นักดาราศาสตร์เผยโครงสร้างภายในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ที่ระดับความลึกมากกว่า 8,500 กิโลเมตร สงบนิ่งต่างจากชั้นบรรยากาศชั้นนอกที่เกิดกระแสลมกรด (Jet Streams) ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะมีของเหลวหนืดในชั้นบรรยากาศ

as20191010 2 01

cr.NASA/JPL-Caltech/SSI/Hampton UniversityI/Hampton University)

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์แก๊ส ที่มีแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นองค์ประกอบหลัก มีแกนกลางเป็นโลหะแข็งล้อมรอบด้วยชั้นหิน ถัดออกมาเป็นชั้นโลหะไฮโดรเจนเหลว ชั้นไฮโดรเจนเหลว และชั้นบรรยากาศตามลำดับ ปกติชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์มีกระแสลมกรด ความเร็วประมาณ 1,650 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่บริเวณเส้นศูนย์สูตร

เมื่อนำข้อมูลสนามโน้มถ่วงจากภารกิจสุดท้ายของยานแคสสินีเมื่อปี พ.ศ. 2560 มาวิเคราะห์ ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่า โครงสร้างภายในของดาวเสาร์มีกระแสลมกรดเกิดขึ้นได้ถึงระดับความลึก 8,500 กิโลเมตรเท่านั้น คิดเป็นระยะทางประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของรัศมีดาวเสาร์  ชวนให้สงสัยว่าเพราะเหตุใดกระแสลมกรดจึงหยุดอยู่ที่ระดับความสูงนั้น

กระทั่งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ศาสตราจารย์นาวิท คอนสแตนทิโน่ (Navid Constantinou) และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University) เผยถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยแบบจำลองของพวกเขา ในวารสาร Physical Review Fluids ว่า ที่ระดับความลึกมากกว่า 8,500 กิโลเมตร มีความดันสูงมากพอที่จะทำให้แก๊สในชั้นบรรยากาศควบแน่นเป็นของเหลวนำไฟฟ้า การเคลื่อนที่ของของเหลวนี้จะเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็ก เมื่อปะทะกับสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์ ทำให้ของเหลวบิดงอและเบนออกจากทิศทางเดิม ส่งผลให้ของเหลวมีความหนืดมากขึ้นจึงไม่เกิดกระแสลมกรดที่ระดับความลึกต่ำกว่านั้น

ขณะนี้ ทีมนักวิจัยวางแผนศึกษาและทดสอบแบบจำลองเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลที่พวกเขาค้นพบ และหวังว่าการค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์แก๊สในระบบสุริยะยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียง : ฟ้าประกาย เจียรคุปต์ 
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร.

อ้างอิง
https://futurism.com/saturn-interior-flow-like-honey
https://www.sciencealert.com/saturn-s-insides-might-flow-like-honey-distorting-its-magnetic-field
https://www.sciencedaily.com/releases/2016/11/161110084055.htm