ท้องฟ้าในเดือนพฤศจิกายน
ท้องฟ้าในเดือนพฤศจิกายน 2559
เดือนแหล่งการเริ่มต้นฤดูกาลดูดาวได้เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากเดือนที่ผ่านมามีฝนตก เมฆหนาเต็มท้องฟ้าหลายท่านคงได้มีเวลาออกไปดูดาวกันบาง ในเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งหลังจากนี้อุณหภูมิจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง (สำหรับภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน) ทำให้ท้องฟ้าในช่วงนี้ปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆรบกวนการดูดาว หลายท่านคงเตรียมตัวกันบางแล้วสำหรับเทศกาลการดูดาว ทั้งนี้ท่านใดที่สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการดูดาวกับทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติก็สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.narit.or.th และสามารถโทรเข้ามาสอบถามการเข้าร่วมกิจกรรมกันได้ สำหรับภายในเดือนนี้จะมีเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์อะไรให้น่าติดตามกันบาง มาเริ่มกันที่กลุ่มดาวบนท้องฟ้าในช่วงเดือนพฤศจิกายนกันก่อน
กลุ่มดาวในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีกลุ่มดาวใดบางที่น่าสนใจในช่วงหัวค่ำ เมื่อเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มดาวที่ปรากฏอยู่นั้นอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร ซึ่งกลุ่มดาวที่ปรากฏอยู่ใกล้ ๆ บริเวณขอบฟ้า คือ กลุ่มดาวแกะและกลุ่มปลาคู่ทั้งสองกลุ่มเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักราศีที่หลายคนอาจจะพอรู้จักกันมาบางแล้ว เมื่อเงยหน้าสูงขึ้นไปอีกหน่อยก็จะพบกับดาวสว่าง 4 ดวง ที่เรียงตัวกันคล้ายกับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขณะใหญ่หรือที่เรียกว่า “สี่เหลี่ยมใหญ่” ซึ่งรูปสี่เหลี่ยมนี้ประกอบด้วย 2 กลุ่มดาวคือ กลุ่มดาวม้าปีกกับกลุ่มดาวแอนโดรเมดาทั้งสองกลุ่มดาวนี้เป็นกลุ่มดาวที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากบนท้องฟ้า และถ้าเงยหน้ามองขึ้นไปที่บริเวณกลางท้องฟ้า เราจะมองเห็นดาวฤกษ์สว่างอีก 3 ดวง ที่เรียงตัวกันคล้ายกับรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “สามเหลี่ยมฤดูร้อน” โดยสามเหลี่ยมนี้จะประกอบไปด้วยกลุ่มดาวบนท้องฟ้าทั้งหมดสามกลุ่ม คือ กลุ่มดาวหงส์ กลุ่มดาวพิณ และกลุ่มดาวนกอินทรี นอกจากนั้นภายในบริเวณแต่ละกลุ่ม ยังมีวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็พักให้หายเมื่อยคอกันก่อน เมื่อหายเมื่อยแล้วให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งในบริเวณนี้ไม่ค่อยมีดาวสว่าง แต่ถ้ามองไปทางตะวันตกเฉียงใต้จะมองเห็นแถบสีขาวขุ่นทอดตัวยาวไปบนท้องฟ้า แถบที่เห็นนั้นคือ “ทางช้างเผือก” ซึ่งในบริเวณนี้เต็มไปด้วยดาวฤกษ์จำนวนมหาศาล และในบริเวณนี้มีดาวสว่างเป็นจำนวนมาก และกลุ่มดาวที่อยู่ในบริเวณนี้ คือ กลุ่มดาวคันชั่ง กลุ่มดาวแมงป่อง กลุ่มดาวคนยิงธนู และมองออกไปจากแถบทางช้างเผือกไปทางทิศใต้จะมองเห็น กลุ่มดาวจักราศีอีกสองกลุ่มดาวคือ กลุ่มดาวมกรและกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เมื่อหันหน้ากลับไปทางทิศเหนือ จะมองเห็นกลุ่มดาวหมีเล็ก กลุ่มดาวมังกร กลุ่มดาวเซเฟอุส และกลุ่มดาวค้างคาวเป็นต้น
รูปที่ 1 ท้องฟ้าในเดือนพฤศจิกายน เวลา 20:00 น.
พฤศจิกายน 2559
วันที่/เดือน |
เวลา (น.) |
ปรากฏการณ์ |
1พฤศจิกายน |
02:36 |
- ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกสุดในรอบเดือน (ระยะทาง 406,667 กิโลเมตร) |
2พฤศจิกายน |
|
|
3พฤศจิกายน |
02:18 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ 3.7 องศา |
|
11:16 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวศุกร์ 6.4 องศา |
4พฤศจิกายน |
|
|
5พฤศจิกายน |
ตลอดทั้งคืน |
- ฝนดาวตกทอริดส์ อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง |
6พฤศจิกายน |
19:08 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวอังคาร 4.8 องศา |
7พฤศจิกายน |
|
|
8พฤศจิกายน |
02:51 |
- จันทร์กึ่งแรก |
9พฤศจิกายน |
|
|
10พฤศจิกายน |
|
|
11พฤศจิกายน |
22:01 |
- ดาวพุธอยู่ที่จุดไกลดวงอาทิตย์ (ประมาณ 0.47 AU) |
12พฤศจิกายน |
|
|
13พฤศจิกายน |
|
|
14พฤศจิกายน |
20:52 |
- จันทร์เพ็ญ |
|
18:30 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกสุดในรอบเดือน (ระยะทาง 356,536 กิโลเมตร) |
15พฤศจิกายน |
23:15 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวอัลดีบาแรน 0.28 องศา |
16พฤศจิกายน |
|
|
17พฤศจิกายน |
ตลอดทั้งคืน |
- ฝนดาวตกลีโอนิดส์ อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง |
18พฤศจิกายน |
|
|
19พฤศจิกายน |
04:00 |
- ดาวเคราะห์เคียงดาว (ดาวพุธอยู่ใกล้ดาวแอนทาเรส 3องศา) |
20พฤศจิกายน |
|
|
21พฤศจิกายน |
13:33 |
- จันทร์กึ่งหลัง |
|
17:08 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเรกูลัส 1.7 องศา |
22พฤศจิกายน |
|
|
23พฤศจิกายน |
|
|
24พฤศจิกายน |
02:00 |
- ดาวเคราะห์ชุมนุม (ดาวพุธอยู่ใกล้ดาวเสาร์ 2.8องศา) |
|
08:00 |
- ดาวเสาร์อยู่ตำแหน่งร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ (Conjunction) |
25พฤศจิกายน |
|
|
26พฤศจิกายน |
|
|
27พฤศจิกายน |
|
|
28พฤศจิกายน |
03:17 |
- ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกสุดในรอบเดือน (ระยะทาง 406,549 กิโลเมตร) |
29พฤศจิกายน |
19:18 |
- จันทร์ดับ |
30พฤศจิกายน |
14:36 |
- ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ 3.1 องศา |
ดาวเคราะห์ในเดือนพฤศจิกายน 2559
การสังเกตดาวเคราะห์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศตะวันตกและสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ผู้สังเกตจะมองเห็นดาวเคราะห์ 2 ดวง อยู่ใกล้ขอบฟ้าทางทิศตะวันตก คือดาวเสาร์ และศุกร์ และอีกดวงหนึ่ง คือ ดาวอังคารจะปรากฏอยู่บริเวณกลางท้องฟ้าค้อนไปทางซีกฟ้าใต้ ส่วนอีก 2 ดวงที่เหลือคือดาวพุธและดาวพฤหัสบดี สำหรับดาวพุธในช่วงต้นเดือนยาวไปถึงกลางเดือนเราจะยังไม่สามารถทำการสังเกตการณ์ดาวพุธได้เนื่องจากว่าในช่วงเวลาดังกล่าวพุธอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ ส่วนดาวพฤหัสบดีจะสามารถสังเกตได้ในช่วงเช้ามืดก่อนที่ดวงอาทิตย์ขึ้น 1 ชั่วโมง
ลักษณะปรากฏและขนาดปรากฏของดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
รูปที่ 2 แสดงลักษณะปรากฏและขนาดปรากฏของดาวเคราะห์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
การสังเกตดาวพุธ
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ในช่วงต้นเดือนยาวไปจนถึงเกือบ ๆ ปลายเดือนเราจะยังไม่สามารถสังเกตเห็นดาวพุธได้ เนื่องจากว่าแสงของดาวพุธถูกแสงจ้าจากดวงอาทิตย์กลบไปทั้งหมด สำหรับตำแหน่งปรากฏของดาวพุธจะบนท้องฟ้าอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าประมาณ 4.7 พิลิปดา และมีค่าความสว่างปรากฏของดาวพุธในเดือนธันวาคมจะมีค่าระหว่าง – 0.81 ถึง -0.45
เวลาขึ้น – ตก ของดาวพุธในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
การสังเกตดาวศุกร์
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ผู้สังเกตสามารถมองเห็นได้ง่าย โดยแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลยในการค้นหาดาวศุกร์ สำหรับเดือนพฤศจิกายนนี้เราสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำตลอดทั้งเดือน โดยสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้จากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว โดยผู้สังเกตจะมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง โดยดาวศุกร์จะมีขนาดปรากฏเฉลี่ยบนท้องฟ้าประมาณ 15.2 พิลิปดา และมีค่าสว่างปรากฏระหว่าง -3.49 ถึง -3.57 จึงสว่างมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้า
เวลาขึ้น – ตก ของดาวศุกร์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
การสังเกตดาวอังคาร
ในเดือนพฤศจิกายนนี้เราจะมองเห็นดาวอังคารได้จากทางทิศใต้ ในช่วงหัวค่ำและเป็นดาวเคราะห์ 1 ใน 3 ที่สามารถมองเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ตำแหน่งปรากฏของดาวอังคารจะอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าประมาณ 7.5 พิลิปดา สำหรับค่าความสว่างปรากฏของดาวอังคารในช่วงเดือนตุลาคมอยู่ที่ระหว่าง 0.67 ถึง 0.54 ในการสังเกตการณ์ผู้สังเกตอาจต้องใช้เวลาในการมองหาดาวอังคารเนื่องความสว่างที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ดาวอังคารมีความสว่างใกล้เคียงกับดาวฤกษ์พื้นหลังบวกกับในช่วงเดือนนี้ดาวอังคารยังอยู่ใกล้กับทางช้างเผือกมาก จึงทำให้ผู้สังเกตอาจจะต้องให้ความพยายามเล็กน้อยในการหาดาวอังคาร
เวลาขึ้น – ตก ของดาวอังคารในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
การสังเกตดาวพฤหัสบดี
การสังเกตดาวพฤหัสบดีในเดือนพฤศจิกายน ผู้สังเกสามารรสังเกตดาวพฤหัสบดีได้ในช่วงเช้ามืดตั้งแต่ 04:20 น. เป็นต้นไปจนท้องฟ้าสว่างกลบแสงของดาวพฤหัสบดี สำหรับตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าของดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว และขนาดปรากฏประมาณ 33 พิลิปดา มีค่าสว่างปรากฏประมาณ – 1.33 สำหรับการสังเกตดาวพฤหัสบดีสามารถทำได้ทั้ง การสังเกตด้วยตาเปล่าหรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น กล้องสองตา กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก โดยผู้สังเกตจะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเป็นจุดสว่างเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ตัวดาวพฤหัสบดี ในบางครั้งผู้สังเกตอาจสามารถมองเห็นจุดดำ ๆ เล็ก ๆ บนตัวดาวพฤหัสบดีชึ่งเกิดจากเงาของดวงจันทร์ที่ทอดลงไปยังพื้นผิวของดาวพฤหัสบดีเอง ซึ่งคล้ายกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดบนโลก ผู้สังเกตสามารถดูตำแหน่งปรากฏดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีในแต่ละวันได้จากรูปที่ 5
เวลาขึ้น – ตก ของดาวพฤหัสบดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 15°00' เหนือ ลองจิจูด 100°00' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
รูปที่ 3 ตำแหน่งปรากฏดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน
การสังเกตดาวเสาร์
การสังเกตดาวเสาร์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนตลอดทั้งเดือนนี้ ผู้สังเกตสามารถมองเห็นดาวเสาร์ได้ในช่วงหัวค่ำในทิศตะวันตกเฉียงใต้หลังจากดาวอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปประมาณ 1 ชั่งโมง ตำแหน่งปรากฏของดาวเสาร์จะอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าประมาณ 15.2 ฟิลิปดา (ไม่รวมวงแหวนของดาวเสาร์) สำหรับค่าความสว่างปรากฏของดาวเสาร์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 0.72
เวลาขึ้น – ตก ของดาวเสาร์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559
เวลา ณ ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ : ละติจูด 13°45.0' เหนือ ลองจิจูด 100°31.0' ตะวันออก
(กรุงเทพมหานคร)
กรกมล ศรีบุญเรือง
นักวิชาการ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)