ในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 นี้ ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Opposition) ตรงกับเวลาประเทศไทย ประมาณ 22.21 น. ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตแถบแมฆ จุดแดงใหญ่ และดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวงได้อย่างชัดเจน และยังสามารถสังเกตได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

001

002

ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Opposition) คือ

        ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างประมาณ 640 ล้านกิโลเมตร (4.28 AU) เมื่อดวงอาทิตยลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์นั่นเอง

        โดยในวันที่ 10 ดาวพฤหัสบดี จะอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) มีความสว่างปรากฏ -2.6 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) 

003

ภาพจำลองแสดงตำแหน่งของดาวพฤหัสบดี วันที่ 10 มิถุนายน 2562 เวลา 22:21 น.

สิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีใกล้โลก

        สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นถ่ายภาพดาวเคราะห์นั้น ก่อนอื่นขออนุญาตอธิบายถึงสิ่งสำคัญหลายประการที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ระดับมืออาชีพ เค้าแนะนำมาเลยขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้เริ่มต้นดังนี้ครับ

004

1. กล้องโทรทรรศน์ ควรต้องมีขนาดทางยาวโฟกัสสูง

        สิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพดาวเคราะห์ ก็คือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจกของกล้องโทรทรรศน์ (Mirror diameter) และความยาวโฟกัส (Focal Length) เพราะยิ่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจกของกล้องมากเท่าไหร่ กล้องก็จะสามารถรวมแสงได้มากเท่านั้น และเมื่อกล้องมีความยาวโฟกัสมากขึ้นเท่าไหร่ กล้องก็จะมีกำลังขยายมากขึ้น ทำให้ภาพดาวเคราะห์มีรายละเอียดชัดเจนและมีขนาดใหญ่ตามลำดับ

        นอกจากนั้น ในการถ่ายภาพยังจำป็นต้องตรวจสอบการจัดตำแหน่งกระจกออปติคอลให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมของกล้องโทรทรรศน์ หรือที่เรียกกันว่าการ Collimate  โดยทำการ Collimate อย่างละเอียดทุกครั้งก่อนการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดมากที่สุด โดยดาวที่จะใช้ในการ Collimate ควรอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่ต่ำกว่า 70 องศา

2. อุปกรณ์สำหรับบันทึกภาพ

        สำหรับอุปกรณ์ที่ในการบันทึกภาพดาวเคราะห์ นักถ่ายภาพดาวเคราะห์จะนิยมใช้เว็บแคมสำหรับการถ่ายภาพดาวเคราะห์โดยเฉพาะ ที่มี Frame rate สูงๆ เช่น CCD ZWO ที่มี Frame rate สูงกว่า 120 FPS นอกจากนั้น ขนาด Image Sensor ที่มีขนาดเล็ก (แต่มีความละเอียดสูง) ยังทำให้ได้กำลังขยายที่สูงขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย 

        *** Frame rate (Frame per second, FPS) คือจำนวนการบันทึกภาพของภาพเคลื่อนไหวในกล้องวิดีโอ (จำนวนภาพนิ่ง) โดยมีหน่วยเป็น per second (กี่ภาพต่อวินาที) 

005

ตัวอย่าง เว็บแคมสำหรับการถ่ายภาพดาวเคราะห์ ยี่ห้อ ZWO รุ่น ASI224MC (color) ที่นิผมใช้ในการถ่ายภาพสำหรับผู้เริ่มต้นจริงจังกับการถ่ายภาพดาวเคราะห์ 

3. เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ

        สำหรับเวลาในการถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีนั้น ไม่ง่ายเหมือนกับการถ่ายภาพดวงจันทร์นะครับ เนื่องจากเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีขนาดปรากฏค่อนข้างเล็ก และดวงพฤหัสบดีมีการหมุนรอบตัวเองค่อนข้างเร็ว โดยการหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา 9 ชั่วโมง 50 นาที ในการหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ

        ดังนั้นเวลาในการถ่ายภาพดาวพฤหัสบดี ควรใช้เวลาในการถ่ายภาพไม่เกิน 2 นาที เนื่องจากดาวพฤหัสบดีมีความเร็วในการหมุนรอบตัวเองค่อนข้างเร็ว 

4. ตำแหน่งดาวเคราะห์และสถานที่ในการถ่ายภาพ

        สำหรับคำแนะนำของนักถ่ายภาพดาวเคราะห์นั้น แนะนำให้เริ่มถ่ายดาวเคราะห์ในตำแหน่งที่ดาวเคราะห์อยู่ในมุมที่สูงที่สุด เพื่อหลีกหนีปัญหาของมวลอากาศที่หนาแน่นบริเวณขอบฟ้า ซึ่งมักทำให้เกิดภาพที่สั่นไหว

5. ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการประมวลผลภาพถ่าย

        ซอฟต์แวร์ถือเป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน สำหรับการถ่ายภาพดาวเคราะห์ที่คมชัด โดยนักถ่ายภาพดาวเคราะห์จะให้ความสำคัญตั้งแต่ ซอฟแวร์ที่ใช้ในการควบคุมการถ่ายภาพ เช่น Firecapture ที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ถ่ายภาพได้เกือบทุกยี่ห้อ และมีฟังชั่นการปรับค่าต่างๆค่อนข้างมาก สามารถเลือกรูปแบบไฟล์, การกำหนดเวลา, จำนวนเฟรมในการถ่ายได้, การปรับเกรนภาพ และการปรับความสว่างของภาพได้

        และตามด้วยซอฟต์แวร์สำหรับการประมวลผลภาพต่างๆ อาทิ WinJUPOS ที่ช่วยปรับการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์ โปรแกรม AutoStakkert เป็นฟรีแวร์ที่มีความสามารถในการทำ Stacking Image และการปรับค่าความคมชัดด้วยโปรแกรม Registax