลุ่มดาวเหล่านี้เป็น “กลุ่มดาวจักรราศีในดาราศาสตร์มายา” หรือข้อมูลในปูมดาราศาสตร์มายาที่กล่าวถึงทางช้างเผือก

ดาราศาสตร์โบราณของมายาเป็นมรดกทางดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรม และยังช่วยส่งเสริมทั้งวงการประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์และการท่องเที่ยวตามประเทศที่มีแหล่งมรดกอารยธรรมมายา เช่น

- อาคารเอล การาโกล ที่เคยใช้เป็นหอดูดาวสมัยอารยธรรมมายารุ่งเรืองอยู่ในพื้นที่เมืองเก่าชิเชนอิตซา ซึ่งเมืองเก่าแห่งนี้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศเม็กซิโก โดยองค์การ UNESCO ในปี ค.ศ.1988

- กิจกรรมการถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่จัดในพื้นที่วัดกรันฆากัวร์ (Astrofotografía Gran Jaguar) ในซากเมืองโบราณตีกัล (Tikal) อดีตเมืองศูนย์กลางของอารยธรรมมายา ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัวเตมาลา

 

as20200916 1 05

ภาพถ่ายท้องฟ้ายามค่ำคืน ณ พีระมิดวัดกรันฆากัวร์ เมืองโบราณตีกัล ประเทศกัวเตมาลา

[Credit ภาพ : Babak Tafreshi]

 

โดยสรุปแล้ว ดาราศาสตร์โบราณของอารยธรรมมายา อารยธรรมโบราณในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก และอีก 4 ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง ปรากฏอยู่ในรูปของปฏิทิน บันทึกโบราณ (ตำรามายา ศิลาจารึก) โบราณสถาน ซึ่งมีข้อมูลการสังเกตการณ์ดวงดาวด้วยตาเปล่า และประเด็นด้านดาราศาสตร์มายา ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมหรือการส่งเสริมวงการประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการท่องเที่ยว

 

ที่มา :

https://en.wikipedia.org/wiki/Maya_astronomy

https://www.coursera.org/lecture/archaeoastronomy/maya-astronomy-and-calendar-ACCmY

http://ircamera.as.arizona.edu/NatSci102/NatSci102/text/extmayaastronomy.htm

 

แปลและเรียบเรียง

พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.