อีกหนึ่งค่าตั้งต้นที่มีผลต่อการสังเกตการณ์เป็นของกล้องโทรทรรศน์วิทยุเป็นอย่างมาก ก็คือตำแหน่งอ้างอิงกล้องโทรทรรศน์วิทยุ หรือ IRP (Invariant Reference Point) ที่จำเป็นต้องมีความถูกต้องบนกรอบอ้างอิงดาราศาสตร์ เพื่อให้กล้องฯ สามารถติดตามแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุในอวกาศ และสามารถร่วมสังเกตการณ์ในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุสากล รวมถึงในเครือข่าย VLBI (Very Long Baseline Interferometry) ได้ โดยตำแหน่ง IRP จะได้มาด้วยการถ่ายพิกัดจาก สถานีฐานรับสัญญาณดาวเทียม GNSS หรือที่นิยมเรียกกันว่า สถานี GNSS นั่นเอง

23สถานีGNSS fig1 IRP
ภาพที่ 1 การรังวัดเพื่อหา IRP จากจุดที่ทราบค่าพิกัด
(ที่มา: YEBES observatory - technical report IT-CDT 2011-9)

        ยิ่งไปกว่านั้น สถานีฯ ดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในข้อกำหนดที่จำเป็นต้องมี สำหรับการสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส (VGOS: VLBI Geodetic Observing System) เนื่องจากระบบวีกอสถูกออกแบบมาให้ใช้หาตำแหน่งบนกรอบพื้นฐานอ้างอิงตำแหน่งสากลของโลก (International Terrestrial Reference Frame, ITRF) โดยเฉพาะ รวมถึงใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยียีออเดซี (Local Tie) จึงต้องมีสถานี GNSS อยู่ในพื้นที่ เพื่อทำการสังเกตการณ์ควบคู่กันไปด้วย

        เทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สถานี​ GNSS มีระบบเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมที่มีประสิทธภาพสูง สามารถสังเกตการณ์ได้ตลอดเวลา ประมวลสัญญาณ บันทึกค่าพิกัดได้อย่างต่อเนื่องได้ เรียกการทำงานในลักษณะนี้ว่า Continuous Operating Reference Station (CORS) ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังพัฒนาเครือข่ายสถานี GNSS CORS เพื่อใช้เครือข่ายอ้างอิงตำแหน่งทั้งทางราบและทางดิ่ง ที่สามารถใช้ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในแต่ละบริเวณ มีความแม่นยำสูง และเป็นค่าพิกัดที่อยู่บนกรอบพื้นฐานอ้างอิงตำแหน่งสากล ถือเป็นการพัฒนาระบบพิกัดของประเทศไทย เทคโนโลยีที่สามารถนำข้อมูลตำแหน่งไปประยุกต์ใช้ หรือมีพื้นฐานการทำงานด้วยค่าพิกัด ดังเช่น การนำทางด้วยแผนที่ดิจิตอล อากาศยานไร้คนขับ รวมถึงการเกษตรอัจฉริยะ ฯลฯ ก็จะเกิดการพัฒนาต่อไปได้อีกด้วย สดร. คาดหวังว่า สถานี GNSS ในโครงการแรงดี จะได้ร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่าย GNSS CORS ของชาติด้วยเช่นกัน

23สถานีGNSS fig2a  23สถานีGNSS fig2b  23สถานีGNSS fig2c


ภาพที่ 2 สถานี GNSS ที่ทำงานควบคู่กับกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ณ ที่ต่าง ๆ ในโลก