สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปล่อยยานอวกาศโฮปขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดในญี่ปุ่นได้เป็นผลสำเร็จ

ภายใต้ภารกิจเอมิเรตมิชชั่นทูมาร์ส ความพยายามครั้งแรกของชาติในภูมิภาคตะวันออกกลางที่จะมียานเดินทางระหว่างดาวเคราะห์ และกำลังมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารในอีก 7 เดือนข้างหน้า

as20200720 2 01

จรวด H-IIA (H2A) ของบริษัทอุตสาหกรรมหนักมิตซูบิชิ ที่บรรทุกยานโฮปของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศจากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ [Credit ภาพ : MHI]

 

หลังจากที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเลื่อนการปล่อยจรวดเพื่อส่งยานอวกาศ “โฮป (Hope)” ยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาแล้วสองครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสมของช่วงมรสุมในญี่ปุ่น จนในที่สุด ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 04:58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จรวด H-IIA (H2A) ทะยานออกจากฐานปล่อยในศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ ทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศเป็นไปอย่างราบรื่น ก่อนที่ตัวยานจะแยกตัวออกจากตัวจรวดหลังจากปล่อยจรวดประมาณ 1 ชั่วโมง กางแผงเซลล์สุริยะสำหรับผลิตพลังงานให้กับยาน และเดินทางมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารจนถึงดาวเคราะห์แดงดวงนี้ในอีก 7 เดือนข้างหน้า

ภารกิจยานโฮปของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6,350 ล้านบาท) นอกจากจะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่จะเป็นยานไปถึงดาวอังคารในวาระครบรอบ 50 ปีของการประกาศเอกราชของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางผู้วางแผนโครงการยังคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นอีกหนทางพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากความมั่งคั่งจากการส่งออกน้ำมัน

นอกจากยานโฮปของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว ภายในเดือนนี้ยังมีกำหนดการส่งยานสำรวจดาวอังคารของชาติอื่นตามมา ได้แก่ ยานเทียนเวิ่น 1 ของจีน มีกำหนดปล่อยจรวดในวันที่ 23 กรกฎาคม และรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ของสหรัฐฯ มีกำหนดปล่อยจรวดในวันที่ 30 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

 

อ้างอิง : https://www.space.com/hope-mars-mission-uae-launch.html

 

เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.