ท้องฟ้าในเดือนกันยายน
ท้องฟ้าในเดือนกันยายน 2559
สวัสดีเดือนกันยายนครับ เผลอแป๊บเดียวเวลาผ่านมา 9 เดือนแล้วหลายคนคงคิดว่าวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่บางคนก็คิดว่าเวลามันเดินช้าไป ทำไมเวลาของแต่ละคนเดินไม่ช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน ความจริงแล้วมันอยู่ที่ใจคนเอง สำหรับผมแล้วช่วงฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปช้ามากๆ เฝ้ารอเวลาว่าเมื่อไรจะหมดช่วงฤดูฝน เพราะเวลาเงยหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้าทีไรก็มองเห็นแต่เมฆ ถ้าโชดดีก็อาจจะมองเห็นดาวที่ละลุผ่านช่องเมฆให้เห็นประมาณ 2 – 3 ดวง ถึงแม้จะไม่สามารถมองเห็นดาวบนท้องฟ้าได้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูการดูดาวที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สำหรับพื้นที่ไหนที่ท้องฟ้าเปิดก็ขอให้สนุกกับการดูดาวครับ
กลุ่มดาวในช่วงเดือนกันยายน
ในช่วงเดือนกันยายนนี้มีกลุ่มดาวเด่นหลายกลุ่มที่จะพัดกันมาให้ได้เชยชมกันตลอดทั้งคืน สำหรับกลุ่มดาวที่มีความโดดเด่นและเราสามารถมองเห็นได้ในช่วงหัวค่ำมีด้วยกันหลายกลุ่มเริ่มจากทางทิศตะวันออกผู้สังเกตจะมองเห็นกลุ่มดาวม้าปีกที่กำลังโผล่พ้นจากขอบฟ้าขึ้นมาและเยื้องไปทางใต้จะเห็นกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และกลุ่มดาวมกร หากผู้สังเกตมองต่อขึ้นไปในบริเวณกลางท้องฟ้าจะมองเห็นกลุ่มดาวนกอินทรี กลุ่มดาวหงส์ กลุ่มดาวพิณ กลุ่มดาวปลาโลมา กลุ่มดาวคนแบกงู และกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิส กลุ่มดาวที่ปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตก กลุ่มดาวมงกุฏเหนือ กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ กลุ่มดาวผมของเบเรนิส และกลุ่มดาวหญิงสาว สำหรับในทางทิศตะวันเหนือผู้สังเกตจะเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ที่กำลังจะตกลับขอบฟ้า ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มดาวที่กำลังเริ่มโผ่ลพ้นจากขอบฟ้าขึ้นมาคือกลุ่มดาวค้างคาวซึ่งเป็หนึ่งในกลุ่มดาวที่ใช้ช่วยหาดาวเหนือ ถัดจากกลุ่มดาวค้างคาวคือกลุ่มดาวเซเฟอุส กลุ่มดาวมังกร และกลุ่มดาวหมีเล็ก ในทางทิศใต้ผู้สังเกตจะมองเห็นกลุ่มดาวแมงป่อง กลุ่มดาวคนยิงธนู กลุ่มดาวคันชั่ง (ซึ่งผู้สังเกตจะมองเห็นกลุ่มดาวบริเวณนี้เป็นแถบสีขาวขุ่นคล้ายแถบของเมฆบาง ๆ แต่ความจริงแล้วบริเวณนี้คือบริเวณใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา) และนอกจากนั้นยังมีกลุ่มดาวที่น่าสนใจอีกมากเช่น กลุ่มดาวปลาทางใต้ กลุ่มดาวมงกุฏใต้และกลุ่มดาวสามเหลี่ยมทางใต้ ด้วยในเดือนนี้กันยายนหากผู้สังเกตเงยหน้ามองขึ้นไปบริเวณกลางท้องฟ้าจะเห็นกลุ่มดาวเรียงเด่นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมคือ “สามเหลี่ยมฤดูร้อน” และถ้าหากผู้สังเกตหันหน้าไปทางทิศตะวันตกจะมองเห็นกลุ่มดาวเรียงเด่นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมอีกอันหนึ่งนั้นก็คือ “สามเหลี่ยมฤดูใบไม้ผลิ” ปรากฏอยู่
รูปที่ 1 ท้องฟ้าในเดือนกันยายน เวลา 20:00 น.
ตารางที่ 1 แสดงเหตุการณ์สำคัญประจำเดือนกันยายน 2559
วันที่/เดือน |
เวลา (น.) |
ปรากฏการณ์ |
1กันยายน |
16:03 |
- จันทร์ดับ |
|
16:08 |
- ปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน (ไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย) |
2กันยายน |
23:38 |
- ดาวเนปจูนอยู่ที่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition) |
3กันยายน |
00:26 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพุธ 5.7 องศา |
|
04:55 |
- ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (ไม่สามารถสังเกตการณ์ได้) |
|
17:31 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวศุกร์ 0.5 องศา |
5กันยายน |
03:23 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวสไปกา 5.6 องศา |
7กันยายน |
01:46 |
- ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกสุดในรอบเดือน (ระยะทาง 405,071 กิโลเมตร) |
9กันยายน |
04:01 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ 3.8 องศา |
|
18:49 |
- จันทร์กึ่งแรก |
|
20:46 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวอังคาร 7.5 องศา |
13กันยายน |
07:00 |
- ดาวพุธอยู่ที่ตำแหน่งร่วมทิศแนววงใน (Inferior Conjunction) |
16กันยายน |
01:54 |
- ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว |
17กันยายน |
02:05 |
- จันทร์เพ็ญ |
18กันยายน |
22:15 |
- ดาวเคราะห์เคียงดาว (ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวสไปกา 2.4องศา) |
19กันยายน |
00:07 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกสุดในรอบเดือน (ระยะทาง 361,890 กิโลเมตร) |
22กันยายน |
05:37 |
- ดวงจันทร์บังดาวอัลดีบาแรน (สามารถสังเกตการณ์ได้) |
|
21:21 |
- วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) |
23กันยายน |
16:56 |
- จันทร์กึ่งหลัง |
26กันยายน |
13:00 |
- ดาวพฤหัสบดีอยู่ตำแหน่งร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ (Conjunction) |
28กันยายน |
05:52 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเรกูลัส 1.7 องศา |
|
22:23 |
- ดาวพุธอยู่ที่จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (ประมาณ 0.31 AU) |
29กันยายน |
19:05 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพุธ 1.2 องศา |
|
02:27 |
- ดาวพุธทำมุมห่าง 17.9 องศาตะวันตก (Greatest Western Elongation) |
30กันยายน |
23:19 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี 0.5 องศา |
ดาวเคราะห์ในเดือนกันยายน 2559
การสังเกตดาวเคราะห์ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศตะวันตกและสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ซึ่งผู้สังเกตจะมองเห็นดาวเคราะห์ได้พร้อมกันทั้ง 5 ดวง เรียงกับตั้งแต่ขอบฟ้าทิศตะวันตกไปจนถึงเกือบกลางท้องฟ้า (ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์)
ลักษณะปรากฏและขนาดปรากฏของดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวง ในช่วงเดือนกันยายน
รูปที่ 4 แสดงลักษณะปรากฏและขนาดปรากฏของดาวเคราะห์ในช่วงเดือนกันยายน
การสังเกตดาวพุธ
ในเดือนกันยายนนี้เราสังเกตการณ์สามารถสังเกตการณ์ดาวพุธได้จากทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำได้ตั้งแต่ต้นเดือนไปจนถึงช่วงกลางเดือนจากนั้นดาวพุธจะเคลื่นที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถทำการสังเกตได้ยาวไปถึงช่วงปลายเดือนกันยายน โดยดาวพุธจะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวหญิงสาว มีขนาดปรากฏของดาวพุธบนท้องฟ้าประมาณ 10.3 ฟิลิปดา และมีค่าความสว่างปรากฏของดาวพุธในเดือนกันยายนจะมีค่าระหว่าง 3.43 ถึง 4.99
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
ดูตารางเวลาขึ้น – ตก ของดาวพุธในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559
การสังเกตดาวศุกร์
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ผู้สังเกตสามารถมองเห็นได้ง่ายกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ โดยผู้สังเกตไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลยในการมองหาดาวศุกร์ เนื่องจากว่าดาวศุกร์เป็นดาวสว่างที่เป็นลำดับต้นๆ รองลงมาจากดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ การสังเกตดาวศุกร์ในเดือนกันยายนนี้เราสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำตลอดทั้งเดือน โดยสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้จากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า โดยผู้สังเกตจะมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวหญิงสาวใกล้ ๆ กับดาวสไปกา โดยในช่วงเดือนนี้ดาวศุกร์จะมีขนาดปรากฏเฉลี่ยบนท้องฟ้าประมาณ 11.3 ฟิลิปดา และมีค่าสว่างปรากฏระหว่าง -3.92 จึงสว่างมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้า
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
ดูตารางเวลาขึ้น – ตก ของดาวศุกร์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559
การสังเกตดาวอังคาร
ในเดือนกันยายนนี้เราจะมองเห็นดาวอังคารได้จากทางขอบฟ้าทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ และเป็น 1 ใน 5 ดาวเคราะห์ที่สามารถมองเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ตำแหน่งปรากฏของดาวอังคารอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าประมาณ 10.2 ฟิลิปดา สำหรับค่าความสว่างปรากฏของดาวอังคารช่วงเดือนกันยายนนี้อยู่ที่ระหว่าง - 0.22 ถึง - 0.11 โดยความสว่างของดาวอังคารจะเริ่มลงลดไปเรื่อย ๆ
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
ดูตารางเวลาขึ้น – ตก ของดาวอังคารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559
การสังเกตดาวพฤหัสบดี
การสังเกตดาวพฤหัสบดีในเดือนกันยายนนี้เราสังเกตจะสามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีปรากฏในช่วงหัวค่ำ โดยผู้สังเกตจะมองเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ซึ่งมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าประมาณ 30.7 ฟิลิฟดา มีค่าสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ – 1.67 สำหรับการสังเกตดาวพฤหัสบดีสามารถทำได้ทั้ง การสังเกตด้วยตาเปล่าหรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น กล้องสองตา กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก โดยผู้สังเกตจะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเป็นจุดสว่างเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ตัวดาวพฤหัสบดี ในบางครั้งผู้สังเกตอาจสามารถมองเห็นจุดดำ ๆ เล็ก ๆ บนตัวดาวพฤหัสบดีชึ่งเกิดจากเงาของดวงจันทร์ที่ทอดลงไปยังพื้นผิวของดาวพฤหัสบดีเอง ซึ่งคล้ายกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดบนโลก ผู้สังเกตสามารถดูตำแหน่งปรากฏดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีในแต่ละวันได้จากรูปที่ 5
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
ดูตารางเวลาขึ้น – ตก ของดาวพฤหัสบดีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559
รูปที่ 5 ตำแหน่งปรากฏดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีในช่วงเดือนกันยายน
การสังเกตดาวเสาร์
การสังเกตดาวเสาร์ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ดาวเสาร์จะปรากฏอยู่ทางซีกฟ้าใต้ในบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องซึ่งผู้สังเกตุจะมองเห็นดาวเสาร์พร้อมกับแถบทางช้างเผือกและสามารถมองเห็นไปตลอดทั้งเดือน โดยดาวเสาร์มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าประมาณ 16.5 พิลิปดา (ไม่รวมวงแหวน) และมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าเมื่อรวมวงแหวนประมาณ 38.5 พิลิปดา และมีค่าความสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ 0.50 สำหรับการสังเกตดาวเสาร์สามารถทำได้ทั้ง การสังเกตด้วยตาเปล่าและใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก โดยผู้สังเกตสามารถมองเห็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์เป็นจุดสว่างเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ดาวเสาร์
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
ดูตารางเวลาขึ้น – ตก ของดาวเสาร์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559
กรกมล ศรีบุญเรือง
นักวิชาการ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)