เริ่มต้นเดือนแห่งความรัก ฉลองการเปิดฉากอย่างเป็นทางการของ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กับกิจกรรมดาราศาสตร์ ในงาน NARIT AstroFest 2020 มหกรรมดาราศาสตร์ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าชมงานเป็นจำนวนมาก

pr20200228 1 01

 

   งานดังกล่าว เจ้าภาพ สดร. จัดได้อย่างอลังการ เสมือนย่อจักรวาลมาไว้ในที่เดียว ภาพบรรยากาศครอบครัวพากันเข้าร่วมกิจกรรม ประดิษฐ์เรียนรู้ วัตถุท้องฟ้า กุศโลบายที่ให้เรียนรู้ ดู และลงมือทำ ดีกว่าจำจากการท่องตำรา ทำให้เด็กสนุกไปกับกิจกรรมที่มีชีวิต รวมทั้งเปิดให้ชมท้องฟ้าจำลองที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในไทย แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าภาพยังได้ผู้สนับสนุนใจป้ำนำกล้องโทรทรรศน์มาแจก ถึง 24 ตัว ทำให้ น้อง ๆ หนู ๆ สวดภาวนาลุ้นเป็นเจ้าของจนตัวโก่งกันเลย

 

pr20200228 1 02

NARIT NARIT AstroFest 2020 มหกรรมดาราศาสตร์ครั้งแรกของไทย

1-2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

 

    และอีกหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจคือ “Meet the Astronomers : กระทบไหล่นักดาราศาสตร์” ที่มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ รวมถึงเปิดมุมมองให้ผู้ปกครองที่อาจจะยังมองว่า อาชีพนักดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว และมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่ไม่ชัดเจน

    ลองหลับตาจินตนาการภาพของนักดาราศาสตร์ ในความคิดของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เชื่อว่าหลายคนคงมองเหมือนกันว่า ต้องเป็นผู้เคร่งเครียด จริงจัง ขึงขัง เป็นผู้เยี่ยมยุทธทางวิทยาศาสตร์หลายสาขา ทั้งเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ แบบมาเต็ม ๆ เท่านั้นยังไม่พอ ต้องบวกเพิ่ม คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์  อย่างแน่นอน และส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย 

 

pr20200228 1 03

กิจกรรม “Meet the Astronomers : กระทบไหล่นักดาราศาสตร์”

 

    แต่นักดาราศาสตร์ที่เราได้สัมผัส ผ่านมุมมองที่หลากหลาย ในวันนั้นกลับทำให้มุมมองบางอย่างเปลี่ยนแปลง ลองไล่เลียงกันดูว่า ทุกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่

   เริ่มจาก ดร. มติพล ตั้งมติธรรม หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า มะพล เขาเป็นนักวิจัยและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ตัวยง ของ สดร.  ที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์ภาคทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาจักรวาลวิทยา หน้าที่หลักคือตั้งสมมติฐานและแก้สมการให้กับทุกเรื่องที่สงสัย  

 

pr20200228 1 04

 

   มติพล ออกตัวว่า ไม่ใช่คนเก่งฟิสิกส์เลย ออกจะเกลียดเลยด้วยซ้ำ รู้สึกว่าฟิสิกส์เป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าใจ พอมีโอกาสได้ไปเรียนอเมริกา กลับค้นพบว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เกลียดฟิสิกส์ แต่ไม่ชอบการเรียนฟิสิกส์ตามหลักสูตร ม.ปลาย ซึ่งมีการตัดทอนหลายๆ อย่างจนแทบไม่รู้ว่าฟิสิกส์คืออะไร ไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ในขณะที่เคมี สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้มากกว่า

   แต่แล้ววันหนึ่งช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยคอร์แนล กลับพบว่าวิชาเคมีที่เคยชอบมันไม่ได้ตอบโจทย์ของเราอีกต่อไปแล้ว จากเดิมที่คิดว่ามันให้คำตอบทุกอย่าง สุดท้ายคำตอบที่ต้องการจริงๆ มันอยู่ในฟิสิกส์ พอจบ ปริญญาตรี จึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องจักรวาลวิทยา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

   ปัจจุบัน มติพล เป็นนักวิจัยดาราศาสตร์ มืออันดับต้น ๆ ของประเทศ นอกจากนี้เขายังมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารวิทยาศาสตร์ การบริการวิชาการดาราศาสตร์สู่ชุมชน ให้ความรู้แก่ประชาชน และชักจูงให้เกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เขาสร้างสรรค์กิจกรรมดาราศาสตร์มากมายจนนำไปสู่การทำโครงงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลายปีที่ผ่านมา

 

pr20200228 1 05

   ขณะที่ ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ หรือ ฟลุ๊ค นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เขาสนใจและมุ่งมั่นค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ รวมถึงศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วย นอกจากนี้ ดร.ฟลุ๊ค ยังสนใจศึกษาเรื่องสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์อื่นอย่างเอาจริงเอาจัง เนื่องจากมองว่าหากโลกใบนี้มีปัญหา ก็ยังอาจมีดาวเคราะห์อื่นที่มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

   “นักดาราศาสตร์เป็นอาชีพที่ท้าทายและได้เปรียบอาชีพอื่น เพราะมีห้องแล็ปเป็นท้องฟ้าที่สามารถศึกษาได้ไม่รู้จบ” ดร.ฟลุ๊คสรุปความเป็นตัวตนได้อย่างน่าสนใจ   

 

pr20200228 1 06

   ส่วนมุมมองของ ดร.ชุติพงศ์ สุวรรณจักร หรือ ท็อป นักวิจัยด้านประชากรดาวฤกษ์ และสสารระหว่างดาวฤกษ์ เขาได้ศึกษาคุณสมบัติของดาวฤกษ์หลายกลุ่มตัวอย่าง เพื่อเข้าใจความเป็นมาของกาแล็กซี เช่น เคยมีการเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นหรือไม่ ศึกษาสสารระหว่างดาว เพื่อเข้าใจกระบวนการเกิดของโมเลกุลที่มีโครงสร้างซับซ้อนในอวกาศ ที่อาจเป็นหน่วยพื้นฐานของโมเลกุลที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต

   ดร.ชุติพงศ์ บอกว่า ในแต่ละวันจะมีภาพถ่ายจากนอกโลกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในจักรวาลเต็มไปด้วยดาวฤกษ์ ดังนั้น การแปลงค่าออกมาเป็นตัวเลขจึงต้องมีการพัฒนาทักษะอยู่เสมอ ปัจจุบันได้นำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้บริหารจัดการข้อมูลมากมายมหาศาลที่เป็นตัวเลข และรอการประมวลผลออกมาเป็นภาพถ่ายให้ใช้ศึกษาวิเคราะห์กันต่อไป

 

pr20200228 1 07

   อีกหนึ่งหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ในวิชาชีพดาราศาสตร์คือ “วิศวกร” และแน่นอนว่า ดร.พีรพงศ์ ต่อฑีฆะ หรือปุ๊ ก็คือวิศวกรที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบระบบการวัด ควบคุมแบบพลวัต และระบบเชิงเมคาทรอนิกส์ เพื่อประยุกต์ใช้งานด้านเทคโนโลยีอวกาศ ปัจจุบันได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังวัตถุอวกาศกับทีมวิศวกรทั้งในและนอก สดร.  หน้าที่ของวิศวกรดาราศาสตร์คือ รับโจทย์มาจากนักดาราศาสตร์ ออกแบบระบบ และสร้างชิ้นงานให้นักดาราศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัย การศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ถือเป็นโจทย์ยากที่ท้าทายความสามารถของวิศวกร ดังนั้นอาชีพนักดาราศาสตร์ กับวิศวกร แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้เลย

 

pr20200228 1 08

   ด้วยความที่ดาราศาสตร์เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของจักรวาล จำเป็นต้องมีนักวิจัยที่ศึกษาโดยตรง ซึ่ง ดร.อุเทน แสวงวิทย์ ก็เป็นนักวิจัยที่เรากำลังพูดถึง เขาทำงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยาเชิงสังเกตการณ์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง ด้วยการศึกษาโครงสร้างขนาดใหญ่ของจักรวาล รังสีคอสมิกไมโครเวฟพื้นหลัง และดาราศาสตร์พหุพาหะ ผ่านเทคนิคการสร้างแบบจำลอง Simulations และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ  Data Intensive ความละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ผู้ชำนาญการขั้นสูง  

 

มาถึงการทลายความเชื่อที่ว่า นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ดวงดาวในท้องฟ้ายังมีมากมาย แน่นอนว่าดาวจรัสแสงในโลกมนุษย์ก็ไม่ได้มีเพศเดียว

 

pr20200228 1 09

   นักดาราศาสตร์สาวสวยคนแรกคือ ณัฎฐพร ทูลแสงงาม หรือปิ๊ง  เป็นวิศวกรที่ทำงานวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ และ Geodesy ซึ่งเป็นการศึกษาการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกด้วยความละเอียดสูง วิเคราะห์ข้อมูลตำแหน่งที่ได้จากการสังเกตการณ์กล้องโทรทรรศน์วิทยุในเทคนิค Geodetic VLBI เพื่อศึกษาตัวแปรการวางตัวของโลกในอวกาศ และพัฒนาความถูกต้องของตำแหน่งเพื่อใช้ศึกษาการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก

   ณัฎฐพร ถือเป็นนักดาราศาสตร์วิทยุ และ Geodesy ไม่กี่คนในประเทศไทย ทำหน้าที่ศึกษาความลับบนท้องฟ้า นอกเหนือจากที่กล้องโทรทรรศน์จับภาพไปไม่ถึง ปิ๊ง บอกว่า บนท้องฟ้ามีดวงดาวส่องแสงเป็นประกายระยิบระยับนับล้านดวง แต่บนท้องฟ้าก็ยังมีส่วนเป็นสีดำ ความท้าทายที่ชวนให้ศึกษา นั่นจึงเป็นที่มาของการศึกษาคลื่นความถี่ ที่มีพลังมากมายมหาศาล สัญญาณไวไฟ ก็มาจากความสามารถของดาราศาสตร์วิทยุ ที่ผสมผสานกันระหว่างวิศวกรรมสื่อสารกับวิศวกรรมไฟฟ้า 

 

pr20200228 1 10

   การศึกษาด้านดาราศาสตร์วิทยุ ถือเป็นการขยายขอบเขตความสามารถในการสังเกตการณ์ เปรียบเสมือนดวงตาที่สามารถมองเห็นเอกภพในมุมที่ตาของเรามองไม่เห็น  ดังนั้นจานรับสัญญานจึงต้องมีขนาดใหญ่ และเพิ่มประสิทธิภาพการรับสัญญานด้วยการวางเป็นเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วโลก ขณะนี้ สดร. มีนักวิจัยจากญี่ปุ่น คือ ดร.โคอิชิโร่ ซุกิยะมะ เข้ามาร่วมทำงานวิจัยด้านการเกิดดาวมวลมากโดยใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ

 

pr20200228 1 11

   ดร. ผกาแก้ว ฤทธิพฤกษ์ หรือไนซ์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ที่ทำงานวิจัยด้านดาวคู่ และองค์ประกอบทางเคมีของดาวฤกษ์ โดยใช้เทคนิคทางสเปกโตรสโกปี เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในการกำเนิด วิวัฒนาการ รวมไปถึงโครงสร้าง ของดาวฤกษ์ และ ระบบดาวฤกษ์

   ดร. ไนซ์ เล่าถึงการศึกษาทางสเปกตรัมว่า “การศึกษาสเปกตรัมนั้นทำให้เราสามารถศึกษาองค์ประกอบ กายภาพ และเคมีของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลได้ การจะศึกษาสเปกตรัมนั้นจะต้องอาศัยอุปกรณ์พิเศษทางดาราศาสตร์ ที่เรียกว่าสเปกโตรกราฟ”

 

pr20200228 1 12

   การที่นักดาราศาสตร์จะทำการวิจัยเก็บข้อมูลจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์พิเศษเฉพาะทาง จึงจำเป็นจะต้องมีทีมวิศวกรที่ช่วยออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษดังกล่าวตามความต้องการของนักดาราศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือ ดร. ชนิสา กาญจนสกุล หรือนุกนิก วิศวกรหญิง ที่ทำงานการศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบทัศนศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มวิจัยทัศนศาสตร์ ของ สดร.

   เชื่อไหมว่า นักดาราศาสตร์หลายคนเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจเดียวคือ “ภาพยนตร์ดาราศาสตร์” วันนี้ ถ้าลูกหลานของท่านชอบแหงนมองดูท้องฟ้าในทุกค่ำคืน ร้องขอดูหนังเกี่ยวกับจักรวาล ไม่แน่ว่าอีกไม่นาน จะเกิดนักดาราศาสตร์ขึ้นมาประดับวงการอีกคนก็เป็นไปได้

   ใครจะรู้?

   ติดตามข้อมูลข่าวสารของ สดร. ได้ที่ www.facebook.com/NARITpage