ในคืนวันที่ 21 ตุลาคมนี้ จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 01.00 น. มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก โดยคืนดังกล่าวช่วงหลังตี 1 ไปแล้วจะมีแสงดวงจันทร์รบกวน อย่างไรก็ตามช่วงเวลา 2 ชั่วโมงดังกล่าว ก็อาจพอลุ้นได้ดาวตกกันบ้างครับ

001

ภาพจำลองการเกิดฝนดาวตกฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ ทางทิศตะวันออกในช่วงเวลาตั้งแต่ 23.00 – 01.00 น.

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5DSR / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30sec x 20 Images / Filter : LEE Soft Filter No.3)

ความน่าสนใจของฝนดาวตกโอไรโอนิดส์

002

ภาพจำลองจุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก

        ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

        หากเราโชคดีเราอาจได้ภาพไฟล์บอลลูกใหญ่ๆ เขียวๆ ติดมาในภาพได้ ซึ่งนอกจากโอกาสที่อาจได้เห็นฝนดาวตกลูกใหญ่ๆแล้ว บริเวณกลุ่มดาวนายพรานยังมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวงเช่น ดาวบีเทลจุส (ที่มีสีส้มเหลือง) และดาวไรเจล (สีฟ้าขาว) ที่โดดเด่นอีกด้วย รวมทั้งกลุ่มดาวหมาใหญ่ที่มีดาวฤกษ์สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ซีรีอุส ในตำแหน่งใกล้กันอีกด้วย ทำให้เราอาจได้ภาพดาวตกที่เคียงคู่กลุ่มดาวที่สวยงามอันดับต้นๆ ของท้องฟ้าก็เป็นได้

        โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการสังเกตฝนดาวตก คือหลังเที่ยงคืน เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ดาวตกเกิดก่อนเที่ยงคืนหรือช่วงหัวค่ำนั้นจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง แต่ถ้าฝนดาวตกที่เกิดหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า ซึ่งช่วงที่เราจะพอสามารถถ่ายภาพฝนดาวตกในปีนี้ ก็อยู่ในช่วงเที่ยงคืนพอดี นั่นหมายถึงเรายังพอลุ้นได้ภาพดาวตกหางยาวๆ หัวใหญ่ๆ กันได้เช่นครับ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพฝนดาวตกที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีสุด

1. กล้องดิจิตอลพร้อมสายลั่นชัตเตอร์

003

การถ่ายภาพดาวตกหากสามารถเลือกใช้กล้องดิจิตอล ที่ใช้ความไวแสง (ISO) สูงๆได้ ก็จะทำให้เก็บแสงของดาวตกได้ดีที่สุด

2. เลนส์มุมกว้าง และไวแสง (F กว้าง)

004

        ข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สูงๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เลนส์คิตธรรมดาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน

3. ขาตั้งกล้องและอุปกรณ์ตามดาว

005

        อุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุท้องฟ้า ซึ่งในการถ่ายภาพฝนดาวตกช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกันมาใช่ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง

        ซึ่งหากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง

เทคนิคและวิธีการสำหรับการถ่ายภาพ

1. เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพควรเริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า

2. ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือไฟล์บอลของฝนดาวตก

3. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า

4. ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก

5. ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame 

6. ตั้งกล้องบนขาตามดาว และหันหน้ากล้องไปยังบริเวณจุดกระจายตัวของฝนดาวตก บริเวณแขนกลุ่มดาวนายพราน

7. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า 

8. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

สำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตกแบบละเอียดทุกขั้นตอน ติดตามต่อตามลิงก์ : http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/2350-geminids-meteor-shower-astronomy