โทมาโนโวส (Tomanowos) อุกกาบาตผู้รอดพ้นจากมหาอุทกภัย และความเขลาของมนุษย์

อุกกาบาตโทมาโนโวส (Tomanowos) หรือ อุกกาบาตวิลลาเมทท์ (Willamette Meteorite) วัตถุที่มาเยือนจากนอกโลกอันโด่งดัง และมีเรื่องราวน่าสนใจมากที่สุดก้อนหนึ่งของโลก มันผ่านเรื่องราวมากมาย ตั้งแต่การก่อกำเนิด การตกลงมาสู่โลก ผ่านทั้งอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุด กลายมาเป็นวัตถุที่ได้รับความเคารพ และมีความสำคัญทางจิตวิญญาณของชนเผ่าอินเดียนแดง ผ่านความขัดแย้งจากการแย่งชิงผลประโยชน์ของมนุษย์ ต่อไปนี้คือเรื่องราวอันโลดโผนของมัน

as20200807 01 01

อุกกาบาตโทมาโนโวส ในส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน (เครดิตภาพ : Daniel Garcia-Castellanos, space.com)

 

ชื่อ “โทมาโนโวส” มาจากภาษาโบราณของชาวอินเดียนแดงกลุ่มแคลกกามาส (Clackamas) ในรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ที่หมายถึง “ผู้มาเยือนจากสวรรค์” อุกกาบาตก้อนนี้ได้รับความเคารพจากพวกแคลกกามาส ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อรวบรวมผืนฟ้า แผ่นดิน และท้องน้ำให้กับพวกเขา นอกจากนี้

โทโมโนโวส หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “อุกกาบาตวิลลาเมทท์” ซึ่งเรียกตามสถานที่ค้นพบคือ บริเวณแม่น้ำวิลลาเมทท์ รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ถูกค้นพบเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษก่อนโดยชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรป พบวัตถุคล้ายก้อนหินขนาด 2 x 3 x 1.3 เมตร มีร่องหลุมตามพื้นผิวที่แปลกตา น้ำหนักประมาณ 15 ตัน ซึ่งต่อมามีการยืนยันว่าเป็นก้อนอุกกาบาตเหล็กขนาดใหญ่ ที่มีองค์ประกอบเป็นเหล็ก 91 % นิกเกิล 7.62 % และ โคบอลต์กับฟอสฟอรัสอีกเล็กน้อย

ส่วนประกอบเหล่านี้บ่งบอกถึงต้นกำเนิดของมันในห้วงอวกาศ เหล็กและนิกเกิลเกิดขึ้นโดยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันภายในแก่นดาวฤกษ์มวลมากในช่วงชีวิตสุดท้ายของมัน เหล็กเป็นธาตุที่หนักที่สุดที่เกิดขึ้นได้ภายในแก่นดาวก่อนที่จะหมดอายุขัย และเกิดการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ “ซูเปอร์โนวา” (Supernova) ในช่วงพริบตาของการระเบิดด้วยพลังงานมหาศาลนั้น ก็มีกระบวนการสร้างธาตุที่หนักกว่าเหล็กขึ้นพร้อมกันไปด้วย มวลสารถูกสาดกระจายออกมาสู่ห้วงอวกาศ กลายเป็นวัตถุดิบในการก่อกำเนิดเป็นดาวฤกษ์และดาวเคราะห์บริวารรุ่นต่อ ๆ มา ซึ่งระบบสุริยะของเราเองก็ก่อเกิดขึ้นมาจากเศษซากการระเบิดของดวงดาวเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

 

as20200807 01 02

ภาพซากซูเปอร์โนวาที่หลงเหลือจากการระเบิด ซึ่งกระจายธาตุเหล็กที่เป็นธาตุหนักที่ถูกสร้างขึ้นในแก่นดาวฤกษ์

(เครดิตภาพ : nasa.gov)

 

สำหรับโทมาโนโวสนั้นก็อาจเคยเป็นแก่นของดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งในยุคเริ่มต้นของระบบสุริยะมีดาวเคราะห์น้อยกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก เมื่อเกิดการชนกันอาจรวมตัวเป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่กว่า หรือไม่ก็แตกสลาย กระจายส่วนประกอบทั้งที่เป็นเปลือกหินและแก่นโลหะของมัน ล่องลอยอยู่ในระบบสุริยะ ผลจากการชนปะทะหลังจากนั้น รวมถึงอิทธิพลแรงโน้มถ่วงภายในระบบสุริยะที่กระทำต่อกันมานับร้อยนับพันล้านปีก็เปลี่ยนแปลงวงโคจรของมันให้หันเหทิศทางตกมาสู่โลกของเราในที่สุด

          โทมาโนโวสเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และตกลงบนพื้นน้ำแข็งบริเวณของประเทศแคนาดาในปัจจุบัน เมื่อประมาณ 17,000 ปีก่อน หลายทศวรรษต่อมา พื้นน้ำแข็งได้เคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ พาโทมาโนโวสลงไปทางใต้สู่บริเวณแม่น้ำฟอร์ค (Fork River) ในรัฐมอนแทนา สหรัฐอเมริกา ขณะที่ธารน้ำแข็งนี้ได้เคลื่อนตัวมาขวางแม่น้ำ กลายเป็นเขื่อนธรรมชาติที่สูงกว่า 600 เมตร กั้นให้ระดับน้ำที่ต้นน้ำฝั่งทะเลสาบมิสซูลาเหนือเขื่อนน้ำแข็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อโทมาโนโวสเคลื่อนมาถึงบริเวณนี้ก็พอดีกับที่เขื่อนธารน้ำแข็งพังทลายลง เกิดเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มิสซูลา (Missoula Floods) ซึ่งเป็นอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาเท่าที่มีการบันทึกกันไว้ ทิ้งร่องรอยเป็นพื้นที่การกัดเซาะของกระแสน้ำ หรือสเคปแลนด์ (Scablands) ที่พบเห็นได้ในรัฐวอชิงตันปัจจุบัน เป็นเหมือนของที่ระลึกจากมหาอุทกภัยที่มีพลังทำลายล้างเทียบเท่ากับน้ำตกไนแองการานับพันแห่ง

 

as20200807 01 03

ภาพแสดงพื้นที่ที่ถูกน้ำกัดเซาะ หรือสเคบแลนด์ ในรัฐวอชิงตัน

(เครดิตภาพ : MICHAEL MELFORD / National Geographic)

 

ส่วนเจ้าโทมาโนโวสของเราก็ยังคงฝังตัวอยู่ในก้อนน้ำแข็งที่แตกออกจากเขื่อนธารน้ำแข็ง ล่องลอยไปตามกระแสน้ำผ่านพื้นที่ที่เป็นของรัฐไอดาโฮ และรัฐออริกอนในปัจจุบันด้วยความเร็วที่บางครั้งสูงถึงกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อก้อนน้ำแข็งลอยมาถึงพอร์ทแลนด์ มันก็แตกออกและปลดปล่อยโทมาโนโวสจมลงไปนอนสงบนิ่งอยู่ที่ก้นแม่น้ำในที่สุด

  

as20200807 01 04

ภาพผิวหน้าของอุกกาบาตโทมาโนโวสที่แสดงการถูกกัดกร่อนของเหล็ก

(เครดิตภาพ : Eden, Janine and Jim/wikipedia.org)

 

หลังจากระดับน้ำลดลง โทมาโนโวส์ก็ปรากฏตัวเป็น “ก้อนหินประหลาด” ก้อนหนึ่งในบรรดาก้อนหินและเศษซากจำนวนมากมายที่มาพร้อมน้ำท่วมใหญ่ มันจึงมีลักษณะทางธรณีวิทยาแตกต่างกับพื้นที่โดยรอบ เมื่อเวลาผ่านไปผลจากน้ำท่วม รวมถึงน้ำฝนที่ทำปฏิกิริยากับเหล็กของอุกกาบาตค่อย ๆ กัดกร่อนผิวหน้าของอุกกาบาต ทำให้เกิดหลุมบ่อลึกแปลกตาบนโทมาโนโวสในปัจจุบัน

          หลายพันปีต่อมาหลังมหาอุทกภัยมิสซูลา พวกอินเดียนแดงกลุ่มแคลกกามาสก็มาถึงพื้นที่รัฐออริกอน พบก้อนอุกกาบาต และตั้งชื่อมันว่า “โทมาโนโวส” ที่หมายถึงผู้มาเยือนจากท้องฟ้า เป็นที่น่าสนใจว่าการตั้งชื่อวัตถุก้อนนี้ของพวกเขานั้นมาจากความสงสัยในที่มาของเจ้าโทมาโนโวสว่ามันมาจากท้องฟ้า จากสรวงสวรรค์จริง ๆ อย่างที่มันเป็นหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้

          การพักผ่อนอย่างสุขสงบนับพันปี ณ หุบเขาวิลลาเมทท์ของโทมาโนโวส์ ได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2445 เมื่อ เอลลิส ฮิวจ์ ชาวรัฐออริกอน ได้แอบขนย้ายมันไปในที่ดินของเขา และอ้างตัวเป็นเจ้าของอุกกาบาต การย้ายของที่หนักถึง 15 ตัน โดยไม่ให้ใครรู้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในยุคนั้น เขาและลูกชายใช้เวลาและความพยายามถึง 3 เดือนกว่าจะใช้เกวียนไม้ลากมันมาถึงที่ดินของเขาได้ และนำมันไปหาผลประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม “อุกกาบาตแห่งวิลลาเมทท์” ที่มีชื่อเสียง

อย่างไรก็ตาม สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่แท้จริงของโทมาโนโวสนั้นไม่ใช่ของเอลลิส ฮิวจ์ แต่เป็นของ บริษัท “Oregon Iron and Steel” ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่พบอุกกาบาต จึงเกิดการฟ้องร้องสิทธิ์เรียกคืนการเป็นเจ้าของจากนายฮิวจ์ ด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์มากมายจากวัตถุหายากเช่นนี้ ระหว่างที่กระบวนการทางศาลกำลังดำเนินไป ทางบริษัทถึงกับต้องจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยติดอาวุธครบมือมานั่งเฝ้าบนก้อนอุกกาบาตตลอด 24 ชั่วโมง จนพวกเขาชนะคดีในปี พ.ศ. 2448 และขายมันให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน (American Museum of Natural History) ในนครนิวยอร์กในปีต่อมา

 

as20200807 01 05

ชิ้นส่วนของอุกกาบาตโทมาโนโวสที่มอบให้กับสหพันธ์ชนเผ่าแห่งแกรนด์รอน (Confederated Tribes of Grand Ronde) 

 (เครดิตภาพ : Confederated Tribes of Grand Ronde)

 

          ปัจจุบันเราสามารถไปเยี่ยมชมโทมาโนโวส หรืออุกกาบาตแห่งวิลลาเมทท์ได้ในส่วนจัดแสดง Hall of the Universe ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน และได้มีการลงนามในข้อตกลงกับลูกหลานของชนเผ่าแครกกามาส ในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ว่าทางพิพิธภัณฑ์จะตระหนักถึงความสำคัญทางจิตวิญญาณของอุกกาบาตโทมาโนโวส ที่มีต่อชนพื้นเมืองอย่างเหมาะสม โดยจะจัดพิธีเข้าเยี่ยมชมประจำปีของสหพันธ์ชนเผ่าแห่งแกรนด์รอน (Confederated Tribes of Grand Ronde) ซึ่งเป็นตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองของสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ.2019) ที่ผ่านมา มีการตัดแบ่งส่วนย่อยของอุกกาบาตมอบให้กับชนเผ่าต่าง ๆ นับว่าเป็นตอนจบอันสุขสงบของเรื่องราวการเดินทางอันยาวไกลและโลดโผนของอุกกาบาตโทมาโนโวส “ผู้มาเยือนจากสรวงสวรรค์” ของเรานั่นเอง

 

เรียบเรียง : นายภาณุ อุบลน้อย

เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

แหล่งข้อมูล

- Tomanowos, the meteorite that survived mega-floods and human folly : Space.com

https://www.space.com/tomanowos-meteorite-survived-mega-floods-human-folly.html?fbclid=IwAR1CGoT_pe4kDwxka0XNl_ao_iz67tDzBZJgyT2I5YdDPmvfh9z_YNenrqw

- https://en.wikipedia.org/wiki/Willamette_Meteorite

ข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติม

- วีดีโอความรู้เกี่ยวกับอุกกาบาต

https://www.space.com/tomanowos-meteorite-survived-mega-floods-human-folly.html?fbclid=IwAR3HDY2UvaHRI6zmuTXyW9jSezuryMD_i9BLEpFWpAR9a1vuNDY7kkMlDbQ&jwsource=cl

- วีดีโอเรื่องธารน้ำแข็งมิซูลา

https://youtu.be/q8iRdG0tWk4