26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563  สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences ; CAS) รายงานผลการศึกษาล่าสุดของยานฉางเอ๋อ 4  พบว่าใต้พื้นผิวที่ยานลงจอดมีลักษณะแบ่งเป็นชั้นหินขรุขระและชั้นดินละเอียด บ่งชี้ถึงการพุ่งชนที่รุนแรงในอดีต

as20200324 1 01

https://scx2.b-cdn.net/gfx/news/2020/diggingintot.jpg

 

    “ฉางเอ๋อ 4” (Chang’E-4) เป็นยานสำรวจดวงจันทร์สัญชาติจีนลงจอดบนหลุมอุกกาบาต “ฟอน การ์มาน (Von Kármán)” เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2562  นับเป็นยานลำแรกที่สามารถลงจอดบน “ด้านไกลของดวงจันทร์” ได้สำเร็จ  โดยยานบรรทุกรถหุ่นยนต์ขนาดเล็กไปด้วย มีชื่อว่า “ยวี่ทู่ 2” (Yutu-2)

    ยวี่ทู่ 2 มีเรดาร์ที่สามารถสำรวจลึกลงไปใต้พื้นผิวดวงจันทร์ ชื่อว่า Lunar Penetrating Radar (LPR) พบว่าบริเวณที่ยานลงจอดมีชั้นดินที่แตกต่างกัน 3 ชั้น คือ  ชั้นบนสุดถึงระดับความลึกประมาณ 12 เมตร มีลักษณะเป็นดินผงละเอียด  ชั้นที่สองที่ระดับความลึกประมาณ 12 - 24 เมตร เป็นชั้นของก้อนหินขนาดใหญ่ปะปนกับดินละเอียด  และชั้นที่สามที่ระดับความลึกประมาณ 24 - 40 เมตร เป็นชั้นที่มีหินขรุขระปะปนกับวัสดุขนาดเล็ก

    เบื้องต้นนักวิจัยคาดว่าชั้นดินลักษณะนี้เกิดจากการพุ่งชนบนผิวดวงจันทร์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้สสารเนื้อละเอียดกระจัดกระจาย ปกคลุมพื้นผิวดวงจันทร์ชั้นบนสุด  และคลื่นจากเรดาร์สามารถทะลุลงไปได้จนถึงระดับความลึก 40 เมตร

    เมื่อปี พ.ศ. 2556  จีนเคยส่งยานสำรวจลงจอดบนดวงจันทร์ คือ “ฉางเอ๋อ 3” (Chang’E-3) ที่บรรทุกรถหุ่นยนต์ ชื่อว่า “ยวี่ทู่” (Yutu) ลงจอดบริเวณที่ราบสีคล้ำ “ทะเลแห่งสายฝน (Mare Imbrium)” ที่ด้านใกล้ของดวงจันทร์ (ด้านที่หันเข้าหาโลก) และใช้ LPR ในการศึกษาชั้นดินเช่นเดียวกัน พบว่าเรดาร์สามารถทะลุไปที่ระดับความลึกเพียง 10 เมตรเท่านั้น บ่งชี้ว่า “ชั้นดินของดวงจันทร์ด้านไกล” แตกต่างจาก “ชั้นดินของดวงจันทร์ด้านใกล้” 

    นอกจากฉางเอ๋อ 3 และฉางเอ๋อ 4 ในปี พ.ศ. 2563 จีนมีแผนจะส่งยานไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายใต้ชื่อว่า “ฉางเอ๋อ 5” (Chang’E-5) ความพิเศษของภารกิจนี้ก็คือ จะเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์และนำหินกลับมายังโลก หากทำสำเร็จจีนจะกลายเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ที่นำหินดวงจันทร์กลับมาได้

 

อ้างอิง :

[1] https://advances.sciencemag.org/content/6/9/eaay6898

[2] http://english.nao.cas.cn/ne2015/rn2015/202002/t20200226_230212.html

 

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.